องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เบญจมาศ

ชื่อสามัญ  Chrysanthemum

ชื่อวิทยาศาสตร์  Dendranthemum grandifflora

เบญจมาศ เป็นไม้ดอกเมืองหนาวที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีหลากหลายลักษณะ มีสีสันสวยงาม ทนต่อการขนส่ง มีอายุการใช้งานยาวนาน และสามารถนำไปใช้ได้กับทุกเทศกาล จึงเป็นดอกไม้ที่มีราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ในปัจจุบันการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ

การส่งเสริมการปลูกเบญจมาศสู่เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง มีการวางแผนการปลูกเฉพาะสายพันธุ์ที่ที่ต้องการของตลาด และมีการพัฒนาเทคนิควิธีในการปลูกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเน้นการควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐานดอยคำ สร้างรายได้แก่เกษตรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างรายได้กว่าครึ่งของรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไม้ดอกทั้งหมดของมูลนิธิโครงการหลวง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

การปลูกเบญจมาศให้มีคุณภาพดีควรปลูกในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม หากปลูกในพื้นที่ราบ ฤดูกาลที่สามารถให้ผลผลิตมีคุณภาพดี คือ ช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์ หากต้องการปลูกนอกฤดูกาลเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพดีนั้นควรปลูกบนพื้นที่สูง เนื่องจากมีสภาพอากาศเหมาะสมซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

แหล่งผลิตที่สำคัญในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่

จ. เชียงใหม่

อำเภอจอมทอง : สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์

อำเภอแม่วาง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง

อำเภอเชียงดาว : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก

จ. เชียงราย

อำเภอเชียงแสน : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ

ฤดูการในการปลูก

การปลูกในฤดูกาล ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน

การปลูกนอกฤดูกาล ตั้งแต่เดือนธันวาคม – มิถุนายน

การตลาด

เบญจมาศเป็นไม้ตัดดอกที่ได้รับความนิยมและมีปริมาณการซื้อขายมาก ตั้งแต่ปัจจุบันการผลิตเพื่อการค้าในประเทศยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเบญจมาศชนิดที่ได้รับความนิยมในประเทศ คือ เบญจมาศชนิดดอกช่อ เนื่องจากสามารถดูแลรักษาง่ายกว่าเบญจมาศชนิดดอกเดี่ยว และสามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ประเภทของเบญจมาศที่เป็นที่ต้องการของตลาด และได้รับการส่งเสริมให้ผลิตในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงสามารถจำแนกตามรูปทรงของเบญจมาศได้ ดังนี้

เบญจมาศชนิดดอกเดี่ยว (Standardn Type)

ลักษณะของดอกมีความแตกต่างกัน ซึ่งโดยปกติแล้วตลาดต้องการดอกที่มีขนาดใหญ่ สายพันธุ์ที่ฝ่ายงานไม้ดอกนำไปส่งเสริมแก่เกษตร สามารถจำแนกได้ ดังนี้

ชื่อสายพันธุ์  สี  สัดส่วนความต้องการ

- Shamrock  เขียว   30 %

- Snowdon White ขาว   10 %

- Snowdon Yellow เหลือง   10 %

- Robonet  ขาว   10 %

- Residence  เหลือง   10 %

- Rosomee White ขาว   10 %

- Resomee Yellow เหลือง   10 %

- Resomee Dark ม่วง   10 %

เบญจมาศชนิดดอกช่อ (Spray Type)

ลักษณะของดอกใน 1 ช่อ จะมีจำนวน 8-10 ดอก ลักษณะที่เป็นที่ต้องการของตลาดคือ ลักษณะกลีบดอก 1-2 ชั้น หรือแบบเดซี่

สายพันธุ์ที่ฝ่ายงานไม้ดอกนำไปส่งเสริมแก่เกษตร สามารถจำแนกได้ ดังนี้

ชื่อสายพันธุ์  สี  สัดส่วนความต้องการ

- Reagan White ขาว   25 %

- Reagan Sunny เหลือง   25 %

- Reagan Dark  ม่วง   15 %

- Reagan Improved ชมพู   15 %

- Storika  แดง   10 %

- Toledo  ส้ม   10 %

เบญจมาศชนิดกระถาง (Potted Chrysanthemum) 

เบญจมาศชนิดนี้จะมีทรงพุ่มกะทัดรัด แตกกิ่งก้านได้มาก ดอกดก สายพันธุ์ที่ฝ่ายงานไม้ดอก นำไปส่งเสริมแก่เกษตร สามารถจำแนกได้ ดังนี้

ชื่อสายพันธุ์

- Miramar

- Lompoc

- Baton Rouge

- Santa Birgitta

- Flint

- Springfield

- Warren

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์

การส่งเสริมการปลูกเบญจมาศของฝ่ายงานไม้ดอก จะใช้วิธีการขยายพันธุ์แบบปักชำ ต้นพันธุ์ที่ดีนั้นต้องผลิตมาจากแปลงแม่พันธุ์เท่านั้น และต้นพันธุ์ควรจะมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำไปขยายพันธุ์ในโรงเรือนที่มีระบบมาตรฐาน ปัจจุบันการผลิตต้นพันธุ์เบญจมาศเพื่อการปลูกแบบตัดดอกเชิงการค้าของฝ่ายงานไม้ดอก ที่ได้มาตรฐานใน 1 ปี จะสามารถผลิตได้จำนวนถึง 2 ล้านต้น ซึ่งได้ดำเนินการผลิต ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อ.เชียงดาว จ .เชียงใหม่

ขั้นตอนการผลิตกิ่งพันธุ์เบญจมาศในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง มีดังนี้

1. นำแม่พันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปปักชำในภาชนะ หรือกะบะเพาะ วัสดุเพาะประกอบด้วยทรายหยาบที่ร่อนแล้ว และขี้เถ้าแกลบที่ผ่านการล้างเพื่อลดความเป็นด่าง โดยผสมในอัตราส่วน 1:2 และควรให้ปุ๋ยทางใบเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ควรจัดให้ต้นกล้าอยู่ในสภาพของโรงพ่นหมอกโดยควบคุมความชื้นให้เหมาะสม เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 เดือน สามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ การเด็ดยอดเพื่อนำไปปักชำ เมื่อรากงอกแล้วจึงนำไปปลูกเป็นแม่พันธุ์อีกครั้งจะได้ต้นแม่พันธุ์ที่แข็งแรง และอีกวิธีการหนึ่งคือ สามารถนำต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปปลูกเป็นแม่พันธุ์ได้เลย

2. เตรียมแปลงปลูกแม่พันธุ์ ขนาด 1-1.0 เมตร โดยใช้ระยะปลูก 15 เซนติเมตร หรือ 20 เซนติเมตร ซึ่งแปลงปลูกที่ดีควรมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสมและอยู่ภายใต้โรงเรือนที่สามารถควบคุมแสงสว่างให้ต้นแม่พันธุ์เบญจมาศอยู่ในสภาพวันยาว โดยจะให้แสงตั้งแต่วันแรกจนสิ้นสุดการผลิต โดยให้แสงเพิ่มในช่วงกลางคืนวันละ 4 ชั่วโมง ระดับความเข้มแสงไม่ต่ำกว่า 100 ลักซ์

3. การผลิตแม่พันธุ์ดอกเบญจมาศมีขั้นตอน ดังนี้

3.1 ชำแม่พันธุ์เป็นเวลา 15 วัน

3.2 นำไปปลูกจนมีอายุ 10 วัน จึงทำการเด็ดยอด

3.3 แต่งหน่อใหม่ไว้ 3 หน่อ ต่อต้น

3.4 หลังจากเด็ดยอดได้ประมาณ 25-35 วัน สามารถตัดยอดรุ่นที่ 1 โดยเผื่อใบไว้ 2 คู่ใบ และยอดที่ตัดออกมีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร

3.5 หน่อที่ตัดออกมาจุ่มฮอร์โมนแล้ว หากยังไม่ต้องการนำไปปักชำทันทีให้เก็บในห้องเย็น (อุณหภูมิประมาณ 0-3 องศาเซลเซียส) ก่อนนำไปชำและสามารถเก็บหน่อไว้ได้ 15-20 วัน

3.6 หน่อใหม่ที่แตกออกมาแต่งให้เหลือ 1 หน่อ ต่อ 1 กิ่ง (1ต้นมี 3 กิ่ง)

3.7 หลังจากตัดยอดครั้งแรกอีกประมาณ 15 วัน สามารถตัดหน่อรุ่นที่ 2 ได้ โดยเหลือใบไว้ 1 คู่ใบ และให้ดำเนินการเหมือนข้อ 3.5

3.8 โดยแม่พันธุ์ 1 ต้น สามารถดำเนินการตัดหน่อได้ถึง 3-4 ครั้ง หากได้รับการดูแลอย่างดี

