องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ผักกุ่ม (กุ่มน้ำ)

ชื่อสามัญ   Three leaved caper, Varuna

ชื่อวิทยาศาสตร์  Crateva magna (Lour.) DC.

วงศ์   CAPPARACEAE

ภาคเหนือ  ผักกุ่ม   ภาคกลาง  กุ่มน้ำ  ภาคอีสาน  -    ภาคใต้  -

ผักกุ่มเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง สูง 5-20 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกต้นเรียบสีเทาอมขาว มีช่องระบายอากาศขนาดเล็กตามผิวทั่วไป ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ รูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ดอกเป็นช่อออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อย 12-20 ดอก เมื่อเริ่มบานมีสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แซมด้วยเส้นยาวของเกสรเพศผู้สีม่วง ผลรูปทรงกลมหรือรี สีเทาห้อยเป็นพวง เมล็ดเดี่ยวรูปเกือกม้า

สภาพนิเวศ : พบตามริมฝั่งแม่น้ำ ขอบบึง มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อนนำมาลวกหรือดอง กินกับน้ำพริกต่าง ๆ หรือนำผักกุ่มดองมายำใส่มะเขือเปราะ แกงส้มใส่เนื้อหมู และใส่แกงไตปลา

แหล่งที่พบ : พบปลูกตามสวนหลังบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ

เกร็ดน่ารู้ : ยอดอ่อนของกุ่มน้ำมีกรดไฮโดรไซยานิกที่เป็นพิษสูง ก่อนนำมารับประทานต้องลวกหรือดองก่อน มีปริมาณแคลเซียมและใยอาหารสูง ส่วนช่อดอกดอง มีธาตุเหล็ก วิตามินเอและใยอาหารสูง นอกจากกุ่มน้ำแล้ว ยอดอ่อนของกุ่มบก (C. adansonii DC. ssp. Trifoliate (Roxb.) Jacobs) ก็กินเป็นผักได้เช่นกัน แต่แตกต่างกันที่กุ่มบกมีใบป้อมกว่า และมีผลสีน้ำตาล