องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กุหลาบ

ชื่อสามัญ Rose

ชื่อวิทยาศาสตร์   Rosa hybrids

 

กุหลาบเป็นตัดดอกที่มีการปลูกเป็นการค้ากันแพร่หลายทั่วโลกมานานแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี บริเวณที่มีการขยายตัวของพื้นที่มากที่สุดอยู่ในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เนื่องจากบริเวณนี้มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม พื้นที่ไม่สูงชัน และค่าจ้างแรงงานต่ำ การผลิตกุหลาบในประเทศไทยอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การผลิตกุหลาบในเชิงปริมาณและการผลิตกุหลาบในเชิงคุณภาพ การผลิตกุหลาบในเชิงปริมาณ หมายถึงการปลูกกุหลาบในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือปลูกในพื้นี่ราบซึ่งจะให้ผลผลิตที่มีปริมาณมาก แต่ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เช่น ดอกและก้านมีขนาดเล็ก มีตำหนิจากโรคและแมลง หรือการขนส่ง อายุการปักแจกันสั้น ทำให้จำหน่ายได้ราคาต่ำ ส่วนการผลิตกุหลาบในเชิงคุณภาพนิยมปลูกในเขตภาคเหนือ และบนพื้นที่สูง โดยการปลูกกุหลาบภายใต้โรงเรือนพลาสติก ในพื้นที่จำกัด มีการจัดการการผลิตและการปฎิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ดี ใช้แรงงานที่ชำนาญ ทำให้กุหลาบที่ได้มีคุณภาพดี ปักแจกันได้นานและสามารถจำหน่ายได้ราคาดี ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตกุหลาบคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง หากแต่จะต้องผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม คือพื้นที่สูงมากกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หากปลูกในที่ราบจะได้คุณภาพดีในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ดังนั้นการผลิตกุหลาบมีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่การผลิตบนพื้นที่สูงมากขึ้น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

พื้นที่ปลูก ควรปลูกในที่ที่ระบายน้ำได้ดี ดินมีความเป็นกรดเล็กน้อย ค่า pH ประมาณ 6 – 6.5 และได้รับแสงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญของกุหลาบคือ กลางคืน 15 – 18 องศาเซลเซียส และกลางวัน 20 – 25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่จะทำให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดีและให้ผลผลิตสูง หากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตและการออกดอกจะช้าอย่างมาก หากอุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส ควรให้มีความชื้นในอากาศสูงเพื่อชะลอการคายน้ำ 

ความชื้น ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับการเจริญของกุหลาบคือร้อยละ 70 – 80

แสง กุหลาบจะให้ผลผลิตสูง และดอกมีคุณภาพดี ถ้าความเข้มของแสงมาก และช่วงกลางวันยาว

การตลาด

ตลาดของกุหลาบคุณภาพปานกลางถึงต่ำ (ตลาดล่าง) ในปัจจุบันถึงขั้นอิ่มตัว เกษตรกรขายได้ราคาต่ำมาก โดยมีราคาเฉลี่ยดอกละ 1 – 2 บาท และเมื่อผลผลิตล้นตลาด ราคาจะเหลือเพียงดอกละ 0.50 – 0.75 บาทเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรจะไม่มีอำนาจในการต่อรองราคาได้เลย ดังนั้นการผลิตชนิดนี้ต้องอาศัยการผลิตในปริมาณมากเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ ส่วนตลาดของกุหลาบที่มีคุณภาพสูง (ตลาดบน) ผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ และขาดความต่อเนื่องทำให้ยังต้องนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และจีน เป็นต้น

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์ กุหลาบสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตัดชำ การตอน การติดตา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นกุหลาบที่มีระบบรากที่แข็งแรงและให้ผลผลิตสูง เกษตรกรมักนิยมติดตากุหลาบพันธุ์ดีบนดอกกุหลาบป่า

