แม่จริม...ชุมชนตัวอย่างการจัดการด้านการตลาดโดยสถาบันเกษตรกร
หากจะกล่าวถึงกลุ่มชุมชนที่มีการบริหารจัดการด้านการตลาดโดยสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยแม่จริม โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อ สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาอาชีพของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน จากการรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนจำนวน 6 หมู่บ้าน โดยมีกิจกรรมการซื้อขายปัจจัยการผลิตการเกษตร ซื้อขายผัก ผลไม้ โดยมีการดำเนินการโดยใช้รูปแบบของสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ต่อมาในปี พ.ศ.2560 หลังจากดำเนินกิจกรรมผลิตและส่งผักจำหน่ายเป็นระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มมีสมาชิกและกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น ทางคณะกรรมการและสมาชิกจึงมีมติเห็นควรให้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 มีสมาชิกจำนวน 112 คน มีคณะกรรมการบริหารงานจำนวน 9 คน และมีเงินหมุนเวียนของกลุ่ม จนถึงปัจจุบัน จำนวน 350,678 บาท โดยมีการดำเนินกิจกรรมหลัก คือ การจัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่าย และการรวบรวมผลผลิตจำหน่าย ทั้งนี้ลักษณะการทำธุรกิจของกลุ่มไม่ได้เน้นกำไร แต่เป็นการอำนวยความสะดวกและคืนกำไรให้เกษตรกรพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ให้สามารถพอมีพอกิน แต่ทางกลุ่มก็ยังประสบปัญหาในเรื่องการถูกกดราคาผลผลิตจากผู้รับซื้อเนื่องจากมีการส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง ด้วยเหตุนี้ทางคณะกรรมการกลุ่มฯจึงได้มีการประสานกับทางบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด สาขาน่าน เพื่อส่งผลผลิตจำหน่ายให้โดยตรง ซึ่งในระยะแรกจะมีปัญหาในเรื่องของแผนการผลิตการส่งมอบผลผลิตและเรื่องของมาตรฐานสถานที่ผลิต แต่ทางสมาชิกในกลุ่มก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา โดยมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้กลุ่มสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ จนถึงในปีพ.ศ.2561 ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทเวสคอน ในการปรับปรุงอาคารรวบรวมผลผลิตเดิมพัฒนาให้เป็นโรงรวบรวมผลผลิตและคัดบรรจุ จนปัจจุบันได้รับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตอาหาร(GMP) ของกระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยแม่จริม มีการบริหารและขับเคลื่อนงานโดยคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก โดยได้รับคำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการและการดำเนินงานจากนักวิชาการประจำพื้นที่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและนักวิชาการรายสาขาของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คอยเป็นพี่เลี้ยงในการติดตามให้คำแนะนำ โดยการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ นำผลการศึกษาเรื่องการจำหน่ายและการบริโภคพืชผักภายในจังหวัดน่าน มาวางแผนการผลิตและการตลาด โดยชุมชนทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานด้านการตลาดผ่านสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยมีคณะกรรมการกลุ่มเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมต่างๆทั้งหมด อาทิเช่น การวางแผนการผลิตและการตลาด จัดหาปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิก ควบคุมการผลิตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP) ติดตามและให้คำแนะนำในแปลง การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในผลผลิต การคัดบรรจุ การขนส่งผลผลิตไปสู่ผู้ซื้อ ตลอดจนการติดต่อประสานกับผู้ซื้อเพื่อติดตามการคืนเงิน โดยได้มีการนำเทคโนโลยี LINE เข้ามาช่วยในการติดต่อประสานงานระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม คณะกรรมการกลุ่มกับลูกค้า เพื่อให้การติดต่อประสานงานรวดเร็วยิ่งขึ้น
จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีเงินทุนหมุนเวียน 350,678 บาท มีปริมาณการซื้อขาย 3.3 ล้านบาท/ปี โดยมีช่องทางการตลาดสำคัญ 5 ตลาด คือ แมคโคร สาขาน่าน บริษัทคิงเฟรชฟาร์ม บริษัทเวสคอน ตลาดในจังหวัดน่าน และตลาดวัดโป่งคำ โดยมีสัดส่วนการตลาด 48% 24% 8% 12% และ 8% ตามลำดับ ทั้งนี้จากดำเนินงานภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกลุ่ม นับได้ว่ามีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมเป็นอย่างดี สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถลดปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลางที่เอาเปรียบเรื่องราคารับซื้อผลผลิต เนื่องจากทางกลุ่มฯเป็นผู้รวบรวมผลผลิตและจัดส่งโดยตรง จึงสามารถช่วยให้สมาชิกมีอำนาจในการต่อรองราคาผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตของกลุ่มฯ ยังเป็นผลผลิตที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ซื้อ เนื่องจากกลุ่มฯมีระบบ/ขั้นตอนการควบคุมการผลิตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัยและผ่านกระบวนการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจากห้องปฏิบัติการของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริมทุกครั้ง ก่อนนำไปจำหน่าย รวมถึงมีสถานที่ผลิตที่ได้มีการรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตอาหาร (GMP) ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งกระบวนการนี้สามารถแก้ปัญหาด้านการตลาดได้เป็นผลสำเร็จ ช่วยให้สมาชิกและเกษตรกรในชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ทางกลุ่มก็ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาในระยะต่อไป ได้แก่
- การขอรับสนับสนุนห้องเย็น เพื่อเก็บรักษาผลผลิตหลังจากบรรจุก่อนนำส่งให้กับลูกค้า เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมามีปัญหาผลผลิตหลังบรรจุที่รอจัดส่งในเช้าวันถัดไปเกิดความเสียหาย
- การขอรับการสนับสนุนเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิ ในห้องตัดแต่งและรักษาคุณภาพผลผลิต
จะเห็นได้ว่าทางกลุ่มมีการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการบริหารจัดการผลผลิตเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการลูกค้า ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยแม่จริม ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม เป็นสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งเป็นตัวอย่างที่สามารถบริหารจัดการด้านการผลิตและตลาดด้วยตนเอง รวมถึงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในการบริหารจัดการด้านตลาดให้กับพื้นที่ที่สนใจใกล้เคียง
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: มนัส กุณนา /สุพัตรา ค้าขาย