พันธุ์เจียบนพื้นที่สูง
เจีย (Chia Seeds) ชื่อวิทยาศาสตร์ Salvia hispanica L. ซึ่งอยู่ในวงศ์ Lamiaceae พืชกลุ่มเดียวกับกระเพรา โหรพา และแมงลัก เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว มีถิ่นกำเนิดอยู่ทวีปอเมริกาเหนือแทบประเทศเม็กซิโก - กัวเตมาลา เป็นต้น
ประเทศไทยมีการปลูกเจีย และมีการส่งออกเจียทั้งที่เป็นเมล็ดและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังประเทศต่างๆ จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และฟิลิฟินส์ (www.volza.com/p/chia-seeds/export/export-from-thailand)
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีการส่งเสริมการปลูกเจียตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 75 ไร่ ผลผลิตประมาณ 6 ตัน เกษตรกรมีการปลูกเจียโดยใช้พันธุ์ที่นำเข้ามาโดยบริษัทที่มาส่งเสริมในช่วงแรกๆ เป็นเจียชนิดเจียเมล็ดดำ ดอกม่วง ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 70 กิโลกรัม/ไร่ โดยทั่วไปเจียที่ปลูกในต่างประเทศ มีการรายงานว่าในประเทศจีนให้ผลผลิตเฉลี่ย 109 กก./ไร่ (Zhang et. al., 2023) และประเทศเยอรมันให้ผลผลิตเฉลี่ย 206 กก./ไร่ (Grimes et. al., 2018) เจียเป็นพืชผสมตัวเอง (self – pollination) เป็นพืชที่มีความหลากหลายของสีดอก จากการศึกษาพันธุ์เจียในประเทศเมกซิโกพบว่า เจียมีสีเมล็ดเพียง 2 สี ได้แก่สีดำ และสีขาว และสีของดอกพบมีความหลากหลายได้แก่ สีม่วง สีขาว สีชมพู สีชมพูอ่อน และสีแดง (Cahill and Provance, 2020)
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ทำการรวบรวมพันธุ์เจียที่มีการปลูกในประเทศไทยพบจำวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1) เจียเมล็ดสีขาว – ดอกสีขาว 2) เจียขาว – ดอกสีม่วง และ 3) เจียดำ – ดอกสีม่วง โดยพบความสูงลำต้น ระหว่าง 159.3 – 161.7 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ด พบระหว่าง 1.07 – 1.11 กรัม ผลผลิตระหว่าง 149.2 – 248.4 กิโลกรัมไร่ นอกจากนี้ได้วิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการ คือ ธาตุเหล็ก และโปรตีน พบว่ามีประมาณระหว่าง 7.8 – 15.3 มิลลิกรัม/100 กรัม) และ 21.46 – 22.20 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ดังตารางแสดงลักษณะและปริมาณธาตุอาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการ ของเจียแต่ละพันธุ์
การศึกษาในระยะต่อไปจะได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงรวมทั้งศึกษาวิธีการปลูก และการจัดการให้เหมาะสมกับการปลูกบนพื้นที่สูง เพื่อเป็นพืชทางเลือกในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงได้อีกทาง
เอกสารอ้างอิง
Cahill J. P. and Provance M. C., 2020. Genetics of Qualitative Traits in Domesticated Chia (Salvia hispanica L.). The Journal of Heredity 2002:93(1). 52-55.
Youxin Zhang , Yang Gao , Jialin Yu , Xueyang Min , Do-Soon Kim , Changji Jiang , Xuebing Yan , Chuan-Jie Zhang . 2023. Agronomic characteristics, insect pollinators, and seedbank persistence of a novel oilseed crop, chia (Salvia hispanica L.) in eastern China. Industrial Crops & Products 204 (2023) 117349. 1-5.
Samantha J. Grimes , Timothy D. Phillips , Volker Hahn , Filippo Capezzone andSimone Graeff- Hönninger . 2018. Growth, Yield Performance and Quality Parameters of Three Early Flowering Chia (Salvia hispanica L.) Genotypes Cultivated in Southwestern Germany. MDPI Agriculture 2018, 8, 154; 1-20.
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : นายอดิเรก ปัญญาลือ นักวิจัย และ นายธัญพิสิษฐ์ ใจแข็ง เจ้าหน้าที่โครงการ สำนักวิจัย
ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน