“ข้าว” สุดยอดอาหารสัตว์ ใกล้ๆ ตัว
เมื่อกล่าวถึง..ข้าว.....อาหารที่ทุกท่านรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าการนำข้าวมาใช้เป็นอาหารสัตว์จะต้องใช้ส่วนไหน และใช้อย่างไรจึงจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ วันนี้มีคำตอบแน่นอน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับส่วนประกอบต่างๆ ของเมล็ดข้าวกันก่อน
ส่วนต่างๆ ของข้าวที่นำมาเป็นอาหารสัตว์ ได้แก่
1. ข้าวเปลือก (Paddy rice, rough rice) มีโปรตีนน้อยกว่าข้าวโพด มีเยื่อใยสูง ต้องนำมาบดก่อนเลี้ยงสัตว์ ยกเว้นอาหารสัตว์ปีก (ไก่เล็กยังต้องบดก่อนให้กิน)
2. ข้าวเปลือกบด (Ground paddy rice หรือ ground rough rice) คือ เมล็ดข้าวเปลือกทั้งเมล็ดที่นำมาบดโดยไม่สีแยกเอาส่วนเปลือกออก นิยมนำใช้ในการเลี้ยงสัตว์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงที่ปลายข้าวมีราคาแพง และข้าวเปลือกมีราคาถูก
3. แกลบ (Rice husk) มีประมาณ 20-25% จากการสีข้าวเปลือกทั้งเมล็ด มีสารซิลิกาสูง ย่อยยาก (เหมาะนำมาใช้เป็นวัสดุรองพื้นคอกสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก หรือผสมดินปลูกพืช) เกษตรกรบางพื้นที่นำแกลบมาบดละเอียดและผสมกับรำเพื่อเพิ่มปริมาณ แต่จะทำให้คุณค่าทางโภชนะของรำลดลง
4. รำข้าว (Rice bran) รำข้าวแยกออกเป็น 2 ชนิด คือ รำหยาบและรำละเอียด รำหยาบมีส่วนผสมของแกลบปน ทำให้คุณค่าต่ำกว่ารำละเอียดเพราะมีเยื่อใยสูงและมีสารซิลิกาปนในแกลบมาก รำเป็นส่วนผสมของจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ด รำหยาบมีโปรตีนประมาณ 8–10% ไขมันประมาณ 7–8% ส่วนรำละเอียด มีโปรตีนประมาณ 12–15% ไขมัน 12–13% แต่ถ้าเป็นรำที่ได้จากโรงสีขนาดกลางหรือเล็ก จะมีโปรตีนต่ำประมาณ 7% เนื่องจากมีส่วนของแกลบปนอยู่มากนั่นเอง
5. เมล็ดข้าว หรือเอนโดสเปิร์ม (Endosperm) มีประมาณ 69.5% เป็นส่วนของเมล็ดข้าวที่นำมารับประทาน มีสารอาหารหลัก คือ คาร์โบไฮเดรต และสารอาหารอื่นๆ มากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของข้าว ส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงสัตว์โดยตรง แต่จะใช้ในรูปแบบของเศษข้าวที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนหรือจากร้านขายอาหาร เป็นต้น เนื่องจากมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับรำ หรือปลายข้าว
วิธีการนำข้าวหรือผลพลอยได้จากข้าวส่วนต่างๆ ไปใช้เลี้ยงสัตว์
1. รำละเอียด เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการสีข้าว ถือว่าเป็นวัตถุดิบอาหารที่ได้รับความนิยมผสมอาหารสัตว์โดยทั่วไป เพราะเป็นวัตถุดิบอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูกกว่าปลายข้าว รำละเอียดเป็นวัตถุดิบอาหารที่ให้โปรตีนและไขมันสูงกว่าปลายข้าว การใช้รำละเอียดในสูตรอาหารจึงมักทำให้สูตรอาหารมีราคาถูกลง ไขมันในรำละเอียดเป็นไขมันเหลว มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง โดยเฉพาะกรดลิโนเลอิค (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นสำหรับสัตว์ปีก รำละเอียดจึงเหมาะที่จะใช้เป็นวัตถุดิบอาหารเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก เพื่อใช้เป็นแหล่งให้กรดไขมันจำเป็นในอาหารดังกล่าว อีกทั้งยังเหมาะใช้เลี้ยงสุกรเพื่อเป็นแหล่งให้ไขมันเหลวในสูตรอาหาร ช่วยป้องกันอาการไขมันแข็งในซากสุกรด้วย
รำละเอียดสามารถใช้ในสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีกชนิดต่างๆ ได้ดี โดยใช้ในระดับสูงสุดไม่เกิน 30% ในสูตรอาหาร (ในอาหาร 100 กก. มีรำละเอียดได้ไม่เกิน 30 กก.) และมักใช้ร่วมกับวัตถุดิบอาหารพลังงานอื่นๆ เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือมันสำปะหลัง หากใช้ในระดับสูงมากกว่า 30% จะทำให้อาหารมีลักษณะฟ่ามมาก ทำให้สัตว์กินอาหารได้น้อย มีผลทำให้การเจริญเติบโตช้าลงตามไปด้วย สัตว์ในระยะเล็กที่ต้องการอาหารที่มีระดับเยื่อใยต่ำ ต้องใช้รำละเอียดในสูตรอาหารในระดับต่ำ และไม่ควรใช้ในสูตรอาหารสุกรเล็กระยะหย่านมถึงอายุ 10 สัปดาห์ (เพราะจะทำให้ท้องเสียและถ่ายเหลวได้)
ในช่วงที่รำละเอียดมีราคาแพง เช่น ในสภาวะมีการสีข้าวน้อย รำละเอียดออกสู่ท้องตลาดน้อย รำละเอียดอาจมีการปนปลอมด้วยรำหยาบ หรือแกลบบดละเอียด ซึ่งมีผลทำให้ระดับเยื่อใยของรำละเอียดสูงขึ้น นอกจากนี้เยื่อใยในแกลบจะมีปริมาณสารไฟติน ซึ่งเป็นสารขัดขวางการย่อยสารอาหารบางอย่างในระดับสูง การซื้อรำละเอียดมาใช้เป็นอาหารสัตว์ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบการปนปลอมด้วยแกลบบด ดินขาวหรือหินฝุ่นเหล่านี้ด้วย
สรุปข้อแนะนำในการใช้รำเพื่อเลี้ยงสัตว์
· ควรใช้รำละเอียดที่ใหม่ แห้ง ไม่มีกลิ่นหืน และไม่มีการปลอมปน
· ไม่ควรเก็บรำละเอียดไว้นานเกิน 30-40 วัน เพราะรำละเอียดจะเริ่มหืน สัตว์ไม่ชอบกิน
· ในสุกรระยะเจริญเติบโต (น้ำหนัก 20-60 กก.) ไม่ควรผสมรำเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหาร
· สามารถใช้รำละเอียด ผสมในอาหารสุกรพ่อแม่พันธุ์ได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหาร
· ใช้ในอาหารไก่กระทง มีรำได้ไม่เกิน 20% ใช้ในอาหารไก่ไข่ และไก่พ่อ-แม่พันธุ์ได้ไม่เกิน 30% เนื่องจาก มีเยื่อใยสูงและจะทำให้อาหารมีความฟ่ามมากเกินไป (สาโรช 2547)
2. ปลายข้าว เป็นผลพลอยได้จากการสีข้าว 14% ให้พลังงานสูง (มากกว่าข้าวโพด 6 %) มีพลังงานใช้ประโยชน์ได้ในสุกรและสัตว์ปีก เท่ากับ 3,596 และ 3,500 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม มีโปรตีน ประมาณ 8% มีไขมันและเยื่อใยต่ำ มีกรดอะมิโนไลซีนสูง ใช้ได้ไม่จำกัดปริมาณ แต่ใช้ในสูตรอาหารสุกรเล็ก ได้ไม่เกิน 30% และหากใช้ปริมาณสูงในสูตรอาหารสุกรขุน พบว่าอาจทำให้เกิดไขมันแข็ง และในสัตว์ปีกจะทำให้ผิวหนังมีสีซีด ไข่แดงสีซีดลง
3. ข้าวเปลือกบด จะมีองค์ประกอบคุณค่าทางอาหารโดยประมาณดังนี้คือ ความชื้น 10% โปรตีน 8.2% เยื่อใย 9.2% ไขมัน 1.9% เถ้า 6.5% และคาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย (NFE) 62.4% ข้าวเปลือกบดจะมีปริมาณเยื่อใยสูง เพราะยังมีส่วนของเปลือกข้าวหรือแกลบเป็นองค์ประกอบอยู่ ซึ่งส่วนของแกลบจะมีเยื่อใย (fiber) และสารซิลิกา (silica) อยู่ประมาณ 40% และ 11-19% ตามลำดับ ทำให้ข้าวเปลือกบดมีค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ในสุกร เพียง 2,671 กิโลแคลอรี่/กก. (น้อยมากเมื่อเทียบกับข้าวโพด หรือปลายข้าว) ดังนั้น การใช้ข้าวเปลือกบดในอาหารสุกรควรกระทำด้วยความระมัดระวัง ดังนี้
1) ข้าวเปลือกที่บดแล้ว ควรมีราคาถูกกว่าปลายข้าวไม่น้อยกว่า 25% (ข้าวเปลือกเมล็ดควรมีราคาถูกกว่าปลายข้าวไม่น้อยกว่า 30%) จึงจะคุ้มกับการใช้เป็นอาหารสัตว์ สุกรที่กินอาหารที่ใช้ข้าวเปลือกบด จะมีการถ่ายมูลที่มากกว่าปกติ
2) ข้าวเปลือกบดจะมีลักษณะฟ่ามและเป็นฝุ่นมาก ซึ่งเมื่อสุกรกินแล้วจะมีอาการไอ จาม กินน้ำมาก ทำให้กินอาหารได้ลดลง สูตรอาหารข้าวเปลือกบดจึงควรมีการเสริมกากน้ำตาลหรือไขมันในระดับ 4.5% ในอาหาร เพื่อเป็นการกำจัดฝุ่นหรือละอองให้หมดไป หรือจะใช้การผสมน้ำช่วย ซึ่งจะช่วยทำให้สุกรกินอาหารได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามการเสริมกากน้ำตาลหรือไขมัน ไม่สามารถแก้ลักษณะความฟ่ามของข้าวเปลือกบดได้
3) เยื่อใยในข้าวเปลือกจะมีสารไฟตินอยู่สูง ซึ่งสารไฟตินในอาหารจะไปรบกวนการย่อยได้ของโปรตีนในอาหาร รวมทั้งไปรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมกนีเซียม และแมงกานีส ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้แร่ธาตุเหล่านี้แม้มีอยู่อย่างครบถ้วนในสูตรอาหาร แต่ไม่สามารถเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ ทำให้สุกรเกิดอาการขาดธาตุดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุสังกะสีจะถูกยับยั้งได้ง่ายที่สุด เพราะสารไฟตินมีความสามารถจับกับธาตุสังกะสีได้ดีที่สุด การใช้ข้าวเปลือกบดในอาหารจึงมักมีโอกาสทำให้สุกรเกิดอาการขาดธาตุสังกะสี และแสดงอาการขี้เรื้อนได้มาก
4) ข้าวเปลือกบดจะมีสารซิลิกาอยู่สูง ซึ่งมีลักษณะหยาบและสาก การใช้ข้าวเปลือกบดเป็นวัตถุดิบหลักในสูตรอาหาร จะทำให้มีการขูดเยื่อบุผนังลำไส้เล็กมาก ทำให้ประสิทธิภาพการย่อยและการดูดซึมอาหารลดลง จึงไม่เหมาะสมในการนำมาใช้เลี้ยงลูกสุกร
5) เนื่องจากข้าวเปลือกบดมีปริมาณเยื่อใยสูงและมีพลังงานต่ำ ดังนั้นสุกรจำเป็นต้องมีการกินอาหารมากขึ้น จึงจะได้ปริมาณพลังงานเพียงพอกับความต้องการ สูตรอาหารข้าวเปลือกบดจะมีค่าประสิทธิภาพการใช้อาหาร (FCR) ด้อยกว่าสูตรอาหารปลายข้าวประมาณ 20-30% อีกทั้งสุกรจะมีลักษณะทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ขยายใหญ่มาก ซึ่งมีผลทำให้เปอร์เซ็นต์ซากของสุกรไม่ดี อาจทำให้ไม่สามารถขายสุกรได้ตามราคาปกติได้
6) การบดข้าวเปลือกจะก่อให้เกิดการเสียหายกับเครื่องบดเป็นอย่างมาก เพราะส่วนของแกลบจะมีสารซิลิกาอยู่สูง ซึ่งสารซิลิกาจะทำหน้าที่คล้ายกระดาษทรายขัดเครื่องบดอาหาร ทำให้เครื่องบดมีการสึกหรอเร็วมาก และค่าใช้จ่ายในการบดจะสูงขึ้น
จะเห็นได้ว่าการใช้ข้าวเปลือกบดเป็นอาหารสัตว์ไม่ได้กระทำได้อย่างง่ายๆ ดังเช่นการใช้ปลายข้าว เพราะข้าวเปลือกบดจะมีส่วนที่เป็นแกลบที่เป็นปัญหามากในอาหารสัตว์ติดมาด้วย โดยปกติแล้วข้าวเปลือกบดไม่สามารถใช้ได้เกิน 35-40% ในสูตรอาหาร แต่ยุคปัจจุบันที่สุกรมีอัตราการเติบโตสูงและต้องการอาหารที่มีคุณภาพดีขึ้น ยิ่งต้องใช้ข้าวเปลือกบดในปริมาณที่ลดน้อยลงอีก
นอกจากนี้การใช้ข้าวเปลือกบดในสูตรอาหารสัตว์จำเป็นต้องมีการปรับระดับพลังงานในอาหารให้เพียงพอแก่ความต้องการของสัตว์ หากต้องการให้สัตว์มีการเติบโตตามปกติ อีกทั้งอาจต้องมีการเพิ่มระดับการวิตามิน-แร่ธาตุในสูตรอาหารให้สูงขึ้น เพื่อชดเชยกับการถูกรบกวนการดูดซึมโดยสารไฟตินในแกลบ
ดังนั้นหากราคาข้าวเปลือกไม่ถูกจริงๆ แนะนำว่าหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้าวเปลือกบดในสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีกทุกชนิด เพราะราคาอาหารที่ถูกลง อาจไม่คุ้มค่ากับผลเสียของข้าวเปลือกบดที่จะเกิดขึ้นกับตัวสัตว์ได้ หรือหากข้าวเปลือกมีราคาถูกจริง ควรแปรรูปเป็นข้าวกล้อง แล้วนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ จะมีความปลอดภัยในการใช้มากกว่ามาก
เขียน/เรียบเรียงเรื่องโดย: นายสุคีพ ไชยมณี
แหล่งที่มาของเนื้อหา/เอกสารอ้างอิง
ครูบ้านนอกดอทคอม. (2560, 21 มีนาคม). รำข้าว คืออะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง. https://www.kroobannok.com
ทศพล มูลมณี สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ และกัญญารัตน์ พวกเจริญ. 2560. โครงการย่อยที่ 1: การคัดเลือก ปรับปรุงพันธุ์สุกรลูกผสม และการทดสอบสูตรอาหารที่เหมาะสม. แผนงานวิจัย: เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลิตผลเกษตร. รายงานฉบับสมบูรณ์. สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
สาโรช ค้าเจริญ. 2547. อาหารและการให้อาหารสัตว์ไม่เคี้ยวเอื้อง. ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
อุทัย คันโธ. 2559. อาหารสุกรและสัตว์ปีกเชิงประยุกต์. สำนักพิมพ์ ยู เค ที พับลิชชิ่ง, บจก. พิมพ์ครั้งที่ 1. 704 หน้า
b-natural. (2559, 28 มีนาคม). บทความเรื่อง ส่วนประกอบของเมล็ดข้าว. จาก http://www.b-natural.lnwshop.com
Pattariya. (2562, 23 กันยายน). องค์ประกอบทางโภชนาการและการใช้ประโยชน์ทางยาของเมล็ดข้าวจากข้าวพันธ์พื้นเมืองในจังหวัดปทุมธานี. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มทร.ธัญบุรี. จาก http://www.rspg.rmutt.ac.th
Rukcom. (2562, 15 กรกฎาคม). รำข้าว. จาก http://www.bestinterfeed.com