องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ไข่ไก่โอเมก้าสูงจากเมล็ดกัญชง ของดีราคาถูก

ก่อนจะไปรู้จักกับไข่ไก่โอเมก้าสูงนั้น ต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า “โอเมก้า” คืออะไรและมีความสำคัญกับมนุษย์ยังไง กรดไขมันโอเมก้านั้นจัดเป็นกลุ่มของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน หรือ PUFA (Polyunsaturated fatty acids) มีความสำคัญต่อร่างกายเนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องได้รับจากอาหารที่กินเท่านั้น กรดไขมันโอเมก้า มี 3 ชนิด ได้แก่ โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9

กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ดีต่อร่างกายของเรา เปรียบเสมือนสารอาหารพิเศษที่ช่วยให้เราแข็งแรง ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างโอเมก้า 3 ได้เอง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไปเท่านั้น โอเมก้า 3 ช่วยการพัฒนาของสมอง ระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน ช่วยเพิ่มไขมันดี ลดปฏิกิริยาการก่อภูมิแพ้ และการตอบสนองต่อระบบภูมิต้านทานร่างกายที่ไวเกิน ส่งผลดีต่อการเรียนรู้และความจำ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เพิ่มความสามารถในการคิด

โอเมก้า 3 มีอยู่สามประเภทหลักๆ ได้แก่ กรดอัลฟาไลโนเลนิก (ALA) กรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก (EPA) และกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือ ดีเฮชเอ (DHA) ที่เราอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง 

กรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-linolenic acid : ALA) คือกรดไขมันโอเมก้า 3 สายสั้นที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงาน ALA พบได้ในอาหารจากพืช เช่น เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย วอลนัท เมล็ดกัญชง และน้ำมันบางประเภท เช่น น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ และน้ำมันคาโนลา

กรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid : EPA) และกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic acid : DHA) เหล่านี้เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 สายยาวที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ง่ายกว่า มีประโยชน์ต่อหัวใจและการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ในขณะที่ DHA นั้นสำคัญต่อสมองและการมองเห็น EPA และ DHA ส่วนใหญ่พบใน ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า และปลาซาร์ดีน รวมทั้งในน้ำมันปลาต่างๆ

สรุปแล้ว แม้ว่า ALA, EPA และ DHA จะเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ทุกชนิด แต่ร่างกายกลับนำไปใช้ได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นการกินอาหารที่หลากหลายและให้สมดุล จะช่วยให้ร่างกายได้รับโอเมก้า 3 ที่จำเป็นได้ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าแหล่งของโอเมก้านั้นอยู่ในอาหารที่มีราคาแพง หรือหากินได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ทดสอบนำเมล็ดกัญชงมาผสมกับอาหารไก่ อัตราส่วน 5:95 (5%) ให้กับไก่ไข่กินเป็นระยะเวลา 150 วัน และนำไข่ที่ได้ไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโอเมก้า 3 6 และ 9 พบว่า ไข่ไก่จากแม่ไก่ที่ได้กินอาหารผสมเมล็ด กัญชง 5% มีปริมาณโอเมก้า 3 และ 6 มากกว่าประมาณ 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับแม่ไก่ที่ไม่ได้กินอาหารผสมเมล็ดกัญชง (กลุ่มควบคุม) ดังแสดงในตาราง


ข้อมูลอ้างอิง

  • https://www. Bigfridgeboy.com. "ความลับกรดไขมันโอเมก้า 3, 6, 9” มีดียังไง ทำไมต้องกิน?
  • https://www.ryt9.com. มารับประทานไข่โอเมก้า 3 กันเถอะ
  • https://www.khampo.com/articles/20/47/article.html

เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : นายสุคีพ ไชยมณี นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา 5 สำนักพัฒนา
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน