บลูเบอร์รี่ “ราชาแห่งเบอร์รี่”
บลูเบอร์รี่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า สตรอเบอร์รี่และราสเบอร์รี่ถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีโพลีฟีนอลและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจำนวนมากที่ช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันโรคระบบประสาทเสื่อม หลอดเหลือดหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง จึงถูกยกให้เป็นราชาแห่งเบอร์รี่
บลูเบอร์รี่ (Blueberry) อยู่ในวงค์ Ericaceae สกุล Vaccinium มีประมาณ 450 ชนิดทั่วโลก มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ระบบรากลึกประมาณ 20 เซนติเมตร ผลผลิตบลูเบอร์รี่ที่จำหน่ายในประเทศไทยล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทำให้มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 600-1,300 บาท ด้วยข้อจำกัดในอดีตคือบลูเบอร์รี่ต้องการชั่วโมงความหนาวเย็นมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์ที่ไม่ต้องการความหนาวเย็นมากคือ 0-250 ชั่วโมง ทนทานต่อความแห้งแล้ง ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะอุณหภูมิและความชื้นสูง และมีดอกสมบูรณ์เพศสามารถผสมตัวเองได้ ซึ่งเป็นบลูเบอร์รี่ชนิด Southern highbush ลูกผสมระหว่าง Vaccinium corymbosum x V. darrowii เช่น พันธุ์ Misty พันธุ์ Biloxi และพันธุ์ Sharp blue และมีการนำพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาปลูกในประเทศไทย แต่การผลิตผลบลูเบอร์รี่สดในเชิงการค้ายังไม่แพร่หลายมากนัก บทความนี้จึงนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกบลูเบอร์รี่ในประเทศ ใช้วิธีการปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประณีต ใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง
การทดสอบปลูกบลูเบอร์รี่บนพื้นที่สูง โดยใช้ต้นกล้าจากกิ่งปักชำอายุ 5 เดือน จำนวน 3 พันธุ์คือ พันธุ์ Misty พันธุ์ Biloxi และพันธุ์ Sharp blue ปลูกในกระถางที่มีวัสดุปลูกดังนี้ พีทมอส/ดินสน แกลบดิบ หินภูเขาไฟ เพอร์ไลท์ ปุ๋ยอินทรีย์ อัตราส่วน 1 : 1 : 1 : ¼ : ½ และใช้กาบมะพร้าวสับรองก้นกระถาง ปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของวัสดุปลูกให้อยู่ระหว่าง 4.0–5.5 ทุกเดือนปลูกภายใต้โรงเรือนที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ หลังปลูก 1 ปี 4 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ 2565 - มิถุนายน 2566) พบว่าบลูเบอร์รี่ทั้ง 3 พันธุ์ ออกดอก 3 ช่วงเวลา คือเดือนมิถุนายน 2565 และพฤศจิกายน 2565 และกุมภาพันธ์ 2566 และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2565 มีนาคม 2566 และมิถุนายน 2566
การเจริญเติบโตของต้น พบว่าความสูงและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม่แตกต่างกันทางสถิติ (ภาพที่ 1 และ 2) แต่มีความกว้างทรงพุ่มแตกต่างกันทางสถิติ โดยบลูเบอร์รี่พันธุ์ Biloxi มีความสูงของต้นและความกว้างทรงพุ่มมากที่สุดคือ 137.22 เซนติเมตร (ภาพที่ 3 และภาพที่ 4)
ด้านผลผลิต พันธุ์ Biloxi ให้ผลผลิตมากที่สุด โดยมีปริมาณผลผลิตต่อต้น 951.60 กรัม ปริมาณผลผลิตต่อโรงเรือนขนาด 6 x 30 เมตร 165.58 กิโลกรัม มีน้ำหนักผล 1.22 กรัม ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) 11.28 เปอร์เซ็นบริกซ์ ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (TA) 1.77 เปอร์เซ็นต์และมีสัดส่วน TSS/TA 6.09
เคล็ดลับการให้น้ำ: อย่าให้น้ำขังเป็นเวลานาน ควรมีช่วงให้วัสดุปลูกแห้งสลับเปียก
เคล็ดลับการปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของวัสดุปลูก: ใช้น้ำส้มสายชูกลั่น 5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 10 มิลลิลิตรผสมน้ำ 1 ลิตรต่อกระถาง ใช้กำมะถันผงปริมาณ 30 กรัมต่อกระถาง ถ้าปลูกลงดิน 50 กรัมต่อตารางเมตร
การขยายพันธุ์: ปักชำ และตอนกิ่ง (ต้นกล้าที่ได้จะไม่กลายพันธุ์) เพาะเมล็ด และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (ต้นกล้าที่ได้มีโอกาสกลายพันธุ์)
อ้างอิง:
Caspersen, S., Svensson, B., Hakansson, T., Winter, C., Khalil, S., Asp, H., 2016. Blueberry-Soil interactions from an organic perspective. Sci. Hortic. 208, 78–91.
Gough, R.E. 1994. The highbush blueberry and its management. The Haworth Press, Binghamton, NY.
Jiang, Y., Li, Y., Zeng, Q., Wei, J., Yu, H., 2017. The effect of soil pH on plant growth, leaf chlorophyll fluorescence and mineral element content of two blueberries. Acta Hortic. 1180, 269–276.
Jiang, Y.Q., Zeng, Q.L., Wei, J.G., Jiang, J.F., Li, Y.J., Chen, J.B., Yu, H., 2019. Growth, fruit yield, photosynthetic characteristics, and leaf microelement concentration of two blueberry cultivars under different long-term soil pH treatments. Agronomy 9 (7), 13.
Kalt, W., C.F. Forney, A. Martin, and R.L. Prior. 1999. Antioxidant capacity, vitamin C, phenolics, and anthocyanins after fresh storage of small fruits. J. Agric. Food Chem. 47, 4638-4644. Doi: https://doi.org/10.1021/jf990266t
Retamales, J.B. and J.F. Hancock. 2012. Blueberries. CAB International, Wallingford, UK.
Stevenson, D. and J. Scalzo. 2012. Anthocyanin composition and content of blueberries from around the world. J. Berry Res. 2, 179-189. Doi: https://doi.org/10.3233/JBR-2012-038
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย :นางสาวปัณชพัฒน์ แจ่มเกิด และนางสาวสุชาดา ธิชูโต สำนักวิจัย สวพส.
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน