องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

นายอาทิตย์ ธนเกษมสันต์

เกษตรกรผู้นำ: ด้านเศรษฐกิจ
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง: โหล่งขอด
หมู่บ้าน: บ้านแม่สายนาเลา

จากพื้นที่ป่าข้าวโพด 100% สู่ ป่าไม้ผล 100%

นายอาทิตย์ ธนเกษมสันต์ ผู้นำเกษตรกร

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่


บนพื้นที่สูงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ทั้งในส่วนของวิธีการเพาะปลูกที่ดีและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งพืชทางเลือกอื่นๆ พืช จึงมักประสบปัญหารายได้จากการขายผลผลิตไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูง บ่อยครั้งที่เกษตรกรปลูกพืชตามคำแนะนำของพ่อค้า ทำให้ผลผลิตออกมาในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนมาก จึงไม่สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้ แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวของเกษตรกรคือ การขยายพื้นที่ปลูกซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูก ทำให้ระบบนิเวศบนพื้นที่สูงถูกทำลาย และเกิดการชะล้างพังทลายของดินจากการใช้พื้นที่อย่างไม่เหมาะสม พืชที่ปลูกเป็นพืชล้มลุกมีระบบรากตื้นไม่สามารถยึดหน้าดินและชะลอการไหลของน้ำฝนได้

บ้านแม่สายนาเลา ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด ได้เริ่มงานพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมู่บ้าน ได้ดำเนินการปรับระบบเกษตรจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว เป็นการปลูกข้าวโพดเหลื่อมถั่ว และปรับระบบสู่การปลูกไม้ผลยืนต้น เพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน และรักษาระบบนิเวศบนพื้นที่สูง 

นายอาทิตย์ ธนเกษมสันต์ ผู้ใหญ่บ้านแม่สายนาเลา เป็นเกษตรกรผู้นำที่ขับเคลื่อนการปลูกไม้ผลทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านอาทิตย์ ธนเกษมสันต์ ได้ปรับระบบเกษตรโดยนำองค์ความรู้มาวางแผนการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม ตามข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ปัจจุบันมีสวนลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว 25 ไร่ ทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 800,000 บาท/ปี