องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บทบาทใหม่ของสตรีแม่แจ่ม กับ เส้นทางแห่งการต่อรอง

การเปลี่ยนผ่านทางสังคม บทบาทสตรีแม่แจ่มและอนาคตที่เปลี่ยนไป

จากบทบาท  แม่ / ภรรยา  ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของครอบครัว สู่การเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม

บทบาทสตรีแม่แจ่มในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของ “ความก้าวหน้า” หรือ “ความล้าหลัง” แต่เป็นเรื่องของการต่อรองกับโครงสร้างอำนาจที่หลากหลาย และกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม เทคโนโลยีดิจิทัล อนาคตของสตรีแม่แจ่มไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าสามารถ “ปรับตัว” ได้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขของตนเองได้ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลง

ปรากฏการณ์ทางสังคมแม่แจ่ม สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทของสตรีที่ไม่อาจมองได้เพียงในมิติของ “ความก้าวหน้า” หรือ “ความล้าหลัง” เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาผ่านโครงสร้างการปกครองที่กำกับการดำรงชีวิตด้วย

สังคมที่เปลี่ยนแปลง กลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและการต่อรอง

แม่แจ่มไม่หยุดนิ่งอยู่กับอดีต แต่เต็มไปด้วยการต่อรองและรับผลกระทบของกระแสสังคมในยุคที่มีความผันผวน  ซึ่งเห็นได้จากโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ที่ผลักดันให้เกิดรูปแบบการประกอบอาชีพที่สมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและรายได้ที่เพียงพอ นำมาสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ชุมชนเกิดการปรับตัว สตรีชาติพันธุ์จึงเป็นทั้งผู้รับผลกระทบและผู้ที่พยายามใช้ช่องว่างของสังคมสร้างโอกาสสำหรับตนเอง สตรีที่อยู่ใกล้ชุมชนเมืองมีการศึกษาสูงขึ้นเริ่มมีบทบาทในโครงสร้างการบริหารท้องถิ่น ขณะที่สตรีชุมชนห่างไกลยังต้องเผชิญกับเงื่อนไขของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ต้องอยู่ในบทบาทรอง

บทบาทที่เปลี่ยนไป จากพื้นที่ในครัวสู่พื้นที่สาธารณะ

ในอดีตสตรีแม่แจ่มอยู่ในขอบเขตของบ้านและครอบครัว แต่ปัจจุบันสตรีเริ่มออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ ผ่านกลไกของรัฐหรือเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มสตรีเริ่มก่อตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น การทอผ้า งานหัตถกรรม และเกษตรอินทรีย์ เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันของสตรีแต่ละชาติพันธุ์ก็ยังคงมีความแตกต่าง อาทิ สตรีกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่สตรีลีซู ลัวะและม้ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังคงถูกจำกัดด้วยระยะทางและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร

จุดสนใจคือ การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ใช่เรื่องของการ “ปลดปล่อย” แต่คือกระบวนการต่อรองที่ซับซ้อน สตรีไม่ได้เพียงแต่ก้าวออกจากขนบธรรมเนียมเก่าๆ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะต่อรองกับโครงสร้างอำนาจของรัฐ เอกชน และทุนนิยมที่เข้ามากำหนดรูปแบบการผลิตและการบริโภคแบบใหม่ จนอาจสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น

 แนวโน้มของอาชีพสตรีแม่แจ่มสะท้อนให้เห็นถึงเส้นแบ่งที่ไม่แน่นอนระหว่าง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” กับ “แรงงานรายได้น้อย"

ในขณะที่กลุ่มสตรีสามารถใช้ทรัพยากรวัฒนธรรม สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ผ้าทอและสินค้าหัตถกรรมซึ่งงขายในตลาดดิจิทัล ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีสตรีอีกจำนวนไม่น้อยที่ติดอยู่ในโครงสร้างของแรงงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม

ด้วยเหตุนี้คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงเลือกที่จะไปทำงานในเมือง ทำให้ทักษะการผลิตดั้งเดิมของชุมชนเริ่มลดลง โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมที่เริ่มสูญเสียเอกลักษณ์ลงไปทีละน้อย ตลาดดิจิทัลที่ถูกมองว่าเป็นโอกาสใหม่สำหรับสตรีในชนบท อาจจะกลายเป็นอีกกลไกที่ทำให้ต้องเข้าไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขของตลาดทุนนิยมที่เป็นผู้กำหนดรูปแบบการผลิตมากกว่าที่กลุ่มสตรีจะสามารถกำหนดเองได้


ขอขอบคุณ

นางเกสร กรรณิกา ประธานกลุ่มสตรีอำเภอแม่แจ่ม ประธานกลุ่มพัฒนาสตรีอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ที่กรุณาให้สัมภาษณ์เชิงลึกและแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้นำสตรี ผู้มีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับอาชีพในอำเภอแม่แจ่ม


ผู้เขียน/เรียบเรียงโดย ปัณชพัฒน์แจ่มเกิด และ สุชาดา ธิชูโต

ออกแบบและเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน