องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เทคนิคการใช้ผึ้งและชันโรงเพื่อลดต้นทุนการผสมเกสรเมล่อนในโรงเรือน

เมล่อน (Musk melon) Cucumis melo L. พืชส่งเสริมทางเลือกใหม่ ที่สามารถปลูก-เก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ในระยะเวลาสั้น  1 ฤดูกาลปลูกโดยเฉลี่ย 90 วัน และให้ผลตอบแทนในราคาสูง โดยในปี พ.ศ. 2561-2564 เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเมล่อน 123,296, 175,405, 393,390 และ 450,705 บาท ตามลำดับ เมล่อนพันธุ์ที่นิยมปลูกบนพื้นที่สูงเป็นพันธุ์ที่สามารถทนทานต่อสภาพอากาศในเขตร้อนได้ดี ได้แก่ พันธุ์บารมี และพันธุ์แสนหวาน (ตาข่ายสีส้ม) พันธุ์สารคาม และพันธุ์จันทร์ฉาย (ผิวเรียบสีส้ม) เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการปลูกเมล่อนยังใช้พื้นที่น้อยโดยนิยมปลูกในระบบโรงเรือน ป้องกันแมลงวันทอง Drosophila melanogaster หรือแมลงวันผลไม้ Bactrocera dorsalis ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้เมล่อนเป็นพืชที่นิยมปลูกและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงเป็นอย่างมาก

ปัจจัยที่สำคัญในการปลูกเมล่อนในโรงเรือน คือการผสมเกสร เนื่องจากการปลูกในโรงเรือนนั้นสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผสมตามธรรมชาติ เช่น ลม หรือแมลงผสมเกสรอื่นๆ ไม่สามารอยู่อาศัยในโรงเรือนได้ จึงต้องเพิ่งปัจจัยแรงงานคนในการผสมเกสรโดยใช้เวลาในการผสมเกสร 5-7 วัน/ฤดูปลูก/โรงเรือน (จำนวน 350-400 ต้น/โรงเรือน) ใช้เวลา 3 ชั่วโมง/วัน (เวลา 8.00 น. -11.00 น.) ค่าจ้างแรงงาน คนละ 250-300 บาท/คน/วัน และใช้แรงงานคน 2-3 คน/วัน/โรงเรือน ทำให้มีต้นทุนด้านแรงงานเฉลี่ย 3,750 – 5,250 บาท/โรงเรือน/1 ฤดูกาลปลูก ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สูง ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการใช้ผึ้งและชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรในหลายพืช ได้แก่ ลำไย ทุเรียน สตรอว์เบอร์รี ฟักทอง บัตเตอร์นัท พืชตระกูลแตง และอาโวกาโด เป็นต้น ทำให้พืชมีประสิทธิภาพในการผสมเกสรได้มากกว่า 75-90% ดังนั้นหากมีการใช้ผึ้งหรือชันโรงเพื่อช่วยในการผสมเกสรเมล่อนในระบบโรงเรือน อาจจะสามารถลดต้นทุนด้านแรงงานและเพิ่มคุณภาพให้กับผลผลิตให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้

จากการศึกษาการใช้ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง และชันโรง ในการช่วยผสมเกสรเมล่อนในโรงเรือน ปลูกเมล่อนจำนวน 350-400 ต้น/โรงเรือน วางผึ้งหรือชันโรง 1 ลัง/โรงเรือน เป็นเวลา 7 วัน พบว่า ผึ้งและขันโรงจะเริ่มบินเข้าหาเกสรเมล่อนเพศเมียในช่วงเวลา 7.00 น. เกสรเพศผู้จะบานหลังเพศเมียเวลา 8.00 น. และจะเริ่มขบวนการการผสมเกสรในเวลา 8.00-11.00 น. และสามารถผสมเกสรได้เพียงนี้เวลานี้เท่านั้น ในการศึกษาพบว่า ผึ้งโพรง บินออกหาอาหารต่อวันมากที่สุด อยู่ที่ 11.17 ± 0.08 ตัว/ชม/วัน รองมาได้แก่ ผึ้งพันธุ์ และชันโรง เท่ากับ 9.05 ± 5.21 และ 05.45 ± 1.22 ตัว/ชม/วัน ตามลำดับ

