องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เจาะลึก....เส้นทางอะโวคาโด จากเมียนมาร์ถึงไทย

ระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นอะโวคาโดจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม เมียนมาร์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งในช่วงเวลาที่ตรงกับฤดูกาลของไทยและช่วงไม่มีผลผลิต มีทั้งราคาที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่า จึงส่งผลกระทบต่อผลผลิตอะโวคาโดของไทยเป็นอย่างมาก

เรามาเจาะลึกเรื่องราวของอะโวคาโดในเมียนมาร์ เพื่อนบ้านฝั่งขวาของไทยกันเลย...

อะโวคาโด...ไม่ใช่พืชที่มีถิ่นกำเนิดในเมียนมาร์ แต่มีการนำเข้ามาปลูกเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน เริ่มแรกปลูกที่เมืองพินอูลวิน (Pyin U Lwin) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของมัณฑะเลย์ (Mandalay) ตามแผนที่เมืองนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มีภูเขาล้อมรอบ ความสูงประมาณ 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงมีอากาศที่เย็น ส่วนปริมาณน้ำฝนมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับบ้านเรา คือ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี เมียนมาร์มีการขยายการปลูกอะโวคาโดไปยังรัฐฉาน (เมืองตองจี Taunggyi, Lashio) รัฐชิน รัฐคะฉิ่น รัฐกะยา และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศคล้ายกับเมือง

พินอูลวิน ฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางตุลาคม ที่สำคัญ...ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ต้นอะโวคาโดเจริญเติบโตและให้ผลผลิตคุณภาพดี 

ในปี พ.ศ. 2561 เมียนมาร์มีพื้นที่ปลูกอะโวคาโดมากกว่า 11,000 เอเคอร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 เอเคอร์ หรือ 63,250 ไร่ ผลผลิตมากกว่า 50,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มาจากการเพาะเมล็ด ซึ่งมีความหลากหลายมากกว่า 70 สายพันธุ์ และคัดเลือกจนเหลือ 10 สายพันธุ์สำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 180 วัน นอกจากนี้ยังมีพันธุ์แฮส (Hass) ที่นำพันธุ์มาจากนิวซีแลนด์ และรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยราคาภายในประเทศ อยู่ที่ 2,500-4,000 kyats หรือ 42-68 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากมีตำหนิ ตกเกรด ราคาจะลงเหลือ 500-1,000 kyats หรือ 8-17 บาท อย่างไรก็ตามการส่งออกทำให้การค้าขายอะโวคาโดได้ราคาสูงขึ้น เช่น ตลาดอินเดีย จีน มาเลเซีย UAE สิงคโปร์ และไทย ผ่าน The Myanmar Fruit, Flower, and Vegetable Producer and Exporter Association (MFVP) ภายใต้ชื่อ Amara Hass, Little Hopong, Aung Moe, Chin Princess และ Upland Queen ทั้งนี้แหล่งข่าวรายงานว่าปี 2564–2565 เมียนมาร์มีผลผลิตมากถึง 100,000 ตัน และส่งออกผ่านเส้นทางชายแดนมายังมณฑลยูนนานของจีนและไทยมากถึง 5,000–10,000 ตัน โดยเฉพาะพันธุ์แฮสที่สามารถจำหน่ายได้ 6,000-10,000 kyats หรือ 102 - 170 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่พันธุ์พื้นเมือง จีนมีความต้องการจำนวนมากในแบบคละพันธุ์ คละเกรด และคุณภาพ เพื่อเข้าสู่โรงงานผลิตเครื่องสำอาง ราคา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดการผลผลิตและขนส่งของเมียนมาร์ยังไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้การส่งออกอะโวคาโดไปอินเดียที่มีความต้องการ 1,000 ตัน ในปี พ.ศ.2566 ไม่สามารถดำเนินการได้ ประเทศไทยจึงเป็นตลาดเดียวของเมียนมาร์ที่มีการส่งออกมาตามแนวชายแดน ผ่านด่านท่าขี้เหล็กของเมียนมาร์เข้าทางด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากการตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการนำเข้าผลผลิตอะโวคาโด มากกว่า 2,500 ตัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ทั้งพันธุ์พื้นเมืองหรือที่เรียกกันว่าพันธุ์ตองจี และพันธุ์แฮส โดยจะขนส่งเป็นกระสอบมายังด่านและบรรจุใส่กล่องกระดาษ น้ำหนักเฉลี่ย 20 กิโลกรัมต่อกล่อง เมื่อถึงตลาดไท พันธุ์พื้นเมืองมีราคาขายส่ง 25-48 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ไทยไม่มีผลผลิตอะโวคาโด ส่วนพันธุ์แฮส ราคาเฉลี่ย 50-60 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ขณะที่ผลผลิตพันธุ์แฮสของไทยตามฤดูกาลช่วงเดือนกันยายนถึงมกราคมมีราคา 60 -100 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากขายปลีกผ่านออนไลน์ พันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ตองจีจะมีราคาสูงถึง 90-100 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว

ปัจจุบัน เมียนมาร์มีพื้นที่ปลูกอะโวคาโดรวม 152,500 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีการปลูกพันธุ์แฮสและพันธุ์ลูกผสมจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น โดยขยายพื้นที่ปลูกอะโวคาโดพันธุ์ดีบนพื้นที่ 20,000 เอเคอร์ หรือ 50,600 ไร่ ในเมืองโหปง (Hopong) แม้ว่าระบบการขนส่ง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตอะโวคาโด ยังเป็นเรื่องที่เมียนมาร์ต้องปรับปรุงพัฒนา แต่ด้วยปริมาณผลผลิตจำนวนหลักหมื่นตัน ย่อมส่งผลต่อผลผลิตอะโวคาโดในประเทศของไทยในอนาคตอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากการพัฒนาในเรื่องพันธุ์ การผลิตที่มีคุณภาพ การวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาส รู้เขารู้เรา เป็นสิ่งจำเป็นในการวางแผนการพัฒนาอะโวคาโดของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อยกระดับการผลิตอะโวคาโดของไทยให้มีมาตรฐานสูง สามารถรับรองคุณภาพผลผลิตตั้งแต่แปลงจนถึงผู้บริโภคได้


1.000 kyats = 0.017 บาท


อ้างอิง:

•              กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง. มิถุนายน 2564. รายงานสถานการณ์ภาพรวมสินค้าผลไม้ในประเทศเมียนมา

•              https://cnimyanmar.com/index.php/english-edition/20325-myanmar-avocado-exported-to-thailand-alone-this-year CNI News. February 10, 2024.

•              https://www.fao.org/3/X6902E/x6902e08.htm Avocado Production in Myanmar By U Aung Soe.

•              https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-primarily-export-hass-avocados-to-thailand-this-year/ Myanmar to primarily export Hass avocados to Thailand this year. November 09, 2023

•              https://www.gnlm.com.mm/2500-tonnes-of-myanmar-avocados-exported-so-far-to-thailand-single-market/  2500 tonnes of Myanmar avocados exported so far to Thailand, single market. January 08, 2024

•             https://www.producereport.com/article/myanmar-avocados-aim-enter-china-next-season Myanmar Avocados Aim to Enter China for Next Season. the Myanmar Fruit, Flower, and Vegetable Producer and Exporter Association (MFVP)


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : อัจฉรา ภาวศุทธิ์ และไฉไล กองทอง สำนักวิจัย สวพส.

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน