องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ถั่วแขก

 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Phaseolus vulgarisL.

ชื่อสามัญ  Bush bean

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป ถั่วแขกเป็นพืชตระกูลถั่ว (Leguminosae) มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของเม็กซิโก สามารถเจริญได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น ถั่วแขกเป็นพืชฤดูเดียว ลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านน้อย มีการเจริญเติบโตหลายลักษณะ เช่น เป็นพุ่ม กิ่งเลื้อย หรือเลื่อย ใบเป็นแบบสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ สามารถเจริญได้ทุกช่วงแสง เป็นพืชผสมตัวเอง ฝักมีหลายสี เช่น เขียว เหลือง ม่วง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร

ถั่วแขกลักษณะเหมือนถั่วฝักยาว แต่ขนาดจะสั้นกว่า ให้รสชาติหวานและกรอบ มีโปรตีนสูง อุดมด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียมและวิตามินซีซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด อีกทั้งวิตามินซียังช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น นิยมนำมาลวกเป็นเครื่องเคียงในสเต๊ก ผัดน้ำมันหอยหรือลวกจิ้มน้ำพริก เป็นส่วนผสมของใส้ไข่ยัดใส้

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิดินอยู่ระหว่าง 18 - 30 องศาเซลเซียส ในช่วงที่มีฝนตกชุก อุณหภูมิต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูงไม่เหมาะสมต่อการปลูก ในขณะที่อุณหภูมิสูง สภาพอากาศแห้งแล้ง หรือช่วงที่มีฝนตกชุก ช่วงดอกบานจะทำให้อัตราการติดฝักต่ำ ดอกร่วง โดยเฉพาะถั่วแขกค้างซึ่งต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าถั่วแขกพุ่ม สภาพดินที่เหมาะสมต่อการปลูกควรเป็นดินร่วนซุย ถ่ายเทอากาศได้ดีสภาพดินที่เหมาะสม คือดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี pH 6.0 - 6.5 แปลงที่มีความชื้นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากจะทำให้ฝักแก่ช้า และควรได้รับแสงอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน

สภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

- อุณหภูมิ ที่เหมาะสมประมาณ 25 - 30 องศาเซลเซียส

- แสง ตลอดทั้งวัน

- ดิน ร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี มีอัตราสูง

- น้ำ สม่ำเสมอตลอดช่วงฤดูกาลผลิต

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า นำเมล็ดคลุกยากับเชื้อรา บ่มผ้าอุณหภูมิ 40 องศา ประมาณ 6ช.ม.

การเตรียมดิน ไถดินตากแดดไม่ต่ำกว่า 14 วัน เก็บเศษวัชพืชให้สะอาด

การปลูก ขุดพลิกดินตากแดดอย่างน้อย 7 – 17 วัน ขึ้นแปลงปลูก รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก อัตรา 2,000 กก./ไร่และใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 50 กก./ไร่ สำหรับพืชตระกูลถั่วควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนรองพื้นจะให้ต้นกล้าที่แข็งแรง หยอดเมล็ด 2 – 3 เมล็ดต่อหลุม ลึก 2 – 3 เซนติเมตร และกลบดินรดน้ำ

ข้อควรระวัง คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันแมลง

การให้น้ำ ปลูกซ่อม 7 – 10 วัน หลังจากหยอดเมล็ด ใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 50 กก./ไร่ หลังจากปลูก 40 วัน ใส่ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 50 กก./ไร่ แล้วพูนโคนต้นเพื่อป้องกันต้นล้ม เน้นการกำจัดวัชพืชแล้วรดน้ำควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอช่วง 30 วันแรก หลังจากนั้นทุก 2 – 3 วัน ขึ้นกับระดับความชื้นในดิน การทำค้างนั้นควรทำหลังปลูกให้เสร็จก่อน 7 – 10 วัน ค้างสูงประมาณ 2 เมตร

ข้อควรระวัง

1.โรคเน่าคอดิน ใช้เทอราคลอร์หรือเชื้อโตรโคเดอร์มา

2. หนอนเจาะลำต้น (ก.พ. – มี.ค.) ใช้คาราเท้เข้าฉีดพ่น

การให้ปุ๋ย

อายุ 15 วัน ปุ๋ย 46 – 0 – 0 อัตรา 15 กรัม/ต้น

อายุ 30 วัน ปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 25 กรัม/ต้น

อายุ 45 วัน ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 25 กรัม/ต้น

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เมื่อฝักเริ่มโต สีเขียวอ่อน ไม่แก่ (สีเขียวเข้ม เมล็ดโตแข็ง ฝักมีรอยคอด) หรือ 12 – 14 วันหลังดอกบาน หรือตามตลาดต้องการ

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวในระยะที่ถูกต้อง

2. คัดเลือกเอาฝักที่มีตำหนิจากโรค และแมลงออก

3. บรรจุในตะกร้าพลาสติกหรือกล่องกระดาษรองด้วยกระดาษขาว

4. ลดอุณหภูมิเฉียบพลันเหลือ 5 องศาเซลเซียส

5. ขนส่งโดยรถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่แก่ เนื้อเป็นสีเขียวใส เมล็ดยังอ่อนและนุ่ม ไม่มีตำหนิใดๆ ไม่เปียกน้ำ สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

 ชั้นหนึ่ง  1. ฝักยาว ตรง มีขนาดยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป

       2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง   1. ฝักยาว ตรง มีขนาดยาวตั้งแต่ 8 - 10 เซนติเมตร มีฝักโค้งไม่มากปะปนได้บ้างเล็กน้อยไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ แต่ต้องไม่มีฝักคด

       2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U   1. ความยาวฝักเท่ากับ ชั้นสองมีฝักโค้งแต่ไม่คดปะปนได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

       2. มีฝักแก่ปะปนได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง ถั่วแขกที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน มีความแก่ใกล้เคียงกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด บรรจุถุงพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 7 - 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์เก็บรักษาได้นาน 7 – 10 วัน (เกิดความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำเหนือจุดเยือกแข็ง (Chilling Injury) ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส)


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์