เวลาในการเริ่มต้นและสิ้นสุดการออกหาอาหารพบว่า ผึ้งโพรงจะบินหาอาหารสอดคล้องกับช่วงระยะเวลาของดอกเมล่อนบานและออกหาอาหารในระยะเวลายาวนานมากกว่า โดยจะออกบินช่วงเวลา 06.10 น. และสิ้นสุดที่เวลา 18.05 น. รองลงมาได้แก่ผึ้งพันธุ์และชันโรงที่ 08.24 น. - 17.04 น. และ 09.45 น.- 16.15 น. ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกบินหาอาหารสัมพันธ์กับช่วงเวลาดอกเมล่อนบานคือช่วงเวลา ตั้งแต่ 06.45 - 12.35 น. นอกจากนี้ยังพบว่าผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง และชันโรงจะเริ่มออกผสมเกสรได้มากที่สุดอยู่ในช่วงเวลา เวลา 09.00 - 10.00 น. โดยพบว่าผึ้งโพรงสามารถบินเขาหาดอกเมล่อนได้มากที่สุดอยู่ที่ 12.05 ± 1.40 - 10.55 ± 1.24 ตัว รองลงมาคือผึ้งพนันธุ์และชันโรง เท่ากับ 5.25 ± 2.45 - 7.00 ± 2.20 และ 1.00 ± 1.10-3.00 ± 0.80 ตัว ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

ผลการศึกษาการใช้ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง และชันโรง เพื่อผสมเกสรเมล่อนในระบบโรงเรือน เมล่อนจำนวน 390-400 ต้น หลังวางผึ้ง 7 วัน พบว่าการใช้ผึ้งโพรงเพื่อช่วยผสมเกสรมีผลทำให้มีการผสมเกสรเมล่อนติด 100% ไม่แตกต่างกับการใช้แรงงานคนผสม รองลงมาได้แก่ การใช้ผึ้งพันธุ์ และการใช้ชันโรง โดยทำให้เกิดการผสมเกสรติด 81.97 และ 35.00% ตามลำดับ (ตารางที่ 2 ภาพที่ 2-4)

ในการใช้ผึ้งหรือชันโรงเพื่อผสมเกสรเมล่อนระบบโรงเรือน ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากว่าสภาพอากาศแปรปรวน เช่น มีฝนตก อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงกะทันหัน มีพายุหรือมีฝนตกนอกฤดูกาล อาจะส่งผลให้ผึ้งหรือชันโรงไม่สามารถบินออกจากรังและผสมเกสรได้ เนื่องจากพฤติกรรมผึ้งหรือชันโรงจะพยายามควบคุมอุณหภูมิภายในรังให้สูงหรืออบอุ่นอยู่เสมอและไม่บินออกหาอาหาร นอกจากนี้หากเกสรเมล่อนไม่ออกดอกหรือดอกบานไม่บานพร้อมกัน เกสรเพศเมียออกดอกบานเกินข้อที่ 9-10 เกษตรกรก็จะไม่สามารถปล่อยทิ้งให้เกิดการติดผลเกินข้อที่ 9 ดังนั้นก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการผสมเกสรโดยการใช้ผึ้งได้

ต้นทุนการผลิตเมล่อนโดยใช้ผึ้งและชันโรงผสมเกสร

         จากการทดสอบการใช้ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ช่วยผสมเกสรเมล่อนในระบบโรงเรือนพบว่า การใช้ผึ้งโพรง ผึ้งพันธุ์ ชันโรง มีผลทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการจ้างเหมาแรงงานคนในการผสมเกสร ในกรณีที่มีการเช่ารังผึ้ง โดยข้อมูลอัตราการเช่ารังผึ้งจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ อัตราการเช่ารังผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ราคา 150 บาท/รัง และชันโรง อัตราการเช่ารังราคา 100 บาท/วัน ทำให้เกิดต้นทุนการเช่ารังผึ้งและผึ้งโพรงอยู่ที่ 1,050 บาท/ฤดูกาลปลูก และชันโรง เท่ากับ 700 บาท/ฤดูกาลปลูก ส่วนค่าแรงงานตามค่าแรงในพื้นที่ฯ อัตราค่าจ้างเหมาแรงงานอยู่ที่ 250-300 บาท/วัน และมีการจ้าง 2-3 คน/ฤดูกาลปลูก หรือช่วง 7 วัน ต้นทุนการผลิตช่วงผสมเกสรอยู่ที่ 3,600 – 5,250 บาท (ตารางที่ 3)


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: ธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล