องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ระบบการปลูกพืชไร่ลด PM 2.5

หมอกควันในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน รวมทั้งตาก หมอกควันเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวก่อนเข้าสู่ ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีความกดอากาศสูง ทำให้การระบายอากาศในแนวดิ่งน้อย ฝุ่นละเอียดขนาดเล็ก จึงไม่ถูกพัดพาขึ้นสู่บรรยากาศระดับสูงขึ้นไป เกิดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ สาเหตุมาจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก โดยแบ่งสาเหตุออกเป็น 3 สาเหตุ ได้แก่ 1) การเกิดไฟป่า 2) การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรม การปลูกข้าวโพด และ 3) การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรมการปลูกไร่หมุนเวียน

การเผาจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า PM 2.5 (Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เมื่อทำการเปรียบเทียบกับเส้นผมโดยปรกติแล้วเส้นผมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 – 70 ไมครอน มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมจำนวน 20 - 28 เท่า

ผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านสุขภาพ เช่น โรคระบบทางเดิน หายใจกับกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และด้านเศรษฐกิจ คือ การยกเลิกเที่ยวบิน และปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลง

แนวทางการแก้ไขโดยการปรับระบบเกษตร

1.  การลดรอบปลูกข้าวไร่ด้วยระบบการปลูกข้าวหมุนเวียนพื้นที่กับพืชตระกูลถั่ว วิธีการนี้เป็นการลดรอบการปลูกข้าวไร่ จาก 7 ปี เหลือ 2 ปี โดยการปลูกหมุนเวียนกับพืชตระกูลถั่ว ส่งผลให้ผลผลิตข้าวมากกว่าการปลูกแบบหมุนเวียน 7 ปี เท่ากับ 658.9 และ 453.3 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ และยังช่วยลดการตัดฟันต้นไม้ และการเผาเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวไร่หมุนเวียนได้อีกทาง ชนิดถั่วที่เหมาะสมได้แก่ ถั่วแปะยี

ถั่วนิ้วนางแดง และถั่วดำ เป็นต้น

2. การปลูกข้าวโพดแซมด้วยพืชตระกูลถั่ว เป็นวิธีการปลูกข้าวโพดและปลูกแซมด้วยพืชตระกูลถั่วก่อนเก็บเกี่ยวข้าวโพดประมาณ 30 วัน ประโยชน์ที่ได้ เพิ่มปริมาณธาตุอาหารและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินจากการไม่เผา และพืชตระกูลถั่ว ลดการแพร่กระจายของวัชพืช ลดการชะล้างหน้าดิน เพิ่มผลผลิต และรายได้ ลดปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษซากพืช 

 

3.การปรับระบบเกษตรเชิงเดี่ยวสู่ระบบการปลูกพืชผสมผสาน เช่น ระบบการปลูกพืชไร่+โรงเรือน+ปศุสัตว์ ระบบการปลูกพืชไร่+ไม้ผล+โรงเรือน ระบบการปลูกพืชไร่+ไม้ผล+ปศุสัตว์ และการปรับเปลี่ยนพืชมาปลูกไม้ผล+ปศุสัตว์ เป็นต้น (https://www.hrdi.or.th/articles/Detail/1501)

4. ระบบการปลูกพืชตระกูลถั่วแซมกับไม้ผลยืนต้น เป็นระบบการปลูกพืช 2 ชนิด ในแปลงเดียวกันในช่วงที่ไม้ผลเจริญเติบโตในระยะแรก 1-3 ปี ก่อนให้ผลผลิต 



เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : อดิเรก ปัญญาลือ และธัญพิสิษฐ์ ใจแข็ง สำนักวิจัย สวพส.

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน