องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

สวพส. ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biodiversity 2023)

วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) เริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2547

ในปี พ.ศ. 2566 สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กำหนดหัวข้อวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ คือ “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity” หรือ “จากข้อตกลงสู่การปฏิบัติ: สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนมา

ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายบนพื้นที่สูง กว่า 100 ชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รวมทั้งรักษาคุณค่าและสร้างประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างแหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนและเชิงพาณิชย์ตามแนวทาง BCG Model โดยมีกรอบการดำเนินงาน ดังนี้

การดำเนินงานที่ผ่านมา สวพส. ร่วมกับชุมชนศึกษา เพาะขยายพันธุ์ และปลูกฟื้นฟูเพื่อรักษาและเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในท้องถิ่น สำหรับเป็นแหล่งอาหาร ยาสมุนไพร และการใช้ประโยชน์ จำนวน 938 ชนิด ใน 103 ชุมชน พื้นที่รวม 4,050 ไร่ โดยมี พืชเด่น เช่น มะแขว่น ต๋าว หวาย ไผ่ ตะไคร้ต้น เนียง มะขม บุก ลิงลาว ค้างคาวดำ และพืชหายาก เช่น ตีนฮุ้งดอย น้อยหน่าเครือ รางจืดแดง และเจ้าแตรวง เป็นต้น

นอกจากนี้มีการศึกษาและพัฒนาต่อยอดพืชท้องถิ่นเพื่อนำมาปลูกเลี้ยง จาก “พืชป่า เป็น พืชปลูก” สำหรับเป็นอาชีพทางเลือกเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร กว่า 20 ชนิด โดยเน้นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้ร่มเงา หรือปลูกร่วมในระบบเกษตรอื่นๆ ได้ เช่น บุก ต๋าว หวาย ลิงลาว และเลือดมังกร รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับพืชท้องถิ่น เช่น ชาอัสสัม หญ้าถอดปล้อง มะแขว่น สีฟันคนทา ตะไคร้ต้น และฟักข้าว เป็นต้น

นอกจากการปลูกฟื้นฟูเพื่อใข้ประโยชน์อย่างยั่งยืนแล้ว สวพส. ยังร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนให้เกิดการคุ้มครองเขตอนุรักษ์สมุนไพรและถิ่นกำเนิด จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย ป่าชุมชนบ้านโป่งคำ อ. สันติสุข จ. น่าน (พื้นที่ 583.54 ไร่ พืชสมุนไพร 268 ชนิด) และ บ้านป่าเกี๊ยะ อ. แม่สรวย จ. เชียงราย (พื้นที่ 215 ไร่ สมุนไพร 162 ชนิด) รวมทั้งถ่ายทอดความรู้และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จำนวน 103 ชุมชน กว่า 4,573 ครัวเรือน


เขียนและเรียบเรียงโดย โดย ดร.จารุณี ภิลุมวงค์