วิธีที่นิยมขยายพันธุ์กุหลาบตัดดอกมีดังนี้

การตัดชำ ข้อดีของการตัดชำคือทำได้ง่ายและเร็ว แต่มีข้อเสียคือการออกรากจะออกได้ดีเฉพาะบางพันธุ์เท่านั้น และเมื่อนำไปปลูกตัดดอกต้นจะโทรมเร็วภายใน 2 – 3 ปี การตัดชำทำได้ 2 แบบ คือ

การตัดชำกิ่งอ่อน กิ่งชำที่ใช้อายุไม่ควรเกิน 45 วัน นิยมกิ่งที่มีดอกกำลังจะบานภายใน 7 วัน จนถึงเมื่อดอกบานแล้ว ไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยตัดกิ่งยาว 12 – 15 เซนติเมตร ให้มีใบติดมาด้วย กรีดโคนเป็นทางยาว 1 – 1.5 เซนติเมตร 2 รอย นำไปจุ่มฮอร์โมนเร่งราก เช่น เซอราติก เบอร์ 2 ผึ่งให้แห้งในร่ม นำไปปักชำในกระบะชำที่มีวัสดุชำคือถ่านแกลบ หรือถ่านแกลบผสมทราย รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 12 – 15 วัน กิ่งปักชำก็จะออกราก

การตัดชำกิ่งแก่ ควรทำในช่วงฤดูแล้ง เพราะเป็นระยะที่กิ่งแก่จัด มีอาหารสะสมมาก เพราะจะช่วยให้ออกรากง่ายขึ้น นำมาชำในถุง หรือปักชำในแปลงโดยตรงก็ได้

การติดตา เป็นวิธีที่นิยมทำกันมาก เพราะขยายพันธุ์ได้เร็วและสามารถคัดเลือกต้นตอที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละท้องถิ่น ต้นกุหลาบติดตาจะมีระบบรากแข็งแรง มีอายถให้ผลผลิตนานและให้ผผลิตสูงกว่าการปลูกกุหลาบจากการตัดชำ การติดตานั้นควรเลือกต้นตอให้เหมาะสมกับสภาพภูมิกาศ

การเตรียมพื้นที่และการปลูก

การเตรียมแปลง

1. เตรียมแปลงโดยปรับหน้าดินให้เรียบ มีความลาดเท 2-4 เปอร์เซ็นต์ เพื่อการระบายน้ำ 

2. ไถลึก 50 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้การระบายน้ำดี

3. ปรับ pH 5.5-6.5

4. ปรับสภาพทางฟิสิกส์ดิน ให้ดินร่วนโปร่ง โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และแกลบดินในอัตราส่วน 3:2:1 ในระดับความลึก 40 เซนติเมตร

5. เพิ่มธาตุอาหารในดิน (ฟอสฟอรัส แคลเซียม กำมะถัน)

6. ผสมให้เข้ากันในระดับความลึก 40 เซนติเมตร จากผิวดิน

7. ยกแปลงกว้าง 90 เซนติเมตร ทางเดิน 60 เซนติเมตร ในพื้นที่ทีมีการระบายน้ำดี สามารถปลูกโดยไม่ต้องยกแปลงปลูกได้ แต่หากพื้นที่ไม่ดีจำเป็นต้องยกแปลงให้สูง เพื่อให้มีการระบายน้ำและอากาศได้ดี

8. ปลูก 2 แถว จำนวน 5-6 ต้น/ตารางเมตร ระยะระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ระยะแถว 40 เซนติเมตร

การปลูกกลางแจ้ง

โดยมากเกษตรกรจะยกแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร ทางเดิน 50 เซนติเมตร ระยะปลูก 60?60 เซนติเมตร ซึ่งจะต้องใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 3,200 ต้น/ไร่

การปลูกในโรงเรือน

การผลิตกุหลาบให้ได้คุณภาพดี จำเป็นต้องปลูกในโรงเรือน ซึ่งมีส่วนของหลังคาเป็นพลาสติกหรือกระจก โรงเรือนในเขตร้อนช่วยป้องกันน้ำฝนไม่ให้สัมผัสกุหลายโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดความช้ำของดอก และใบควบคุมการเกิดโรค เพิ่มประสิทธิภาพการให้ปุ๋ย และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกุหลาบ

การดูแลรักษา

การตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบปฏิบัติได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะใช้หลักทีคล้ายกัน คือ ตัดแต่งเพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์การตัดดอก เพื่อให้กิ่งกระโดงมากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุดให้ใยสร้างอาหาร ส่งผลให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่งและไม่สูงมากเกินไปเพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย

การตัดแต่งแบบพับกิ่ง (bending)

เป็นเทคนิคการตัดแต่งที่กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดยอาศัยหลักการ คือ กิ่งเล็กที่ให้ดอกไม่มีคุณภาพ จะถูกพับ เพื่อสร้างอาหารส่งไปเลี้ยงกิ่งสมบูรณ์ที่สามารถตัดดอกได้ ดังนั้นในแปลงผลิตกุหลาบโดยวิธีนี้ จะให้ดอกกุหลาบที่มีคุณภาพดี ดอกอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และทรงพุ่มจะมีใบปกคลุมแปลงเป็นจำนวนมาก กิ่งที่พับจะมีอายุการใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 2-3 เดือน

ปุ๋ย 

การให้ปุ๋ยก่อนปลูก

ปุ๋ยก่อนปลูก คือ ปุ๋ยที่ผสมกับเครื่องปลูกก่อนการปลูกพืช ซึ่งให้ประโยชน์ 2 ประการ คือ

1. ให้ธาตุอาหารที่พืชต้องการอย่างเพียงพอตั้งแต่เริ่มปลูก

2. ให้ธาตุอาหารบางชนิดในปริมาณและเพียงพอสำหรับการปลูกพืชตลอดฤดูกาล ซึ่งทำให้สามารถงดหรือลดการให้ปุ๋ยนั้นๆ ได้ระหว่างการปลูกพืช การให้ธาตุอาหารทุกชนิดแก่พืชในขณะปลูกทำได้ลำบากเนื่องจากมีถึง 14 ธาตุ ธาตุบางชนิดจะมีอยู่ในดินแล้ว บางชนิดต้องให้เพิ่มเติม หากเป็นไปได้ควรส่งดินไปตรวจเพื่อรับคำแนะนำว่าควรปรับปรุงดินอย่างไรในการเตรียมดิน นอกจากจะเพิ่มอินทรีย์วัตถุเพื่อให้ดินร่วนโปร่งแล้ว ยังสามารถเพิ่มธาตุอาหารบางชนิดก่อนปลูกพืชได้เลยโดยไม่ต้องให้อีกหลังปลูก ธาตุอาหารเหล่านี้คือ

- แคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) ตามปกติจะต้องมีการปรับ pH ของดินก่อนปลูกพืช หากใช้หินปูนบดก็จะให้ธาตุแคลเซียม หากใช้ปูนไดโลไมท์ ก็จะได้ทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียม จึงควรเลือกใช้ไดโลไมท์ในการปรับดิน หากดินมีสภาพเป็นกลาง ควรใช้ยิบซั่ม (CaSO4) และแมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4) แทน ทั้งนี้จะให้ธาตุแคลเซียมแก่พืชได้ประมาณ 0.5-1 ปี

- ฟอสเฟต (P) และกำมะถัน (S) ปกติจะให้ซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-20-0) ทั้งนี้จะให้ฟอสเฟตแก่พืชประมาณ ½-1 ปีเช่นกัน และปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต โดยส่วนประกอบแล้วจะประกอบด้วยยิบซั่มครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจะให้ธาตุกำมะถันและแคลเซียมอีกด้วย หากไม่มีซุปเปอร์ฟอสเฟตอาจใช้ทริบเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) แทนได้ แต่ทริบ-เปิลซุปเปอร์ฟอสเฟตไม่มีกำมะถัน จึงควรผสมยิบซั่มร่วมด้วยอีกครึ่งหนึ่ง ให้รวมแล้ว เท่ากับอัตราของซุปเปอร์ฟอสเฟต

- ธาตุอาหารเสริม โดยมากในดินจะมีธาตุอาหารเสริมอยู่บ้าง หากเป็นดินที่ปลูกพืชมาเป็นเวลานาน อาจขาดธาตุอาหารเสริม ให้ผสมลงในดินก่อนปลูก หรือให้หลังปลูกพืชก็ได้

อัตราการให้ปุ๋ยก่อนปลูก ปุ๋ยรองพื้น

- ทริบเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) อัตราที่ 27 กิโลกรัม / 100 ตารางเมตร

- แมกนีเซียมซัลเฟต อัตราที่ใช้ 9 กิโลกรัม / 100 ตารางเมตร

การให้ปุ๋ยระหว่างปลูก

เนื่องจากธาตุอาหารส่วนใหญ่จะมีอยู่ในดินแล้ว เมื่อปลูกพืชจึงยังคงเหลือธาตุไนโตรเจนและโปแตสเซียมอยู่ ปริมาณปุ๋ยที่ให้เพื่อให้ได้ธาตุอาหารต่างๆ ทีต้องการ โดยการเตรียมสารละลายปุ๋ยจากแม่ปุ๋ยเข้มข้นสำหรับกุหลาบ ซึ่งมีอัตราส่วนผสมแม่ปุ๋ย : น้ำ เท่ากับ 1 : 200 ดังตารางที่แสดง 

  

 

โรคและศัตรูพืช

โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)

สาเหตุ เชื้อรา Peronospora spasa

ลักษณะการเข้าทำลาย

อาการจะแสดงบนใบ กิ่ง คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก การเข้าทำลายจะกำจัดที่ส่วนอ่อน หรือส่วนยอด ใบจะมีสีอ่อนกว่าธรรมดา และกระด้าง ใบจะเกิดจุดสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาล ต่อมาขยายวงกว้างออกไปและถูกกำจัดด้วยเส้นใบ จึงเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใบจะเหลืองและร่วงหล่นอย่างรวดเร็วเมื่อสภาพอากาศมีความชื้นและเย็น ด้านหลังใบบนแผลสีน้ำตาล จะเห็นเส้นใยหยาบๆสีขาวอมเทาเจริญเป็นกระจุกอยู่ด้านหลังของใบ เมื่อเขี่ยเชื้อดูจะพบสปอร์สีขาว หากสภาพอากาศไม่เหมาะสมมักจะสังเกตเห็นสปอร์ได้ยาก บนกิ่งและคอดอกอาจจะพบบริเวณที่มีสีม่วงจนถึงดำที่มีขนาดเล็กเป็นจุดจนเป็นบริเวณที่มีความยาว 2 เซนติเมตร หรือมากกว่า กลีบเลี้ยงอาจแสดงจุดลักษณะเดียวกัน ปลายยอดตายและกิ่งที่ถูกเข้าทำลายอาจตายได้

สภาพที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด

มักพบบนที่สูง มีหมอกและน้ำค้างลงจัดในฤดูหนาว หรือไม่มีแดดติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน อุณหภูมิต่ำ (ต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส) ความชื้นสัมพันธ์สูง (สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์) และอากาศไม่ถ่ายเท เช่น ถ้าปลูกในโรงเรือนมักจะพบต้นที่เป็นโรคบริเวณมุมของโรงเรือน หรือใต้รางน้ำ ราน้ำค้างจะผลิตสปอร์ได้เป็นเวลานาน ตราบใดที่สภาพอากาศเย็นและชื้น กุหลาบจะไม่เป็นโรคราน้ำค้างหากความชื้นต่ำกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอกของสปอร์คือ 18 องศาเซลเซียส สปอร์จะถูกทำลายหากอยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง สปอร์จะงอกภายใน 4 ชั่วโมง ในช่วงฤดูหนาวหากมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อใบเปียกชื้นเกิน 3 ชั่วโมง โดยจะเข้าทำลายพืชทางปากใบ และจะสร้างสปอร์ใหม่บนผิวใบภายใน 3 วัน ในสภาพที่เหมาะสมสปอร์จะยังสามารถมีชีวิตอยู่ในใบกุหลาบแห้งได้นานถึง 1 เดือน

การป้องกัน

รักษาความชื้นให้ต่ำโดยจัดการระบายอากาศ และรักษาอุณหภูมิให้สูงกว่า 27 องศาเซลเซียส ในช่วงกลางวันและกลางคืน จะช่วยควบคุมราน้ำค้างกุหลาบในโรงเรือนได้ ความชื้นสัมพันธ์ไม่ควรเกิน 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง จัดสภาพในโรงเรือนไม่ให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำใต้หลังคาพลาสติก ซึ่งหยดน้ำนี้จะหยดลงมาสู่พืชได้ ทำได้โดยการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน และการไหลเวียนของอากาศ เช่น การสร้างโรงเรือนให้สูง หากระยะระหว่างยอดกุหลาบกับหลังคาใกล้กันจะส่งเสริมให้ความชื้นภายในโรงเรือนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้มากขึ้น ควรฉีดสารป้องกันราน้ำค้างเมื่อสภาพอากาศเหมาะสำหรับการระบาด โดยฉีดพ่นด้วยสารเคมี เมตาแลกซิล + แมนโคเซ็บ แต่ใช้ได้ไม่เกิน 4-5 ครั้ง ซึ่งต้องใช้สลับกับ เคอร์เซท + โปรพิ-เนบ ทุกเดือน แต่ไม่เกิน 3 ครั้ง สุขลักษณะในแปลงมีความสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้เชื้อราน้ำค้างอยู่ข้ามปี โดยเผาทำลายใบ กิ่ง หรือดอกที่เป็นโรค หรือสงสัยว่าเป็นโรค เนื่องจากเชื้อราน้ำค้าง สามารถพักตัวอยู่บนกิ่งได้นานถึง 7 ปี

การกำจัด

ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกแล้วเผาทำลายทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมี สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากมีการระบาดมากให้ฉีดพ่นทุก 4-5 วัน สารเคมีที่ใช้ในการกำจัดโรคราน้ำค้างได้แก่ เมตาแล็กซิล + แมนโคเซ็บ เคอร์เซท + โปรพิเน็บ ออฟูเรส และโฟซีธิล – อลูมิเนียม

โรคราแป้ง (Powdery mildew)

สาเหตุ เชื้อรา Sphaerotheca pannosa

ลักษณะการทำลาย

อาการเริ่มแรกผิวด้านบนมีลักษณะนูน อวบน้ำเล็กน้อย บริเวณนั้นมักมีสีแดง และจะสังเกตเห็นเส้นใย และอับสปอร์สีขาวเด่นชัดบนผิวของใบอ่อน ใบจะบิดเบี้ยว และจะถูกปกคลุมด้วยเส้นใยสีขาว ใบแก่อาจไม่เสียรูปแต่จะมีราแป้งเป็นวงกลมหรือรูปทรงไม่แน่นอน เชื้อราแป้งจะเริ่มเจริญบนกิ่งอ่อนอวบน้ำ โดยเฉพาะบริเวณโคนของหนาม ซึ่งเชื้อราจะยังคงเจริญต่อไปเมื่อเปลี่ยนเป็นกิ่งแก่ นอกจากนี้ เชื้อรายังเกิดกับดอก คอดอก กลีบเลี้ยง และฐานดอก โดยเฉพาะเมื่อดอกยังไม่บาน และจะทำให้ดอกเสียคุณภาพ

สภาพที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด     

อุณหภูมิกลางคืนประมาณ 15.5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ 90-99 เปอร์เซ็นต์ จะส่งเสริมให้เชื้อราสร้างสปอร์และให้สปอร์งอก ส่วนอุณหภูมิกลางวันประมาณ 26.7 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ 40-70 เปอร์เซ็นต์ สภาพกลางวันและกลางคืนดังกล่าวติดต่อกัน 2-3 วันจะก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อได้ในสภาพที่เหมาะสม สปอร์จะเริ่มงอกภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังจากที่ตกลงบนใบ

การป้องกัน

เมื่ออุณหภูมิภายในโรงเรือนใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่เหมาะแก่การระบาด ความชื้นสัมพันธ์กลางคืนสูง และกลางวันต่ำ อาจพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดโรคราแป้งภายใน 3-6 วัน หลังจากมีสภาพดังกล่าว ดังนั้นจึงควรใช้สารเคมีป้องกันราแป้งทุก 7 วัน และวันถัดไปพ่นด้วยกำมะถันผง การป้องกันอีกอย่างหนึ่ง คือ การลดความชื้นในอากาศช่วงกลางคืน โดยใช้พัดลมหรือการระบายอากาศ หรือโดยการให้ความร้อนและระบายอากาศ

การกำจัด

กำจัดใบหรือส่วนที่แสดงอาการออกจากแปลงปลูก แล้วเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อรา การกำจัดราแป้งเมื่อพบครั้งแรกต้องใช้สารเคมีควบคุมทันทีการพ่นยาช้าไป 1 วัน จะทำให้เชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว การกำจัดควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีชนิดเดียวกัน 3 ครั้ง ทุก 4-7 วัน ควรผสมสารจับใบด้วย และหากมีการระบาดอีกครั้งให้ฉีกพ่นอีก 3 ครั้ง ด้วยสารเคมีต่างกลุ่ม สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคราแป้ง ได้แก่ ดีมอร์ฟอะซีเตท ไตรดีมอร์ฟ เฮกซาโค-นาโซล และไพราโซฟอส

กลีบดอกสีดำ (Blackenning of petals)

สาเหตุ

ไม่ได้เกิดจากโรค แต่เกิดจากอุณหภูมิในตอนกลางคืนต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส ควบคู่กับการได้รับรังสี UV (อัลตราไวโอเลต) ในช่วงกลางวันมักพบในกุหลาบสีแดงบางพันธุ์ในช่วงฤดูหนาว แต่ก็พบในกุหลาบสีอื่นๆ ด้วย อาการจะแสดงที่กลีบดอกที่ผลิออก ผิวด้านในจะมีสีเปลี่ยนแปลงไป โดยสีจะเข้มขึ้นในกุหลาบสีแดง ชมพู และส้ม หรือเป็นสีเขียวในพันธุ์ดอกสีเหลือง และสีขาว และอาจมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดกลีบดอกสีดำทำได้โดย การรักษาอุณหภูมิให้เท่ากับหรือสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส หรือป้องกันรังสี UV ในช่วงกลางวัน โดยคลุมโรงเรือนด้วยพลาสติกที่ป้องกันไม่ให้รังสี UV ผ่านได้

แมลงศัตรูกุหลาบ

ไรแดง(Spider mite)

สาเหตุ

Tetranychus urticae, T. Hydrengeae, Eutetranychus orientalis, Schizotetranychus sp., Oligonychus biharensis และ O. Mangiferus

ลักษณะการทำลาย   

ไรแดงจะทำลายใบแก่ของกุหลาบมากกว่าใบอ่อน โดยดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบเป็นกลุ่มๆ ทำให้เห็นเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆ กระจายทั่วไป และกลายเป็นสีน้ำตาลจนกระทั่งใบแห้งและร่วงหล่น บางครั้งจะพบการทำลายที่ดอก ทำให้ดอกบิดเบี้ยว เมื่อเห็นใยแสดงว่าการระบาดรุนแรงแล้ว

สภาพที่เหมาะสมในการระบาด

มักระบาดในช่วงอากาศร้อน และแห้งแล้ง (อุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ)

การป้องกันกำจัด

ฉีดพ่นด้วยสารเคมีชนิดเดียวกัน 3 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน และฉีดพ่นด้วยสารเคมีต่างกลุ่มจากครั้งแรกอีก 3 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน สารเคมีกำจัดไรแดง ได้แก่ โอเม็ทโธเอท อะบาเม็คติน อะมีทราซ เฮ็กซี่โธอะซ็อก แลมบ์ดาไซฮาโลทริน และ เท็ทตระไดฟอน

เพลี้ยไฟ (Thrips)

สาเหตุScirtothrips dorsalis และ Thrips coloratus

การเข้าทำลาย

เพลี้ยไฟมีปากแบบเขี่ยดูด ซึ่งจะดูดน้ำเลี้ยงของพืชทำให้ส่วนนั้นเป็นทางสีขาว ต่อมาก็เหี่ยวแห้งเป็นสีน้ำตาล หรือฝ่อไม่เจริญเติบโต เพลี้ยไฟทั้งตัวแก่และตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ตาดอกและยอดอ่อน ทำให้ใบและดอกหงิกและมีรอยสีน้ำตาล มักฝังตัวอยู่ในยอดอ่อนเห็นได้ยาก ยกเว้นเมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม สภาพที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด เพลี้ยไฟจะระบาดรุนแรงในฤดูร้อน หรือในช่วงที่อากาศแห้ง หรือฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม

การป้องกันกำจัด

ใช้กับดักกาวเหนียวเพื่อลดการระบาด ไม่ปล่อยดอกบานในแปลง เผาทำลายดอกบาน การฉีดพ่นด้วยสารเคมีติดต่อกัน 4 ครั้ง ช่วงห่างกันไม่ควรเกิน 4 วัน สารเคมีกำจัดเพลี้ยไฟได้แก่ ไดอะซินอล อิมิดาคลอพริด อะบาเม็กติน เมโทมิลไซเปอร์เมทริน

เพลี้ยอ่อน (aphids : Macrosiphum rosae และ Myzaphis rosarum)

ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงช่อดอก ยอดอ่อน และใบอ่อน ทำให้ดอกที่ถูกทำลายมีขนาดเล็ก ใบเหลืองร่วงหล่น ควรป้องกันโดยใช้สารเคมี เดลทาเมทริน ไพริมิคาร์บ เฟนไทออนแลมบ์ดาไซฮาโลทริน ฉีดพ่นติดต่อกัน 2 – 3 ครั้ง

การเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยว

ระยะที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ในบางสายพันธุ์จะตัดในระยะดอกตูมมาก และกลีบรองยังติดอยู่กับดอก หรือไม่ก็มีเพียงกลีบรอง 1 กลีบที่เริ่มแยกตัวออกและในบางสายพันธุ์ กลีบรองทั้งหมดจะต้องแยกตัวออกจากกลีบดอกและส่วนปลายดอกจะเริ่มคลี่ออกมองเห็นกลีบดอกที่ซ้อนตัวกัน หากตัดดอกอ่อนเกินไปดอกจะไม่บาน ในฤดูร้อนควรตัดในระยะที่ยังตูมมากกว่าการตัดในฤดูหนาวเพราะดอกจะบานเร็วกว่า

วิธีการเก็บเกี่ยว

- การตัดดอก ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่คมและสะอาด

- เมื่อตัดดอกจากต้นแล้วรีบนำก้านดอกแช่ในน้ำสะอาดทันที (ในแปลง) โดยใช้กรดซิตริกปรับสภาพน้ำให้มีค่า pH ประมาณ 3 – 4 ใช้เวลาแช่ประมาณ 0.5 – 1 ชั่วโมง

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

การแช่น้ำยา ส่วนประกอบของน้ำยารักษาสภาพ

 

ส่วนประกอบของน้ำยารักษาสภาพ

สูตรที่ 1 ใช้ Sucrose 10 เปอร์เซ็นต์ + AgNO3 150 ppm + Citric acid 30 ppm นาน 12 ชั่วโมง 

สูตรที่ 2 น้ำส้มสายซู (อสร.) 5 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (ไฮเตอร์) 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร น้ำตาลทราย 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร

      นาน 2 - 3 ชั่วโมง 

สูตรที่ 3 กรดซิตริก (ปรับค่า pH ประมาณ 3.5) โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (ไฮเตอร์) 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร น้ำตาลทราย 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร 

     นาน 2 - 3 ชั่วโมง 


อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา

การลดอัตราการหายใจ และการคายน้ำของกุหลาบ กระทำได้โดยนำกุหลาบไปแช่ในห้องเย็น (ในกรณีที่ไม่มีห้องเย็นก็อาจนำดอกกุหลาบเก็บไว้ในที่เย็นชื้นไม่มีลมโกรกและมืด) และการเก็บรักษาสภาพกุหลาบให้สด ควรแช่กุหลาบในน้ำยารักษาสภาพดอกไม้ นานอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 2 – 4 องศาเซลเซียส


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.