องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

หัวใจสำคัญของการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลเกษตรบนพื้นที่สูง

ผลิตผลทางการเกษตรที่มีการจัดการไม่ดีตั้งแต่ขณะเก็บเกี่ยวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลิตผลเสียหาย เสื่อมคุณภาพได้ง่าย เกิดการสูญเสียได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตลอดทุกระยะของการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การคัดเกรด ขนส่ง เก็บรักษา และวางจำหน่าย ปริมาณการสูญเสียสูญเสียผันแปรไปตามชนิดของผลิตผล เริ่มจาก วิธีการเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งวิธีการขนส่ง ระยะทางความใกล้ไกลของแหล่งผลิต ระยะเวลาการขนส่ง และฤดูกาล เป็นต้น ดังนั้นผลิตผลชนิดต่างๆ จึงต้องได้รับการวางแผนการผลิต และดูแลรักษาเป็นอย่างดีตั้งแต่อยู่ในแปลงปลูก เก็บเกี่ยวในระยะที่ถูกต้องตามดัชนีการเก็บเกี่ยว ผลิตผลมีความบริบูรณ์พอเหมาะตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การปฏิบัติขณะเก็บเกี่ยวและภายหลังการเก็บเกี่ยวต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ทำให้ผลิตผลเกิดความเสียหาย (จริงแท้, 2544)

ประเด็นสำคัญของการลดการสูญเสียสามารถทำได้ด้วยการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องเหมาะสมกับชนิดและบริบทพื้นที่ รวมทั้งยึดหลักหัวใจสำคัญของการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลเกษตร 3 ประการ ได้แก่

1.เร็ว คือ การลดระยะเวลาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว วางแผนการเก็บเกี่ยวตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงจัดส่งให้ลูกค้าโดยใช้ระยะเวลาให้สั้นที่สุด เพื่อให้คุณภาพใกล้เคียงผลิตผลที่เก็บเกี่ยวใหม่ๆ

2.เย็น คือ ไม่ทำให้ผลิตผลอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงภายหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลมาแล้ว

ถ้าเป็นไปได้ควรลดความร้อนทันทีโดยใช้น้ำเย็นหรืออากาศเย็น หากไม่มีควรวางผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้วไว้ในที่ร่มตลอดเวลา เช่น ใต้ต้นไม้ เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตผลมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิดการสูญเสียน้ำมากและเหี่ยวในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการหายใจและกระบวนการเมแทบอลิซึมให้ช้าลง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดกลิ่นที่ผิดปกติในผลิตผลบางชนิดได้

3. ลดขั้นตอน คือ การลดการสัมผัสเพื่อลดการสูญเสียผลิตผลเกษตร โดยคัดแยกคุณภาพหรือเกรดตามที่ลูกค้าต้องการไว้เป็นกลุ่มๆ และพยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายผลิตผลจากภาชนะบรรจุหลายครั้ง ซึ่งหากเป็นไปได้ควรบรรจุผักให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ในแปลง 


นอกจากนี้การสำรวจการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวที่เกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนย้ายผลผลิตในโซ่อุปทาน จะทำให้ทราบสาเหตุและตำแหน่งในโซ่อุปทานที่ทำให้เกิดการสูญเสีย ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนปรับปรุงกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผล เพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการจัดการผลิตผลเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต (ดนัย, 2558)


เอกสารอ้างอิง

จริงแท้ ศิริพานิช. 2544. สรีรวิทยาและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้. ภาควิชาพืชสวนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ. 396 หน้า.

ดนัย บุณยเกียรติ. 2558. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักบนพื้นที่สูง. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 153 หน้า.


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : นางสาวจิราวรรณ ปันใจ และนายชัยพิชิต เชื้อเมืองพาน


ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน