สาสี่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pyrus pyrifolia
ลักษณะทั่วไป
สาลี่เป็นไม้ผลเขตหนาวประเภทรับประทานสด ลักษณะต้นมีขนาดใหญ่อายุยาวนานหลายสิบปี สาลี่ที่ปลูกในประเทศไทย เป็นชนิดสาลี่เอเชีย ซึ่งเนื่อผลจะกรอบและฉ่ำน้ำ ต่างจากสาลี่ยุโรปที่เนื้อผลจะอ่อนนิ่ม พันธุ์สาลี่ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ Yokoyama Wase, Xiang Sui และพันธุ์ใหม่ (SH-078 และSH-085)
รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ : สาลีพันธุ์ Yokoyama WaseและXiang Sui แบ่งออกได้เป็น 3 เกรด
เกรดพิเศษ ลักษณะผลตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง มีน้ำหนักผลประมาณ 600-700 กรัมต่อผล
เกรด 1 ลักษณะผลตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง มีน้ำหนักผลประมาณ 450-600 กรัมต่อผล
เกรด 2 ลักษณะผลตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิจากโรค และแมลง มีน้ำหนักผลประมาณ 350-449 กรัมต่อผล
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด : เดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน
การปลูกและการบำรุงรักษา
การปลูก
โดยทั่วไปมักจะใช้ระยะ 6x6 เมตร เนื่องจากทรงต้นสาลี่มีลักษณะสูง การปลูกจึงนิยมโน้มกิ่งลงมาให้ขนานกับพื้นดิน เพื่อให้มีสาขาแผ่กระจายออกไปและยังทำให้กิ่งมีการแตกแขนง และการเกิดกิ่งสเปอร์ได้เร็วและมากขึ้นด้วย ถ้าปล่อยให้ทรงต้นสูงตามธรรมชาติกิ่งสเปอร์ซึ่งเป็นที่ออกดอกผลจะเกิดขึ้นช้า ทำให้ผลไม่ดกวิธีการปฏิบัติกันอยู่มีการใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นคอกสี่เหลี่ยมรอบทรงพุ่ม แล้วใช้เชือกผูกกิ่งที่โน้มลงมาติดคอกไม้ไผ่ซึ่งจะยึดกิ่งไว้ให้อยู่ในลักษณะแบนราบและจะเป็นที่เกิดดอกและผลเป็นจำนวนมาก การทำคอกสาลี่นอกจากจะทำให้ทรงต้นไม่สูงการดูแลรักษาง่ายแล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาการหักโค่นของต้นเนื่องจากลมพายุ และการฉีกหักของกิ่ง เนื่องจากการติดผลที่ดกได้อีกทางหนึ่งด้วย
เนื่องจากสาลี่มีการออกดอกและติดผลค่อนข้างดก จึงต้องมีการปลิดผลออกบ้างโดยเลือกปลิดให้เหลือแต่ผลที่มีคุณภาพดี โดยเฉลี่ยแล้วจะให้เหลือเพียงผลเดียวต่อ 1 ช่อดอก เมื่อปลิดผลเสร็จแล้วต้องห่อถุงเพื่อป้องกันโรคและแมลงและรักษาผิวของผลให้สวยโดยเฉพาะสาลี่พันธุ์ที่มีสีเขียว ถ้าใช้ถุงกระดาษ 2 ชั้นโดยมีชั้นในทึบแสง ผิวผลเวลาเก็บเกี่ยวจะมีสีขาวนวล เป็นที่ต้องการของตลาด ก่อนการห่อผลจำเป็นต้องมีการพ่นยากันราและแมลงก่อนแล้วจึงจะทำการห่อ ทั้งนี้เพื่อป้องกันแมลงที่อาจจะติดอยู่บริเวณผิวผลซึ่งจะทำลายผลให้เสียหายและมีเชื้อราเข้าทำลาย ทำให้ผลเน่าได้ง่าย เนื่องจากฤดูการเจริญเติบโตของผลสาลี่ในประเทศไทยจะตรงกับช่วงที่ฝนตกชุกมาก การพ่นยาก่อนห่อผลช่วยป้องกันการเน่าเสียหายได้มาก
การเก็บเกี่ยว
การใช้ถุงกระดาษทึบแสงห่อผลสาลี่ ทำให้ไม่สามรถมองเห็นผลสาลี่ที่อยู่ในถุงได้ดังนั้น การเก็บเกี่ยวจึงต้องใช้วิธีการนับอายุของผล หลังจากดอกบานเต็มที่เป็นอันดับแรก สาลี่แต่ละพันธุ์ที่ปลูกอยู่มีช่วงความแก่สมบูรณ์ที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่จะเก็บผลจะต้องเปิดถุงกระดาษที่ใช้ห่อผลอยู่ออกไปเสียก่อนแล้วจึงค่อยๆ ใช้กรรไกรปลายแหลมขนาดเล็กตัดขั้วผลให้หลุดออกจากต้น โดยตัดให้มีขั้วติดอยู่กับผลด้วย จากนั้นจึงนำไปแยกและบรรจุ
โรคและแมลงศัตรู
โรคใบจุด (Leaf spot)
โรคราสนิม (Rust)
สาเหตุ เชื้อรา Ochropsora ariae (Fuck.) p. et M. Sydow
ลักษณะอาการ ใบล่างแสดงอาการจุดด่างเหลือง มีขอบแผลสีม่วง กระจายบนใบ ด้านใต้ใบมีกลุ่มเชื้อราสีน้ำตาล โรคนี้ระบาดมากจะลุกลามขึ้นด้านบนใบ เมื่อเป็นโรคมาก ต่อมาใบล่างจะร่วง พบโรคนี้กับสาลี่พันธุ์ที่ใช้เป็นต้นตอและ Yokoyama Wase มักพบในสภาพอากาศชื้นและเย็น
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น triadimefon
โรคราแป้ง (Powdery mildew)
สาเหตุ เชื้อรา Phyllactinia sp. พบระยะสปอร์ imperfect stage รูปร่างแบบรองเท้าแตะ
ลักษณะอาการ ใบสาลี่มีราขาวจับด้านใต้ใบเห็นชัดเจนบริเวณระหว่างเส้นใบ ด้านบนใบแสดงอาการซีด เหลือง สปอร์ของราแป้งแพร่ระบาดได้ดีในสภาพอากาศแห้งและเย็น
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดที่ได้ผลกับราแป้ง เช่น กำมะถันผง หรือสารดูดซึมป้องกันราแป้ง เช่น triadimefon
โรคผลเน่า (Fruit rot)
สาเหตุ เชื้อรา Phomopsis sp.
ลักษณะอาการ ผลแก่สาลี่เน่าระยะก่อนเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว แสดงอาการจุดเน่าสีน้ำตาลลุกลามอย่างรวดเร็ว เชื้อราเข้าสู่ระยะดอกและผลอ่อนและพักตัวเมื่อผลแก่และสุกจึงแสดงอาการเน่า
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราเป็นระยะๆ ตั้งแต่ระยะติดช่อดอก เช่น carbendazim และ mancozeb และควรมีสารเคมีการจุ่มผลสาลี่ในสาร carbendazim ผสมกับ iprocione
โรคผลเน่าก้นผล (Calyx end rot)
สาเหตุ เชื้อรา Alternaria alternate (Fr.) Keissl.
ลักษณะอาการ เกิดจุดเน่าสีน้ำตาลจากปลายก้นผลที่มีรอยย่น การขยายตัวของจุดเน่าค่อนข้างจำกัด และมักพบเส้นใยของเชื้อราสีเทาแกมเขียว จำนวนเล็กน้อยเจริญคลุมผิวที่เน่าในบริเวณรอยย่นของก้นผล พบอาการทั้งระยะก่อนและหลังเก็บเกี่ยว เชื้อราแพร่ระบาดและตกค้างตั้งแต่ระยะติดผลอ่อน เมื่อผลโตบริเวณก้นผลมีความชื้นเพียงพอทำให้เชื้อราเจริญได้ดี จึงทำให้เน่าที่ก้นผล
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราเป็นระยะๆ ตั้งแต่ระยะติดช่อดอก เช่น iprocione ซ่างให้ผลดีกว่าสาร benomyl กับโรคชนิดนี้
โรคไส้ดำ (Flesh Spot Decay)
สาเหตุ ไม่พบเชื้อสาเหตุ เป็นผลจากความผิดปกติของสรีระ
ลักษณะอาการ เกิดจุดสีน้ำตาลหรือบางครั้งเป็นเส้นสีน้ำตาลในเนื้อของผล ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณกลางผลหรือค่อนข้างไปทางส่วนของขั้วเซลล์ใกล้ๆกับท่อน้ำท่ออาหารจะแสดงอาการก่อน จากจุดเล็กๆก็จะขยายขึ้นเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ รูปร่างไม่แน่นอนและเกิดทั่วไปในเนื้อของผลโดยไร้ทิศทาง ถ้าเป็นมากจะเกิดในแกนกลางของผลด้วย ส่วนที่เป็นแผลอาจจะมีลักษณะแห้ง หรือฉ่ำน้ำก็ได้ โดยที่เซลล์โดยรอบยังคง ปกติอยู่ ผลที่เป็นโรคจะมีรสขม ผลที่มีขนาดใหญ่และแก่เกินไปมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผลที่มีขนาดเล็กกว่าและไม่แก่จัด ช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผล ถ้าอากาศเย็นและชื้นแฉะโรคจะเกิดทาก และสวนที่ให้น้ำมากก็เกิดโรคนี้ได้ง่ายขึ้น
การป้องกันกำจัด ยังไม่ทราบวิธีที่แน่นอนแต่ลดความเสียหายโดยเก็บเกี่ยวผลในระยะที่ผลแก่พอดี อย่าให้แก่เกินไป เมื่อเก็บเกี่ยวผลแล้วให้ผึ่งไว้ 36-48 ชั่วโมง ก่อนที่จะทำการบรรจุหรือเก็บในห้องเย็น ถ้ามีฝนตกในระยะเก็บเกี่ยว ถ้ารอได้ก็ให้ทิ้งผลไว้บนต้นก่อนสัก 2-5 วัน เพื่อให้น้ำในผลลดลงเสียก่อนจึงทำการเก็บเกี่ยว
แมลงศัตรูของสาลี่ที่สำคัญ ได้แก่ แมลงวันทอง ซึ่งจะเจาะผลและวางไข่ในผลสาลี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลใกล้สุกและก่อนเก็บเกี่ยวทำให้ผลเน่าเสียหายมาก ซึ่งในการปลูกสาลี่จำเป็นต้องมีการห่อผลเพื่อป้องกันการเข้าทำลาย
แมลงอื่นที่สำคัญคือ เพลี้ยอ่อนของสาลี่ ซึ่งทำลายเฉพาะสาลี่เท่านั้น เพลี้ยอ่อนสาลี่มีขนาดเล็กมากลำตัวยาว 0.8-1.0 มม. มีสีเหลืองใส รูปร่างด้านหัวค่อนข้างกลมมนและค่อยๆเรียวยาวไปทางด้านปลายท้อง พบแต่ชนิดที่ไม่มีปีก หัว กลมมน มีตารวมค่อนข้างใหญ่สีน้ำตาลปนแดง หนวดสั้นประมาณ 3 ปล้อง ปากยาว เมื่อไม่ได้ใช้จะพับเก็บไว้ใต้ส่วนอก ปลายของปากยื่นไปจนถึงฐานของขาคู่หลัง อกอยู่ชิดติดกับส่วนหัว มีขาค่อนข้างสั้นสีน้ำตาลเกือบดำ 3 คู่ ยื่นออกมา ไม่มีปีก ท้องค่อนข้างยาวเรียวไปสู่ส่วนท้ายมีประมาณ 8-9 ปล้อง ไม่มี cornicle และรูหายใจเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก จึงทำให้ดูไม่เหมือนเพลี้ยอ่อนชนิดอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย ซึ่งมักจะมี cornicle ยื่นออกมาจากทางด้านหลังทางปล้องท้อง 1 คู่ เพลี้ยอ่อนสาลี่จะอาศัยรวมอยู่เป้นกระจุกซึ่งมีทั้งไข่ตัวอ่อนหลายวัยและตัวเต็มวัยไม่มีปีกแอบซุกซ่อนอยู่ตามร่องหรือรอยแตกของผล ตา ใต้เปลือกของกิ่ง ก้าน และโคนต้น ซึ่งถ้าไม่สังเกตให้ดีแล้ว