องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ราสพ์เบอร์รี่

ชื่อวิทยาศาสตร์  Rubus idaeus L.

ราสพ์เบอรี่เป็นไม้ผลขนาดเล็กที่ปลูกแพร่หลายทั่วโลกรองจากสตรอเบอรี่และองุ่น สำหรับในประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาทดลอง ค้นคว้าและวิจัยในปี พ.ศ. 2522 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงภายใต้โครงการ Research on samll fruit productions substitute crops for opium poppy ต่อจากนั้นได้มีการวิจัยและพัฒนามาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมปลูกเป็นการค้าได้ แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ (ขุนห้วยแห้ง)

ลักษณะโดยทั่วไป

ราสพ์เบอรี่เป็นไม้ผลเขตหนาวขนาดเล็กที่มีอายุหลายปีโดยจะมีต้นใหม่งอกจากรากที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาทดแทนต้นเดิมที่ให้ผลผลิตแล้วทุกปี ราสพ์เบอรี่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Autumn Bearing Raspberries ซึ่งให้ผลผลิตได้จากกิ่งอายุหนึ่งปี (Primocanes) โดยในประเทศไทยจะให้ผลผลิตในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เช่น พันธุ์ Amity และ Summer Bearing Raspberries ซึ่งให้ผลผลิตบนตาข้างกิ่งอายุ 2 ปี (Floricanes) ที่ได้รับความหนาวเย็นยาวนานเพียงพอ

การดำเนินงานในปัจจุบัน

การศึกษาวิจัยในระยะแรกเป็นการทดลองปลูกราสพ์เบอรี่พันธุ์ Glen Clova และ Malling Admiral ซึ่งนำเข้ามาจาก East Malling Research Station ประเทศอังกฤษ ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ พบว่า การเจริญเติบโตดีพอสมควรแต่ยังให้ผลผลิตไม่ดี เพราะเป็นประเภทSummer Bearing Raspberries ต้องการอากาศหนาวเย็นยาวนาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ได้นำพันธุ์ ราสพ์เบอรี่พันธุ์ Amity, Southland fastival และ Heritage จากประเทศนิวซีแลนด์เข้ามาทดสอบและพบว่าพันธุ์ Amity ที่ปลูกที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ซึ่งเป็นประเภท Autumn Bearing Raspberries ให้ผลผลิตได้ดี สามารถที่จะผลิตเป็นการค้าได้ จึงได้เริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง ในขณะเดียวกันก็ได้ทำการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การตัดแต่งกิ่ง การให้ปุ๋ยและการทดสอบพันธุ์ใหม่ เช่นพันธุ์ Heritage และBi-lenternial ที่นำมาจากประเทศออสเตรเลีย