นวัตกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มโอกาสให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่สูง การขับเคลื่อนงานบนพื้นที่สูงด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัย กรณีศึกษา “บ้านปางแดงใน"
นวัตกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มโอกาสให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความยากจน ได้รับการพัฒนาจากภาครัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม มีสิทธิเข้าถึงองค์ความรู้จากโครงการหลวง และองค์ความรู้นวัตกรรมจากงานวิจัย นำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีจากงานวิจัยบนพื้นที่สูง และขยายผล พัฒนาไปสู่การสร้างสิทธิของชุมชนบนพื้นที่สูงต่าง ๆ และการเรียนรู้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
“บ้านปางแดงใน”
ด้วยสภาพปัญหาจำเพาะของพื้นที่บ้านปางแดงในที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจน พื้นที่ทำเกษตรจำกัด ความสูง 500-1000 MSL สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม การทำการเกษตรเชิงเดี่ยว (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่) บุกรุกพื้นที่ป่า (โดยการปลูกข้าวโพด จำนวน 908 ไร่) เผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร มีการใช้สารเคมีสูง รวมถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม วิถีชุมชน จึงนำไปสู่การใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ และเพิ่มเติมองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยบนพื้นที่สูงเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับการพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และให้เกิดความยั่งยืน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน เช่น การปลูกข้าวโพดโดยไม่ไถพรวนร่วมกับการปลูกพืชตระกูลถั่วไปประยุกต์ใช้เพื่อลดการเผา การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงข้าวโพดด้วยการปลูกเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปลูกพืชไร่ร่วมกับไม้ผล (องุ่น เสาวรสหวาน อะโวคาโด มะม่วง) การปลูกผักในโรงเรือน การทำปศุสัตว์ (สุกรสายพันธุ์พื้นเมืองแท้และพื้นเมืองลูกผสมเหมยซาน ไก่พื้นเมือง) การปลูกพืชท้องถิ่นสร้างรายได้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นธนาคารอาหารของชุมชนและเป็นสีย้อมธรรมชาติจากพืชท้องถิ่นที่ปลูกในพื้นที่จำนวน 20 ชนิด ได้สีย้อมจำนวน 12 สี รวมทั้งพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ใน การขับเคลื่อนการพัฒนา เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาชุมชน การมีเครื่องหมายการค้า “ปางแดงใน” ยกระดับตลาดออนไลน์สินค้าบนพื้นที่สูง สร้าง Storytelling ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่น่าสนใจ เป็นที่น่าจดจำ รวมถึงการทดสอบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเศษผ้าเหลือทิ้ง (Upcycle) มาทำเป็นพวงกุญแจปักลวดลายตามวัฒนธรรมของชาวดาราอั้ง เพื่อเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงาน
1. ด้านอาชีพภาคการเกษตร
- การพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำผลการวิจัยที่สำเร็จแล้วส่งเสริมสู่เกษตรกรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเป็นผลงานจากการวิจัยในการปรับระบบการทำการเกษตร จากเดิมที่เกษตรกรปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากการปลูกข้าวโพดเพียงชนิดเดียว เฉลี่ยไร่ละ 2,974 บาท เมื่อปลูกพืชตระกูลถั่วเหลื่อมข้าวโพด จะทำให้มีรายได้จากถั่วเพิ่มขึ้นอีกไร่ละประมาณ 1,505 บาท นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้ปุ๋ยหมักจากตอซังข้าวโพดและเศษจากต้นถั่ว ลดการพังทลายของหน้าดิน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย
- การส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้โครงการหลวง เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกใหม่ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างเร็ว การปลูกไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว เสริมด้วยองค์ความรู้ และนวัตกรรมจากงานวิจัยด้านพันธุ์พืช เช่น พันธุ์องุ่น เสาวรสหวานปลอดโรค พันธุ์สัตว์ เช่น พันธุ์สุกร สายพันธุ์พื้นเมืองแท้และพื้นเมืองลูกผสมเหมยซาน ไก่พื้นเมือง และผลงานวิจัย เทคนิค เทคโนโลยีการผลิตพืชและสัตว์ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ และพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ เพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม โดยใช้แผนที่ที่ดินรายแปลง เป็นเครื่องมือในการวางแผนการปลูกพืชร่วมกับชุมชน ควบคู่กับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน