องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ภูมิปัญญาชาติพันธุ์กับการอนุรักษ์ป่าไม้

การอนุรักษ์ป่าไม้มีความสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น กะเหรี่ยง ม้ง ลีซู และอาข่า มีภูมิปัญญาและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่เพียงช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ แต่ยังเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

“ภูมิปัญญาและความเชื่อในการอนุรักษ์ป่าไม้”

ชาวกะเหรี่ยง (Karen) มีความเชื่ออย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ "ป่าศักดิ์สิทธิ์" เป็นป่าที่ห้ามมิให้ใครเข้าไปตัดไม้หรือล่าสัตว์ จึงทำให้ผืนป่าไม่ถูกทำลาย นอกจากนี้ ชาวกะเหรี่ยงยังมีภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียน (Rotational Farming) ซึ่งช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่เกษตรกรรม

ชาวม้ง (Hmong) และลีซู (Lisu) มีความเชื่อใน "ป่าผี" ซึ่งเป็นแหล่งสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณบรรพบุรุษ ทำให้มีการดูแลรักษาและเคารพป่าผีอย่างเคร่งครัด การรักษาป่าผีนี้ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ชาวม้งยังมีความรู้ในการใช้สมุนไพรจากป่ามาเป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกาย ซึ่งช่วยลดการพึ่งพายาเคมีและทำให้ป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์

ชาวลาหู่ (Lahu) และดาราอั้ง (Dara-ang) มีการจัดการพื้นที่ป่าโดยแบ่งเป็น "ป่าใช้สอย" และ "ป่าอนุรักษ์" โดยป่าใช้สอยจะถูกจำกัดการใช้ประโยชน์ สำหรับป่าอนุรักษ์จะได้รับการดูแลเพื่อป้องกันการพังทลายของดินและช่วยกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ชาวอาข่า (Akha) และคนไทยพื้นเมือง มีการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพผ่านระบบวนเกษตร (Agroforestry) โดยการปลูกพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจร่วมกับป่า เช่น การปลูกกาแฟอราบิก้าใต้ร่มเงาไม้ และป่าเมี่ยง ระบบนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับชุมชน

“ภูมิปัญญาและความเชื่อบนพื้นที่สูงเพื่อขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

การจัดการป่าไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากป่าไม้ทำหน้าที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ป่าไม้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของชุมชนบนพื้นที่สูง

  • การอนุรักษ์ป่าศักดิ์สิทธิ์และป่าผีของชาวกะเหรี่ยง ม้ง และลีซู สะท้อนถึงความเชื่อที่ฝังลึกในในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องผืนป่า การห้ามล่าสัตว์และตัดต้นไม้ในพื้นที่ดังกล่าวช่วยให้ป่าสีเขียวยังคงอยู่และไม่ถูกทำลาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว ทำให้การดูแลรักษาพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์นี้กลายเป็นกลยุทธ์ที่ส่งผลต่อการลดโลกร้อน
  • ระบบเกษตรหมุนเวียนของชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เป็นการใช้พื้นที่เพาะปลูกสลับกันในแต่ละปี จากนั้นหมุนเวียนไปยังพื้นที่ใหม่ เพื่อให้พื้นที่เดิมมีโอกาสพักฟื้นและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การทำเช่นนี้ไม่เพียงช่วยป้องกันการสะสมของโรคและศัตรูพืช แต่ยังลดการพึ่งพาสารเคมีในการเพาะปลูพืช ซึ่งส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตรลดลง
  • การปลูกพืชผสมผสานในป่า เช่น การปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ร่มเงาไม้ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในขณะที่ยังคงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำเกษตรได้

“ภูมิปัญญาชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงของประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งมีศักยภาพในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่ นอกจากนี้ยังช่วยรักษามรดกทางวัฒนธรรม พร้อมสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน”

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

กชพร สุขจิตภิญโญ และคณะ. (2563). โครงการศึกษาภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง. สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน).

กชพร สุขจิตภิญโญ และณฐภัทร์ สุวรรณโฉม. (2564). “ดงเซ้ง” ภูมิปัญญาการรักษาป่าของชุมชนม้ง. แหล่งที่มา: https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/136

พรชัย ปรีชาปญญา และ พงษศักดิ์ สหุนาฬุ. (2542). โครงการภูมิปัญญาชาวปาเมี่ยง(ชา) เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการจัดการลุ่มน้ำที่สูงภาคเหนือ ประเทศไทย. กรุงเทพฯ: รายงานการวิจัยหลังปริญญาเอก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา. (ม.ป.ป.). ภูมิปัญญาในการรักษาพันธุ์พืชอาหารและการจัดการทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ 9 ชนเผ่า. สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.). เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์.

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วยอึ๊งภากรณ์. (2565). “Carbon neutrality” กับ “net zero emissions” ต่างกันอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร?. แหล่งที่มา: https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/

ไทยรัฐออนไลน์. (2566). "ต้นไม้" ตัวช่วยดูดซับคาร์บอน เพิ่มออกซิเจน ลดโลกร้อน. แหล่งที่มา: https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2712707


เขียน/ เรียบเรียงเรื่อง โดย โดย ดร.จารุณี ภิลุมวงค์ นางสาวศิริรัตนาพร หล้าบัววงค์ และนางสาวธัญลักษณ์ นนทะศรี

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน