ลดปุ๋ยยังไง ให้เมลอนยังหวานอยู่
เมลอน (Musk melon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae เช่นเดียวกับแตงกวาและแตงโม จัดเป็นพืชผักที่ใช้ส่วนผลสดในการบริโภคเนื่องจากมีความหวาน กลิ่นหอมและรสชาติดี สีของเนื้อผลมีหลากหลาย ทั้งสีครีม เหลือง เขียว ส้ม และแสด แตกต่างกันไปตามพันธุ์ที่ปลูก โดยพันธุ์ที่นำมาปลูกสามารถทนต่อสภาพอากาศในเขตร้อนได้ดี และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้อย่างดี ด้วยผลผลิตเมลอนมีราคาค่อนข้างแพง เกษตรกรมีความสนใจหันมาปลูกเมลอนเพื่อสร้างรายได้ เช่นเดียวกับพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่แบบโครงการหลวงคลองลานที่เลือกเมลอนเป็นพืชส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งใช้พื้นที่น้อย และให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลัง พันธุ์ที่ปลูกได้แก่ บารมี (ตาข่ายสีส้ม) แสนหวาน (ตาข่ายสีส้ม) สารคาม และพันธุ์จันทร์ฉาย (ผิวเรียบสีส้ม)
โดยทั่วไปเกษตรกรจะปลูกเมลอนในโรงเรือน ให้ปุ๋ยทางดินและพ่นปุ๋ยทางใบ เมื่อนำดินที่ปลูกเมลอนไปวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดิน พบว่า ดินที่เป็นดินร่วนเหนียวปนทราย เป็นกรดจัด pH อยู่ที่ 4.98 ซึ่ง pH ที่เหมาะสมกับการปลูกเมลอนอยู่ระหว่าง 6.0 – 6.5 ปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ 0.55 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลให้มีไนโตรเจนต่ำด้วย มีปริมาณธาตุอาหารต่ำมากถึงปานกลาง
จากการศึกษาการปริมาณการดูดใช้ธาตุอาหารต่อการปลูกเมลอน 1 โรงเรือน 1 รอบ มีการดูดใช้ธาตุอาหารดังนี้ ไนโตรเจน (N) 1.82 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส (P) 0.22 กิโลกรัม และโพแทสเซียม (K) 1.48 กิโลกรัม แคลเซียม (Ca) 1.38 แมกนีเซียม (Mg) 0.24 กิโลกรัม เหล็ก (Fe) 4.25 กรัม แมงกานีส (Mn) 21.33 กรัม สังกะสี (Zn) 0.038 กรัม ทองแดง (Cu) 5.19 กรัม และโบรอน (B) 1.80 กรัม ซึ่งเมื่อพิจารณาการปลดปล่อยธาตุอาหารจากดิน พบว่ามีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับการปลูกเมลอนแล้ว หากเกษตรกรยังใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไปอีกก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ แต่อย่างไรก็ตามจากผลการวิเคราะห์ดังกล่าวยังมีธาตุอาหารพืชที่สำคัญ อีก 2 ชนิด ที่ยังต้องเพิ่มโดยการใส่ปุ๋ย นั่นก็คือไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเมื่อรู้แล้วว่าเมลอนพันธุ์จันทร์ฉายดูดใช้ธาตุอาหารเท่าไหร่ จึงนำมาสู่การทดสอบสูตรปุ๋ยเมลอนร่วมกับเกษตรกร โดยเปรียบเทียบระหว่างสูตรปุ๋ยเดิมของเกษตกรกับสูตรปุ๋ยตามปริมาณการดูดใช้ของเมลอน ร่วมกับการปรับความเป็นกรด-ด่างของดิน โดยเกษตรกรที่ร่วมทดสอบคือ นางมะลิวัลย์ เปลี่ยนศรี
ผลปรากฎว่าสูตรปุ๋ยตามปริมาณการดูดใช้ธาตุอาหารพืชและปรับความเป็นกรด-ด่างของดิน ส่งผลให้เมลอนที่ปลูกในช่วงฤดูหนาว มีขนาดผลและคุณภาพผลผลิตไม่ด้อยไปกว่าการใส่ปุ๋ยสูตรเดิมที่เกษตรกรใช้อยู่ โดยผล เมลอนมีน้ำหนักผลอยู่ที่ 0.9 – 1.1. กก./ผล มีเปอร์เซ็นต์ความหวานอยู่ที่ 14.9 (%Brix) และสามารถลดต้นทุนได้ 26 % โดยปุ๋ยที่ใช้สามารถหาได้ตามร้านขายปุ๋ยทั่วไป และการปรับความเป็นกรด – ด่างของดิน โดยการใส่โดโลไมท์ส่งผลให้ดินมีความเป็นกรด-ด่างเพิ่มขึ้นจากการเป็นกรดจัด (pH 4.98) กลายเป็นกรดเล็กน้อย (6.08– 6.6) ซึ่งเหมาะสมกับการปลูกเมลอน
จากผลการทดสอบส่งผลให้เกษตรกรเจ้าของแปลงมีความพึงพอใจ ยิ้มหวานกันไปเลย ส่วนผลการทดสอบในฤดูร้อน และฤดูฝนจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อไป
โดย จุไรรัตน์ ฝอยถาวร, ดารากร อัคฮาดศรี, อาผู่ เบเช