องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ลุบลิบ สมุนไพรถิ่นเมืองน่าน

ลุบลิบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phylacium majus Collett & Hemsl.

ชื่อวงศ์               : FABACEAE

ชื่ออื่นๆ              : อัญชันเถา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

เป็นไม้เลื้อยตระกูลถั่ว ลำต้น เป็นเถาขนาดเล็กคล้ายต้นอัญชัน ใบ เป็นใบประกอบมีจำนวน 3 ใบ ดอก ออกเป็นช่อ ช่อดอกมีกาบสีเขียวขนาดใหญ่หุ้มอีกชั้น ดอกเดี่ยวมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีชมพูอ่อน ผล ผลฝักยาว ผิวด้านนอกมีขนสั้นปกคลุม 

ถิ่นอาศัย : พบได้ตั้งแต่จีนตอนใต้-กลาง จีนตะวันออกเฉียงใต้ ชวา ลาว มาลายา เมียนมาร์ อินโดจีน มาเลเซีย นิวกินี ฟิลิปปินส์ ควีนส์แลนด์ สุลาเวสี สุมาตรา และประเทศไทย

นิเวศวิทยา : พบในป่าเขตร้อนที่แห้งแล้งตามฤดูกาล ป่าทึบ ทุ่งหญ้าที่เป็นป่า และพุ่มไม้เตี้ย ในประเทศไทย พบตามชายป่าเบญพรรณ ริมลำธาร ที่มีระดับความสูง 200-700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง แถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน และจันทบุรี

ข้อมูลวัตถุดิบพืชสมุนไพร :

มีปริมาณเถ้ารวม (Total ash) ร้อยละ 7.90 มีปริมาณสารสกัด (Extractive) ที่สกัดด้วยน้ำ ร้อยละ 21.40 และที่สกัดด้วย 95% เอทานอล ร้อยละ 10.60 

การใช้ประโยชน์ในชุมชนบนพื้นที่สูง :

ชาวบ้านบ้านน้ำหลุ (ชนเผ่าขมุ) ในพื้นที่ดูแลของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ อ.สองแคว จ.น่าน

- นิยมนำสมุนไพรลุบลิบ ส่วนเถาหรือลำต้นเหนือดินทั้งลำต้น ใบ และดอก มาตากแห้งมัดเป็นกำจำหน่ายในชุมชนชุดละ 20-25 บาท (ประมาณ 200 กรัม) ใช้ชงหรือต้มน้ำร้อนดื่มแทนน้ำเป็นชาสมุนไพร เชื่อว่าช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงน้ำนม และขับปัสสาวะ

- หรือนำไปเป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้านร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 3 ชนิด ได้แก่ ฮ่อสะพายควาย (Sphenodesme Sp.) หางเอี่ยน (Millettia sericea (Vent.) Wight & Arn. Ex Hassk.) และฝาง (Caesalpinia sappan L.) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น ใช้ต้มน้ำร้อนดื่มแทนน้ำเป็นยาพื้นบ้าน เชื่อว่าช่วยบำรุงสุขภาพ แก้ปวดเมื่อย ลดไข้ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับประจำเดือน แก้หอบหืด แก้ไขข้ออักเสบ ขับปัสสาวะ และบรรเทาอาการไอ

การใช้ประโยชน์อื่นๆ : ใช้รักษาโรคเก๊าท์

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรลุบลิบ ระดับชุมชน :

ปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำหลุ ได้ยกระดับสมุนไพรและยาพื้นบ้านของตนเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับรักษาสุขภาพ 2 รายการ โดยพัฒนาเป็นผลิตชาชงแบบซองเพื่อให้สะดวกใช้กับคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปมากยิ่งขึ้น และสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนท้องถิ่น ได้แก่

1.      ชาชงลุบลิบ : ที่ประกอบด้วยต้นลุบลิบ 100 %

2.      ชาชงสมุนไพรลุบลิบ : ที่ประกอบด้วยสมุนไพร 4 ชนิด (ต้นลุบลิบ เถาฮ่อสะพายควาย เถาหางเอี่ยน แก่นฝาง) 

เอกสารอ้างอิง

เกษตรพอเพียงดอดคอม. ต้นนี้ใช่ต้น "ลุบลิบ". http://www.kasetporpeang.com/forums/index. php?topic=102155.0.

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 2566. โครงการศึกษาและคัดเลือกพืชสมุนไพรบนพื้นที่สูงที่มีศักยภาพในการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน.

Forest Herbarium Department of National Parks. 2017. Threatened Plants in Thailand. Wildlife and Plant Conservation Bangkok, Thailand. 224 p.

Kew Royal Botanic Gardens. Phylacium majus Collett & Hemsl. https://powo.science. kew. org/ taxon /urn:lsid:ipni.org:names:514237-1 และ https://powo.science.kew.org/taxon/ urn:lsid:ipni.org:names:23222-1.

Wikipedia The Free Encyclopedia. Phylacium. https://en.wikipedia.org/wiki/Phylacium.


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : อัปสร วิทยประภารัตน์ และพชรธิดา ชมพูทา สำนักวิจัย

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน