องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

สูงอายุปางปุกสร้างสุขอย่างสมวัย

“ผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุ” คำที่ใครๆ ก็รู้จัก และแทบทุกครัวเรือนมีการอาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย รวมถึงใครอีกหลายคนกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ให้ นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” หมายถึง ประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงกับนิยามผู้สูงอายุของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546

สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นอย่างไร?

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งหมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) นั่นเอง 

ประชากรบนพื้นที่สูงของประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วหรือยัง?

จากการศึกษาโครงสร้างประชากรบ้านปางปุก ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน พบว่าบ้านปางปุกมีประชากร 231 ครัวเรือน อยู่จริงในหมู่บ้านจำนวน 692 คน เป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 183 คน คิดเป็น 26% ของจำนวนประชากรที่อยู่จริง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

กลุ่มผู้สูงอายุบ้านปางปุกสร้างสุขได้อย่างไร?

กลุ่มผู้สูงอายุบ้านปางปุกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2545 ปัจจุบันมีนางสุภาพ ใหม่จันทร์ดี อายุ 76 ปี เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 183 คน มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ช่วยสร้างสุขอย่างสมวัยของผู้สูงอายุที่เชื่อมโยงกับการสืบสานภูมิปัญญาของชุมชนไทลื้อและการสร้างอาชีพเสริม ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร การผลิตดอกไม้จันทน์ บายศรี และอาหารพื้นบ้าน รวมทั้งการดูแลสุขภาพ โดยมีพื้นที่ การเรียนรู้ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจที่วัดปางปุก โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการทำกิจกรรมของกลุ่ม คือ การใช้เวลาในช่วงที่ลูกหลานไปทำงานนอกบ้านให้เกิดประโยชน์ การมีสังคมของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทำให้ร่างกายได้ขยับและช่วยลดปัญหาการเกิดโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น โรคซึมเศร้า โรคความจำเสื่อม เป็นต้น กลุ่มผู้สูงอายุบ้านปางปุกกล่าวว่า...

“ถึงแม้ผลตอบแทนที่ได้จะน้อยไม่ถึงหลักพันหลักหมื่น แต่สิ่งที่ได้มากกว่าผลตอบแทนที่เป็นเงิน คือ สุขภาพกายที่แข็งแรงและความสุขทางใจจากการได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน ได้กินข้าวด้วยกัน และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน”

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีการออมเงินกับสถาบันการเงินชุมชนซึ่งมีที่ทำการอยู่ในหมู่บ้าน ปัจจุบันมีสมาชิก 70 คน มีเงินออมประมาณ 500,000 บาท ได้ดอกเบี้ยตามอัตราของธนาคาร เงินบางส่วนของกลุ่มให้สมาชิกกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย 6% ต่อปี ซึ่งข้อดีของการมีสถาบันการเงินชุมชน คือ ความสะดวกในการเดินทางไปเบิก-ถอนเงิน รวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้จากการให้สมาชิกกู้ยืมยังนำมาเป็นเงินปันผลให้แก่สมาชิกกลุ่ม ให้เป็นทุนการศึกษาแก่เด็กในชุมชน จัดซื้อของที่ระลึกให้สมาชิกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น

อายุไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขที่แสดงถึงความแก่ แต่อายุแสดงถึงระยะเวลาที่ได้สะสมประสบการณ์ที่มีคุณค่าและการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างรายได้เสริม แต่เป็นการสร้างสุขอย่างสมวัยด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต





เรื่องและภาพ : ณัฐวรรณ  ธรรมสุวรรณ์ สมบัติ สารใจ และณิรินทร์พัชร์ ชยวงศ์ธร