ปุ๋ยหมักรักษ์โลก ลดหมอกควัน
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในช่วงปลายฤดูหนาวรอยต่อไปสู่ฤดูร้อน ในช่วงเดือน พฤศจิกายน – มีนาคม ของทุกๆปีบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยจะต้องประสบกับปัญหาเรื่องภาวะหมอกควันพิษ หรือที่เรารู้จักกันทั่วๆไปว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 (PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากมีปริมาณมากเกินค่ามาตรฐาน คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่สูดดมรับฝุ่นชนิดนี้เข้าไป
ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานส่วนกลางทุก กระทรวง ทบวง กรม หรือ แม้แต่ องค์การบริหารในระดับพื้นที่ ต่างก็เร่งจัดมาตรฐานป้องกัน แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ในส่วนของ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)หรือที่เรารู้จักกันทั่วไป ว่า สวพส. นั่นก็ได้ขับเคลื่อนงานป้องกัน และแก้ไข รวมทั้งป้องกันการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สูง(มีระดับความสูงมากกว่า 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง : 500 msl) ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชที่ปลอดภัยในระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวลดล้อมในพื้นที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย การส่งเสริมการปลูกที่สร้างรายได้และคลุมหน้าดิน ป้องกันการพังทลายหน้าดิน ฯลฯ และแนวทางหนึ่งที่ สวพส.นำมาใช้และได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีก็คือการผลิตปุ๋ยหมักอย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น
1) การนำเศษพืชที่มีปริมาณมากที่เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรเกษตร เช่น ซังข้าวโพด เปลือกถั่วและ ฟางข้าว มาเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองอย่างง่าย หมักทิ้งไว้ไม่ถึง 60 วันก็ได้ปุ๋ยหมักนำไปใช้ในแปลงปลูกพืชแล้ว ไม่ต้องเผาให้เสียเวลา แต่กลับได้คุณค่า และเพิ่มมูลค่าให้กับพืชที่ปลูกได้อีกด้วย
2) การทำแนวคันปุ๋ยตามระดับไหล่เขา พูดกันง่ายๆ ก็คือนำเศษพืชที่กระจัดกระจายอยู่บริเวณพื้นที่ลาดชัน เอามากองๆรวมไว้เป็นแนวยาวเป็นเส้นยาวตามแนวระดับพื้นที่ และนำมูลสัตว์ที่หาได้ในพื้นที่มาโรยคลุกกับกองเศษพืชที่ทำไว้เพียงเท่านี้ก็จะได้แนวคันปุ๋ยตามเส้นระดับพื้นที่ เป็นการผลิตปุ๋ยอย่างง่ายรวดเร็ว และหากทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆปีพื้นที่ที่เป็นแนวคันปุ๋ยนี้ก็จะมีขนาดกว้างมากขึ้น มีความอุดมสมบูรร์ของดินมากขึ้น สามารถปลูกพืชให้เจริญเติบโตได้และเป็นการลดการชะล้างพังทะลายของดินบนพื้นที่ลาดชันได้อีกด้วย
จากผลการดำเนินงานส่งเสิมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงมีการผลิตปุ๋ยหมัก และจัดทำแนวคันปุ๋ยเพื่อลดการเผา ลดการชะล้างพังทลายของดินแต่ได้ความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับคืนมา สามารถผลิตปุ๋ยหมักได้มากกว่าปีละเฉลี่ย 900-1000 ตัน สามารถช่วยลดการเผาบนพื้นที่สูงได้มากกว่าเฉลี่ยแล้ว 1,000-1,200 ไร่ต่อปี ลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมีได้มากกว่า 10,000 บาท/ไร่/ครัวเรือน