การจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยวิธีการต่างๆเพื่อช่วยลดฝุ่นควันพิษ PM 2.5
ข้าวโพดจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งผลผลิตจากข้าวโพดร้อยละ 95 ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์เพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี การปลูกข้าวโพดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรทั่วประเทศมากกว่า 404,641 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นทีปลูกทั่วประเทศมากกว่า 7.03 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นการปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย 3.30 ล้านไร่ ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมถึง 0.70 ล้านไร่ และปลูกในป่าอีกจำนวน 3.67 ล้านไร่ ผลผลิตจากข้าวโพดเฉลี่ย 4.70 ล้านตัน(เป็นผลผลิตข้าวโพดทั่วประเทศ) และมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 6.81 บาท/กิโลกรัม
ปัญหาสำคัญของการปลูกข้าวโพดนั้นไม่ได้มีเฉพาะเพียงแต่การปลูกข้าวโพดในพื้นที่บุกรุกป่าเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการจัดการเศษซังข้าวโพดที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพด ซึ่งวิธีการหนึ่งที่เกษตรกรใช้ในการจัดการเศษซังข้าวโพดก็คือ การเผาเศษซังข้าวโพดที่มีปริมาณมากมาย(เศษซังข้าวโพดหลังจากการสีเมล็ดเฉลี่ย 1.1 ตัน/ไร่) และในการเผาเศษซังข้าวโพดนี้เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปริมาณฝุ่นควันพิษ PM 2.5 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและผลเสียมีแนวโน้มทวีความรุนแรง ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คือ ต้นทุนสุขภาพ ข้อมูลของ State of Global Air รายงานว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 ถึง 32,200 คน หรือ 33.1 คนต่อประชากรแสนคน (TDRI, 2566 และ State of global air, 2020)
ฝุ่น PM2.5 เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง เช่น การเผาในที่โล่งแจ้งในชนบทและในป่า การขนส่ง การผลิตไฟฟ้าและโรงงาน เป็นต้น ส่วนแหล่งกำเนิดทางอ้อมที่เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น PM2.5 จะเกิดขึ้นมากในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูแล้ง (มกราคม-มีนาคม) ทั้งนี้เพราะความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง หรือมีลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี ฝุ่นควันจึงสะสมในอากาศ รวมทั้งสภาพอากาศแห้งที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่าง่ายอีกด้วย นอกจากนี้ ในเขตภาคเหนือยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิประเทศที่เป็นที่ราบล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ การสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงกว่าพื้นที่อื่น (TDRI, 2566) สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและผลเสียมีแนวโน้มทวีความรุนแรง ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คือ ต้นทุนสุขภาพ ข้อมูลของ State of Global Air รายงานว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 ถึง 32,200 คน หรือ 33.1 คนต่อประชากรแสนคน (TDRI, 2566 และ www.stateofglobalair.org)
จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะสุขภาพของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและกรมอนามัย พบว่า ค่าใช้จ่ายในการลด PM2.5, PM10 และ โอโซน ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องใช้งบประมาณถึง 4,324.97 ล้านบาท (สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, 2567
โดยในปี พ.ศ. 2566 พบว่า สถิติจุดความร้อนสะสม ปี 2566 จากดาวเทียม SUOMI (VIIRS) ช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยมีจุดความร้อน 341,448 จุด เกิดในพื้นที่เกษตร 32,854 จุด เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ มีจุดความร้อน 13,021 จุด เกิดในพื้นที่เกษตร 1,757 จุด และในอำเภอแม่แจ่ม มีจุดความร้อน 1,524 จุด เกิดในพื้นที่เกษตร 419 จุด และปัจจุบันมีแนวโน้มที่ปัญหาข้างต้นจะขยายตัวและรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากประชาชนประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้น ในขณะที่การประกอบอาชีพกำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางการค้าของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นผลให้ประชาชนยังคงประกอบอาชีพที่ไม่ถูกต้องและเกิดปัญหาการเผา หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและทันเวลา
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง” ที่มีลักษณะการดำเนินการเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบครบวงจรโดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้เหมาะสมกับพื้นที่ สมดุล และยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากผลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนา โดยเฉพาะ “การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างรายได้เพิ่มและยังช่วยลดการเผาในพื้นที่เกษตร โดยเริ่มจากการจำแนกประเภทการจัดการเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร ออกเป็นรูปแบบและวิธีการต่างๆที่เหมาะสมกับบริบท ของสภาพพื้นที่ใน 44 พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โดยการจัดการเศษพืชและวัสดุข้าวโพดที่เหลือทิ้งดังกล่าว ภายใต้ความร่วมมือของชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน ควบคู่กับการประยุกต์ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับปัญหาและบริบทภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ ในพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนภาคเหนือตอนบน
และจากผลการงานต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา(2567) ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดการเศษวัสดุที่เหลือทางการเกษตร รวมไปถึงเศษซังข้าวโพดในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบโครงการหลวงทั้ง 44 แห่ง โดยสามารถดำเนินการร่วมกับเกษตรกร 943 รายในพื้นที่ในการไถกลบในพื้นที่มากกว่า 11,029 ไร่ มีการจัดทำคันปุ๋ยหมักไปมากกว่า 1,030 ไร่ จัดทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายจากเศษซังข้าวโพดและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 1,948 ตัน(สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินมากกว่า 409.85tonC) มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 524 ราย และเข้าร่วมมาตรฐานการจัดการเชื้อเพลิงที่เหมาะสมตามประกาศของทางราชการ(เผาจัดการเศษพืชในช่วงเวลาที่เหมาะสม)จำนวน 2,000 ไร่ นอกจากนี้ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)ยังได้ศึกษาวิธีการจัดการเศษซังข้าวโพดด้วยวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรด้วยการทำชีวมวลอัดเม็ด เพื่อศึกษาถึงแนวทางและความเป็นไปได้ที่จะจัดการเศษพืชที่เหลือใช้ทางการเกษตรแบบครบวงจรต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
- กลุ่มงานกิจการพิเศษ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัด กระทรวงมหาดไทย.2560
- กลุ่มงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สำนักพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน).2567
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย นายภาคภูมิ ดาราพงษ์ และ นายอำพล สีบัณฑิตย์ งานส่งเสริมและพัฒนาการปรับปรุงดิน กลุ่มวิชาการและสนับสนุนงานพัฒนา สำนักพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน