ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ด้วยการ “ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นในบรรยากาศ ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน เกิดภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ. 2563 ของ ClimateWatch (2023) รายงานว่าประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 451.42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดที่ 259.48 MtCO2e (57.48%) รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม 93.56 MtCO2e (20.73%) ภาคเกษตร 67.87 MtCO2e (15.03%) ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 17.65 MtCO2e (3.91%) และภาคของเสีย 12.86 MtCO2e (2.85%) ของปริมาณการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าภาคเกษตรของไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 โดยมาจากกิจกรรม การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว การใส่ปุ๋ยและปูน การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง และการจัดการมูลสัตว์ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันภาคเกษตรยังมีบทบาท
ที่สำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีของโครงการหลวง ควบคู่กับการจัดการกิจกรรมทางการเกษตรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่เกษตรกรจะได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ดี มีรายได้เพิ่ม สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย
และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างไรบ้าง ตามมาดูกัน.....
- การปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืช กับการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนและการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตทางการเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู่รูปแบบการผลิตที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกพืชผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นไม้ผลหรือพืชเกษตรยืนต้น พืชผัก พืชท้องถิ่น พืชไร่ หรือ ปศุสัตว์ การทำวนเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น
- การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีในพื้นที่การเกษตร โดย 1) ปรับปริมาณการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการธาตุอาหารของพืชตามค่าวิเคราะห์ดิน 2) เพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่ม การสะสมคาร์บอนในดิน
การปรับเปลี่ยนชนิดพืชปลูกในระบบเกษตร นอกจากช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการนำวัตถุดิบหรือเศษวัสดุทางการเกษตรในชุมชนมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือ ปุ๋ยหมัก เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนสะสมในดินและในต้นไม้ที่ปลูก ที่สำคัญเป็นการลดต้นทุนการผลิตและลดปัญหาความเสื่อมโทรมของดินได้อีกด้วย
- การจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดการเผาและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ หรือข้าวนา เกษตรกรมักทำการเผาหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือเผาเพื่อการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ซึ่งในการเผาเศษวัสดุของข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ และข้าวนา จะมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกปล่อยออกสู่บรรยากาศ แต่หากเกษตรกรนำมาจัดการอย่างถูกวิธี เช่น ใช้เป็นวัสดุคลุมดินในการปลูกพืช หรือคลุมโคนต้นไม้ จะช่วยลดปริมาณการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกลง
เอกสารอ้างอิง
· Climate Watch (2023)
· องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
เขียน/ เรียบเรียงเรื่อง โดย นางสาวกมลทิพย์ เรารัตน์ และ นางสาวอลญา ชิวเชนโก้
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน