องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“ข้าว 2 เมตร” จาก “ข้าว 1 เมล็ด”

“ข้าว 2 เมตร” จาก “ข้าว 1 เมล็ด”

เขียนและเรียบเรียงโดย จันทร์จิรา รุ่งเจริญ นักวิจัย สำนักวิจัย สวพส. และณัฐธยาน์ สุริยวงศ์ เจ้าหน้าที่โครงการฯ


“ข้าวดอย” คือ คำเรียกสั้นๆ ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหรือข้าวท้องถิ่น ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงของไทย ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้รวบรวม อนุรักษ์พันธุ์ข้าวดอยมากกว่า 400 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีรูปร่างลักษณะของเมล็ด เนื้อสัมผัส และมีรสชาติที่แตกต่างกัน เกษตรกรแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีภูมิปัญญาการปลูกข้าวและสืบทอดพันธุ์ข้าวต่อกันมาหลายชั่วรุ่นจึงก่อเกิดเป็นภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับข้าว แต่ปัจจุบันพันธุ์ข้าวดอยบางพันธุ์เริ่มสูญหายหรือไม่นิยมปลูกสาเหตุเนื่องจากให้ผลผลิตต่ำ ไม่อร่อย อ่อนแอต่อโรค/แมลง อายุยาวเกินไป ต้นสูงเกินไปหักล้มง่าย ฯลฯ ตัวอย่างเช่น พันธุ์ดอขาวและพันธุ์ดอลาย เป็นพันธุ์ข้าวเหนียว ปลูกในสภาพนา แหล่งปลูกหรือที่มา คือ บ้านห้วยวังหลวง พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ มีระดับความสูงพื้นที่ 525-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งนำมาปลูกอนุรักษ์และฟื้นฟู ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ ซึ่งในอดีตข้าวทั้งสองพันธุ์นี้เกษตรกรนิยมปลูกสำหรับเป็นอาหารสัตว์

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาพันธุ์ข้าวดอขาวและดอลาย

ข้าวดอขาว ความสูงต้นข้าว 180-200 เซนติเมตร ลักษณะทรงกอตั้ง มีปล้องสีเขียว แผ่นใบสีเขียว ใบมีขนมาก ลิ้นใบมีลักษณะแหลม มุมใบธงตั้งตรง เมล็ดข้าวเปลือกมีสีฟางเข้ม เมล็ดมีลักษณะสั้นป้อม เมล็ดมีขนหรือระคาย เมล็ดข้าวกล้องสีขาวขุ่น ผลผลิตโดยเฉลี่ย 400-500 กิโลกรัมต่อไร่


ข้าวดอลาย ความสูงต้นข้าว 175-190 เซนติเมตร ลักษณะทรงกอตั้ง มีปล้องสีเขียว แผ่นใบสีเขียว ใบมีขนมาก ลิ้นใบมีลักษณะแหลม มุมใบธงตั้งตรง เมล็ดข้าวเปลือกมีสีฟางแถบสีน้ำตาล เมล็ดมีลักษณะสั้นป้อม เมล็ดข้าวกล้องสีขาวขุ่น ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 400-500 กิโลกรัมต่อไร่