4. การเด็ดกิ่งพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ ควรเด็ดให้กิ่งมีความยาว 5 เซนติเมตร และวิธีการปฏิบัติหลังจากเด็ดกิ่งพันธุ์สามารถทำได้ 2 วิธี คือ เมื่อเด็ดยอดจากต้นแม่พันธุ์แล้วนำไปปลูกทันที หรือนำไปเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งก่อนเก็บรักษาควรชุบฮอร์โมนเร่งรากจากนั้นบรรจุในถุงพลาสติกที่เจาะรูระบายอากาศไว้ และพับปากถุงก่อนบรรจุในภาชนะที่เหมาะสมซึ่งวิธีการนี้สามารถเก็บรักษาไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน

5. การนำกิ่งพันธุ์ไปปักชำ สำหรับกิ่งพันธุ์ที่มีการควบคุมการผลิตที่ดีนั้นเมื่อนำไปปักชำจะมีความสมบูรณ์ และสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วโดยในฤดูร้อนและฤดูฝน จะใช้เวลาประมาณ 15 วัน ส่วนฤดูหนาวจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สิ่งสำคัญ คือ ควรทำการปักชำในโรงเรือนพ่นหมอกที่มีการควบคุมความชื้นซึ่งอาจเป็นระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ

การอนุบาล

หากจะดำเนินปลูกเบญจมาศเพื่อการค้าแล้ว การจัดการด้านต้นกล้าพันธุ์เบญจมาศ ควรมีห้องเย็นเพื่อเก็บรักษากิ่งพันธุ์เบญจมาศที่มาจากการเด็ดยอด เพื่อเก็บรักษาให้มีคุณภาพดีอยู่เสมอ โดยระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 0-3 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บรักษาไว้ได้ไม่เกิน 30 วัน สำหรับต้นพันธุ์เบญจมาศที่ปักชำและมีรากงอกแล้ว สามารถเก็บรักษาเพื่อรอการปลูก โดยการเก็บในถุงพลาสติกและบรรจุลงในลังให้มิดชิด และไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป

ช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการขยายพันธุ์

สำหรับการขยายพันธุ์ต้นกล้าเบญจมาศของฝ่ายงานไม้ดอกที่มีประสิทธิภาพนั้น เนื่องจากมีการจัดการที่ถูกต้อง โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินการปลูกในโรงเรือน ต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรคและแมลง และเทคโนโลยีการปลูกสมัยใหม่ เช่น การให้ปุ๋ย และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการให้แสง (วันยาว) ที่เพียงพอ ระยะเวลาในการขยายพันธุ์ในลักษณะการทำแม่พันธุ์นั้น ควรมีการเด็ดยอดพันธุ์เพื่อนำไปชำ หรือเก็บไว้ในห้องเย็น โดยเด็ดยอดไม่ควรเกิน 4-5 คั้งต่อแม่พันธุ์ 1 รุ่น

การปลูกและการเตรียมการ

การเตรียมแปลงปลูก

หากเป็นการปลูกในโรงเรือนขนาด 6-24 เมตร นั้น สามารถเตรียมแปลงปลูกให้มีแต่ละแปลงมีขนาด 1.10-24 เมตร โดยจะได้แปลงปลูกทั้งหมด 4 แปลง จากนั้นให้เตรียมตาข่ายค้ำยันที่มีช่องขนาด 5 นิ้ว จำนวนช่องตามขวาง 9 ช่อง ซึ่งเป็นขนาดที่เท่ากับระยะปลูกมาวางทาบบนแปลงแล้วจึงปลูกต้นกล้าลงในช่องตาข่าย

การเตรียมดิน

ควรไถพรวนหน้าดินให้มีความลึกไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร พร้อมผสมวัสดุปรุงดินในขั้นตอนเดียวกัน สำหรับโรงเรือนที่มีพื้นที่ปลูกขนาด 6-24 เมตร   มีสูตรการผสมวัสดุปรุงดินตามสัดส่วน ดังต่อไปนี้

แกลบ     20 กระสอบ

ขี้วัว     20 กระสอบ

ปุ๋ยสูตร 0-46-0 (ทริบเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต) 10 กระสอบ

โดโลไมท์    10 กระสอบ

เทคนิคและวิธีการปลูก

ลักษณะหนึ่งของเบญจมาศที่มีคุณภาพควรมีลำต้นตรง ดังนั้นในการปลูกควรมีการเตรียมเหล็ก หรือไม้สำหรับเป็นโครงในการขึงตาข่ายค้ำยันต้นเบญจมาศตั้งแต่เริ่มต้นการปลูก โดยวางตาข่ายลงบนแปลงแล้วทำการปลูกตามช่องตาข่ายที่ทาบไว้ และขยับขึ้นตามความสูงของต้นเพื่อประคองต้น หากใช้ตาข่ายชั้นเดียวควรเสริมลวดกันสนิมเบอร์ 14 ด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ขนาดของตาข่ายกว้าง 1.10 เมตร ขนาดช่อง 5 นิ้ว จำนวน 9 ช่อง

การปลูกสามารถปฏิบัติได้ 2 รูปแบบ คือ แบบเด็ดยอด โดยใช้เวลา 4 เดือน ในการปลูกจนถึงเด็ดยอด และการปลูกแบบไม่เด็ดยอด ซึ่งใช้เวลาในการปลูก 3 เดือน วิธีการนี้จะใช้จำนวนต้นพันธุ์มากกว่าแบบเด็ดยอดในพื้นที่เท่ากันเกือบเท่าตัว ในการปลูกควรเลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดและความสมบูรณ์ใกล้เคียงกันปลูกลงแปลงเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษาและสามารถตัดดอกได้พร้อมกัน และควรปลูกต้นพันธุ์เบญมาศทันทีหลังจากได้รับ ไม่ควรปล่อยให้รากของต้นพันธุ์แห้งเนื่องจากทำให้ตั้งตัวช้า โดยการปลูกจะปลูกลงในช่องว่างของตาข่ายที่ทาบไว้บนแปลง ความลึกที่เหมาะสมในการปลูก คือ ประมาณ 2 เซนติเมตร หากปลูกลึกเกินไปจะทำให้การเจริญของรากไม่ดีเนื่องจากขาดอากาศ การให้วันยาวตั้งแต่เริ่มปลูกถึง 45 วัน โดยการให้แสงในช่วงกลางคืนวันละ 4 ชั่วโมง ระดับความเข้มของแสงไม่ควรต่ำกว่า 80 ลักซ์ เพื่อเป็นการกระตุ้นการเจริญเติบโตส่วนของลำต้น โดยอาจใช้หลอด Fluorescence หรือหลอด High Pressure Sodium การให้วันสั้นหลังที่หยุดให้วันยาว ความสูงของต้นประมาณ 25-30 โดยใช้พลาสติกดำคลุมแปลงปลูกแต่ละแปลง โดยวางบนโครงเหล็กดัดหรือไม้ไผ่ที่ดัดโค้งเป็นรูปตัว C ในช่วงเวลาตั้งแต่ 16.00 น. โดยจะทำการเปิดพลาสติกในช่วงเช้าของอีกวัน เวลา 07.00 - 08.00 น. ซึ่งจะใช้เวลาคลุมแปลงปลูกประมาณ 30 – 45 วัน

การปลูกและการดูแลรักษา

การจัดการด้านความเข้มแสง

เนื่องจากมีการพัฒนาในการให้แสงสว่างแก่เบญจมาศสำหรับการผลิตเพื่อการค้า โดยสามารถเลือกใช้หลอดไฟฟ้า 2 แบบ คือ หลอด Fluorescence หรือหลอด High Pressure Sodium เนื่องจากสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 5 – 7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดกลม (Incandescent) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจและให้ความสำคัญ ในการใช้แสงสำหรับการปลูกแม่พันธุ์เบญจมาศ ระดับความเข้มแสงต้องไม่ต่ำกว่า 100 ลักซ์ การให้แสงกับเบญจมาศสามารถจัดตารางการปลูกตามที่ต้องการ แต่ควรคำนึงถึงปริมาณกระแสไฟฟ้ากับพื้นที่การปลูกว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งความเข้มแสงจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการผลิตเบญจมาศแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต หากไม่มีความเข้าใจและมีความประมาท

การจัดการด้านอุณหภูมิ

อุณหภูมิมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตเบญจมาศ ตั้งแต่การเก็บยอดพันธุ์ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 0 – 2 องศาเซลเซียส และเก็บดอกไม้ที่อุณหภูมิ 2 – 4 องศาเซลเซียส และในขั้นตอนของการตัดดอกควรเลือกตัดดอกในช่วงเช้าหรือเย็น ซึ่งเมื่อตัดดอกแล้วควรแช่ลงในถังบรรจุน้ำทันทีก่อนที่จะนำไปโรงคัดบรรจุหรือเข้าห้องเย็น

การให้ปุ๋ย

การปลูกเบญจมาศหากเป็นการปลูกภายใต้โรงเรือน ควรมีการให้ปุ๋ยน้ำ หลีกเลี่ยงการให้ปุ๋ยเม็ดเนื่องจากจะทำให้ดินเสื่อมสภาพ แต่หากเป็นการปลูกกลางแจ้งสามารถให้ปุ๋ยเม็ดได้ตามความเหมาะสมเพราะดินจะถูกชะล้างจากฝน และการให้น้ำตามร่องแปลง สำหรับการให้ปุ๋ยน้ำแก่ต้นเบญจมาศภายใต้โรงเรือนขนาด 6-24 เมตร ตามสูตรดังต่อไปนี้ให้ผสมกับน้ำจำนวน 200 ลิตร ซึ่งอาจเป็นการให้ปุ๋ยหรือฮอร์โมนทางใบหรือราดลงแปลงปลูก แล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้น

สูตรแม่ปุ๋ยเบญจมาศ

  ชื่อปุ๋ย                 สูตร            A              B

โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต     11-60-0       10 กิโลกรัม            -

โปรแตสเซียมไนเตรท        13-0-46       15 กิโลกรัม          10 กิโลกรัม

ยูเรีย                 46-0-0          -              25 กิโลกรัม

แมกนีเซียมซัลเฟต        MgSo47H2O      4 กิโลกรัม             -

แคลเซียมไนเตรท          15-0-0          -               5 กิโลกรัม

ยูนิเลท                  -          500 กรัม             -

สำหรับอัตราส่วนการให้ปุ๋ยน้ำ จะให้กับเบญจมาศที่ลำต้นตั้งต้นได้ไปจนถึงเริ่มแย้มสี สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เป็นต้น

การให้ปุ๋ยและฮอร์โมนเสริมทางใบ

- ปุ๋ยปลาทางใบ 200 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ทุกๆ 10 วัน เป็นเวลา 4 ครั้ง

การให้ปุ๋ยและฮอร์โมนทางดิน

- ฮิวมิก   500 ซีซี

- ปุ๋ยปลา  500 ซีซี

- ปุ๋ยสูตร 15-15-15 1 กิโลกรัม

- ปุ๋ยสูตร 15-0-0  0.5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ราดลงดินทุก 10 วัน จนเบญจมาศมีอายุได้ 40 วัน

โรคและแมลง

เนื่องจากโรคและแมลงสามารถระบาดได้ตลอดช่วงเวลาการปลูก เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นต้องป้องกันก่อนโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน โรคและแมลงและสารเคมีที่ใช้ในการจัดการเมื่อเกิดการระบาด ได้แก่

โรคราสนิม

จะมีการระบาดมากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว และจะระบาดอย่างรุนแรงหากเบญจมาศอยู่ในสภาวะอากาศร้อนชื้น ใบเปียก โดยเฉพาะในช่วงวันสั้นที่ใช้พลาสติกดำคลุมแปลงปลูกจึงควรให้น้ำในช่วงเช้า และมีการควบคุมการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องซึ่งได้แก่ อะซ็อกซีสโตรบิน เฮกซาโคนาโซล แมนโคเซบ ซัลเฟอร์ เป็นต้น

โรคเน่าคอดิน

สารเคมีที่ใช้ในการแก้ไข คือ เทอราคลอซุปเอกซ์, ฮิวมิก, เชื้อราไตรโคเดอร์มา

โรคใบแห้ง

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia chrysanthemi การป้องกันและแก้ไข คือ ไม่ควรปลูกต้นเบญจมาศชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท มีผลให้ความชื้นระหว่างโคนต้นสูง เหมาะแก่การแพร่ระบาดของโรคยิ่งขึ้น และควรพ่นสารเคมี ป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แคบแทน มาเนบ หรือไซเนบ ให้ทั่วโดยเฉพาะบริเวณโคนต้น

หนอนชอนใบ

ลักษณะการทำลายคือ จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ โดยจะสังเกตเห็นเป็นทางเดินของหนอนภายในใบ ซึ่งหากถูกทำลายมากแล้วจะไม่สามารถกำจัดได้ ดังนั้นจึงควรมีการป้องกัน สารเคมีที่ใช้ได้แก่ อะบาเม็คติน สารน้ำมัน คาร์แทบโอโครดลอโรว อะเซทามิพริด หรือใช้พลาสติกทากาวดักแมลงปักไว้ในแปลงในระดับยอดของต้นเบญจมาศก่อนพ่นสารเคมีทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณแมลงวันหนอนชอนใบ และควรพ่นสารเคมีในช่วงเช้ามืดหรือตอนเย็น

แมลง ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง ควรมีการใช้สารเคมีที่เหมาะสม ซึ่งมีทั้งชนิดทำลายไข่และฆ่าตัวเดินเชื้อ ได้แก่ ไซเปอร์เมทริน ไตรอะโซพอส โพรโทโอพอส

หนอนกระทู้ เป็นหนอนที่มีขนาดใหญ่และแพร่ระบาดได้รวดเร็วตลอดทั้งปีถ้าเกิดการระบาดจะทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ อะบาเม็คติน เดลทาเมทริน ไซเปอร์-เมทริน ไตรอะโซพอล

การให้น้ำ

สามารถดำเนินการได้หลายวิธี เช่น การให้โดยใช้ฝักบัว ให้ตามร่องแปลง ใช้ระบบน้ำหยด และถ้าเป็นการปลูกในระบบโรงเรือนแล้วไม่ควรใช้วิธีการให้ตามร่องแปลง และไม่ควรให้น้ำในช่วงบ่ายหรือค่ำ หลีกเลี่ยงไม่ให้ใบเปียกน้ำข้ามคืน ดินไม่ควรชื้นจนแฉะเกินไป

การเก็บเกี่ยว

ระยะการเก็บเกี่ยว

สำหรับการใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมนั้น ใน 1 โรงเรือน ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์ โดยทยอยตัดและนำส่งตลาดภายใน 1-2 วัน

วิธีการเก็บเกี่ยว

เบญจมาศชนิดดอกเดี่ยว ควรเก็บเกี่ยวเมื่อดอกบานได้ 50-70 เปอร์เซ็นต์ เข้ากำโดยใน 1 กำ มีจำนวน 10 ดอก

เบญจมาศชนิดดอกช่อ ควรเก็บเกี่ยวเมื่อดอกใน 1 ช่อ บาน 3 เข้ากำโดยใน 1 กำ มีจำนวนก้านช่อดอก 18 ก้าน

ความยาวของก้านดอกทั้งชนิดดอกเดี่ยว และดอกช่อตามเกรด 1, 2, 3 คือ 70, 60 และ 50 เซนติเมตร ตามลำดับ ลักษณะก้านดอกตั้งตรงไม่โค้งงอ

สภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว

ช่วงระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ควรคำนึงถึงเรื่องการจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวจากแปลงจนถึงคัดบรรจุ ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ ความเพียงพอของจำนวนแรงงาน ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ ช่วงเช้าที่แดดไม่ร้อนจัดและป้องกันไม่ให้เปียกน้ำ ขนาดของโรงคัดบรรจุที่ควรมีความเหมาะสมกับปริมาณผลผลิต สามารถควบคุมสภาพอากาศ อุณหภูมิ เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น จึงควรดำเนินการให้แล้วเสร็จในแต่ละช่วงของการเก็บเกี่ยวภายในหนึ่งวัน

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

การแช่น้ำเย็น

เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานและการเก็บรักษาดอกให้คงทนยิ่งขึ้น จะแช่ช่อดอกในน้ำยาแช่ดอก ตามสูตรดังต่อไปนี้

- ซิลเวอร์ไนเตรทเข้มข้น  25 มิลลิกรัม/ลิตร

- น้ำตาลซูโครส   2-3 เปอร์เซ็นต์

- กรดซิตริค   75 มิลลิกรัม/ลิตร

โดยแช่ช่อดอกเบญจมาศในอุณหภูมิประมาณ 20-22 องศาเซลเซียส ระดับความเข้มแสง 1,000-1,500 ลักซ์ นาน 16 ชั่วโมง

วิธีการแช่น้ำยา น้ำยาที่ใส่ไปในถังแช่ควรให้ท่วมก้านดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตร

การเก็บรักษา

หากเบญจมาศเพื่อการค้าในปริมาณมากแล้ว ควรมีห้องเย็นปรับอากาศ เพื่อการเก็บรักษากิ่งพันธุ์และดอกไม้ที่ตัดเพื่อรอจำหน่าย ระดับอุณหภูมิประมาณ 0-4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าไม่มีห้องเย็นหรือห้องปรับอากาศเพื่อรองรับเบญจมาศที่ตัดจากแปลงปลูก ควรเก็บเบญจมาศไว้ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทสะดวก และง่ายต่อการขนส่ง

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.