1.5 °C เปลี่ยนชีวิตพืชบนดอยสูง

หนาวสุดขั้ว ร้อนสุดขีด ภัยเงียบบอกอนาคต
คนส่วนใหญ่ในยุคศตวรรษที่ 20 เริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)” ตัวอย่างใกล้ตัวเราที่เห็นได้ชัดและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ปี 2565 ฝนเริ่มตกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ลานินญ่า) หรือสภาพอากาศร้อนจัด ลมพายุรุนแรงที่เรากำลังเจอขณะนี้ รวมถึงน้ำท่วม ฝนแล้ง (เอลนินโญ่) ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกซึ่งไม่เคยเจอมาก่อน ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นผลมาจากโลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากรังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้ จึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น1/ หรือเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน (Global Warming)” สาเหตุสำคัญ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินสมดุลออกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ระบบโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิง การใช้สารเคมี การตัดไม้ทำลายป่า
มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มอีก 1.5-4.5 องศาเซลเซียส จนเกิดภาวะโลกร้อนระดับรุนแรง แหล่งน้ำภายในโลกอาจขาดแคลนและเกิดคลื่นความร้อนสูง หากปี พ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100) สภาวะโลกร้อนนี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความผันผวนและผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรของโลก เช่น ข้าวโพดมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ปริมาณผลิตผลพืชผักและพืชตระกูลถั่วที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ลดลงเฉลี่ย 31.5% นอกจากนี้อุณหภูมิยังมีความเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของโรคพืช แมลงศัตรูพืชและวัชพืช รวมถึงการอพยพของสัตว์น้ำตามระดับอุณหภูมิน้ำทะเล ทำให้เแหล่งประมงเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดมีผลต่อความมั่นคงด้านอาหารของประชากรโลก3/
อุณหภูมิมีผลอย่างไรต่อพืช
“อุณหภูมิ มีความสำคัญต่อพืชอย่างมาก” อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือพืชทั่วไปจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่อากาศมีอุณหภูมิ ช่วง 15-30 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงสุดสำหรับการมีชีวิตของพืชและยังสามารถเจริญเติบโตได้มีค่าประมาณไม่เกิน 54 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 5 องศาเซลเซียส หากเกินกว่าหรือต่ำกว่านี้พืชไม่สามารถอยู่รอดได้ ยกเว้นพืชเขตหนาวบางชนิดที่ทนและตอบสนองได้ดีกับอุณหภูมิที่ต่ำ 1-2 องศาเซลเซียส2/ ตัวอย่างเช่น ไลเคน มอส หญ้า ไม้พุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ต้นจะเตี้ย เล็กและโตช้า รวมถึงพืชเขตร้อนหรือทะเลทรายที่มีอุณหภูมิสูงถึง 60 องศาเซลเซียส เช่น กระบองเพชร กระถิน อินทผาลัม เป็นต้น
“พืชแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิเพื่อการเจริญเติบโตแตกต่างกัน” ตั้งแต่การเริ่มงอกของเมล็ดพืช การเกิดและเจริญเติบโตของตา การแตกกิ่งใบ การออกดอกและติดผล ทั้งอิทธิพลของอุณหภูมิระดับต่ำและสูง และอุณหภูมิของอากาศระหว่างช่วงเวลากลางวัน กลางคืน ที่มีผลต่อพืช ดังนี้
- การงอกของเมล็ดพืช ต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าการเจริญทางลำต้นและใบ
- พืชเมืองร้อนต้องการอุณหภูมิอากาศต่ำสุดที่สูงมากกว่า 10 องศาเซลเซียสเพื่องอกเมล็ด ขณะที่พืชเมืองหนาวต้องการอุณหภูมิต่ำเพื่อทำลายการพักตัวของเมล็ด
- พืชเขตร้อนต้องการอุณหภูมิสูงเพื่อการเกิดตาและอุณหภูมิต่ำเพื่อการเจริญเติบโตของตา ขณะที่พืชเขตหนาวต้องการอุณหภูมิต่ำเพื่อทำลายการพักตัวของตาและเติบโตเร็วเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
- การเจริญทางลำต้นพืช ต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าการเจริญทางดอกและผล และพืชทั่วไปเจริญเติบโตในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน โดยอุณหภูมิที่แตกต่างกัน 8 องศาเซลเซียส จะมีการเจริญเติบโตที่ดี แต่หากมีอุณหภูมิสม่ำเสมอทั้งกลางวันกลางคืนมักเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร
นอกจากอุณหภูมิของอากาศแล้ว อุณหภูมิดินก็มีความสำคัญต่อการงอกของเมล็ดและรากพืชเช่นกันโดยรากพืชต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าส่วนลำต้นเหนือดินและสามารถทนอยู่ในสภาพอุณหภูมิต่ำได้ยาวนานแม้ส่วนลำต้นจะตายไปแล้ว ขณะเดียวอุณหภูมิดินยังมีอิทธิพลต่อการดูดซับและการเคลื่อนย้ายของสารอาหารภายในลำต้นอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนไม่เหมาะสม ช่วงระยะเวลาและฤดูกาลเพาะปลูกพืชคลาดเคลื่อน ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะเกษตรกรบนพื้นที่สูงที่เคยปลูกพืชเขตหนาว จึงกล่าวได้ว่าสิ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจร่วมกันอย่างเร่งด่วน คือ การเตรียมพร้อม และปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้
ปรับเกษตรพื้นที่สูง
เกือบ 20 ปี ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตภาคเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ หรือ “Net Zero” ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้คำมั่นสัญญาระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งมีผู้นำทั่วโลกมากกว่า 190 ประเทศเข้าร่วม การปรับตัวเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งจำเป็นที่เกษตรกรต้องเลือกมาใช้ให้เหมาะสม หลักปฏิบัติที่เกษตรกรทำได้ ได้แก่
ลดความเสี่ยง : การปรับวิธีทำเกษตร
- ใช้พันธุ์พืชทนทานต่อความแห้งแล้งและการเข้าทำลายของศัตรูพืช หรือพันธุ์พืชท้องถิ่น
- ปลูกพืชในโรงเรือนที่สามารถลดหรือควบคุมอุณหภูมิของอากาศ หรือสภาพแวดล้อมได้
- ระบบปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับหรือควบคุมระดับอุณหภูมิดิน เก็บความชื้น ด้วยพืชคลุมดิน เช่น ถั่ว วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า
- พัฒนาระบบการจัดการน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ บริเวณสวนและไร่นา
- ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับระบบการเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายชีวภาพ
- ใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน
- ใช้ระบบข้อมูลพยากรณ์อากาศของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีความแม่นยำเที่ยงตรงเพื่อประกอบการตัดสินใจวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์
- ใช้ภูมิปัญญาร่วมกับสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เพื่อรักษาระบบนิเวศในแปลงปลูกพืชให้เกิดความสมดุล