อะโวคาโดนำเข้า..คลื่นกระทบลูกใหม่อะโวคาโดไทย
อะโวคาโด เป็นไม้ผลเขตร้อน แหล่งผลิตใหญ่ของโลกอยู่ในประเทศแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา โดยประเทศเม็กซิโกมีปริมาณผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคือ โคลัมเบีย 2.39 และ 0.876 ล้านตัน ตามลำดับ (ข้อมูลปี 2563) สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันผู้บริโภครู้จักพันธุ์ รู้จักวิธีการบริโภคอะโวคาโดมากขึ้น ทำให้มีการปลูกมากขึ้นทั้งบนพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ พันธุ์ดีที่มีการปลูก ได้แก่ ปีเตอร์สัน (Peterson) บูท 7 (Booth 7) บูท 8 (Booth 8) บัคคาเนียร์ (Buccaneer) พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) แฮส (Hass) โดยจะมีผลผลิตจำหน่ายตั้งแต่กลางปีจนถึงสิ้นปี รวมถึงพันธุ์พื้นเมืองซึ่งได้จากการเพาะเมล็ดที่ไม่ทราบพ่อแม่พันธุ์ที่ชัดเจน สำหรับการนำเข้าผลผลิตอะโวคาโด ที่ผ่านมาในช่วงปี 2562-2564 ประเทศไทยมีการนำเข้ามูลค่าเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่มาจากนิวซีแลนด์ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,200 ตัน มูลค่า 200 ล้านบาทต่อปี และจากเปรู เฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อปี พันธุ์ที่นำเข้าคือ พันธุ์แฮส โดยจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า modern trade ซึ่งมีราคาขายปลีกค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคาพันธุ์แฮสที่ผลิตในประเทศ จึงไม่ส่งผลกระทบต่ออะโวคาโดไทยมากนัก
อย่างไรก็ตามพบว่ามีการนำเข้าอะโวคาโดจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม พม่า ลาว เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม มีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2563 และมีการนำเข้ามากขึ้นทุกปี พันธุ์ที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคคนไทย เช่น A034 บัคคาเนียร์ บูท 7 บูท 8 แฮส และสายพันธุ์อื่น ซึ่งมาจากเมือง Lam Dong, Dak Lak ที่เป็นแหล่งปลูกสำคัญของเวียดนาม โดยพ่อค้าคนกลางจะรวบรวมผลผลิต คัดแยกสายพันธุ์ และขนส่งโดยใช้รถยนต์ปกติ (ไม่ใช่รถห้องเย็น) บรรจุในตะกร้าพลาสติก น้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัม ผ่านด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรีเข้าสู่ตลาดไท ก่อนกระจายไปยังตลาดระดับอื่นในประเทศไทย ราคาขายส่ง ณ ตลาดไท เฉลี่ย 30-50 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นกับสายพันธุ์ ฤดูกาลที่มีผลผลิตนำเข้า 10-11 เดือน คือช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน เรียกได้ว่ามีอะโวคาโดจากเวียดนามเข้าสู่ไทยเกือบจะตลอดทั้งปี ขณะที่อะโวคาโดจากพม่ามีการนำเข้าพันธุ์พื้นเมืองหรือที่เรียกว่าพันธุ์ตองจี และพันธุ์แฮส โดยบรรจุใส่กล่องกระดาษ น้ำหนักเฉลี่ย 20 กิโลกรัมต่อกล่อง ขนส่งด้วยรถยนต์ผ่านช่องทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ราคาขายส่งพันธุ์แฮสจากพม่า ณ ตลาดไท ประมาณ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม (สำรวจเดือน ธ.ค.2565) ขณะที่ราคาพันธุ์พื้นเมือง เฉลี่ย 20-40 บาทต่อกิโลกรัม
จากข้อมูลการนำเข้าอะโวคาโดจาก 2 ประเทศเพื่อนบ้าน มีการนำเข้าในปริมาณมากและมีช่วงเวลาที่ตรงกับผลผลิตของไทย อีกทั้งมีราคาที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่า จึงส่งผลกระทบต่อผลผลิตอะโวคาโดของไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาของสินค้าที่มาจากต่างประเทศมากขึ้น การปรับตัวและเตรียมพร้อมเป็นสิ่งจำเป็น การสู้ด้วยคุณภาพของผลผลิตจะเป็นทางเลือกทางรอดของอะโวคาโดไทย ทั้งการเลือกปลูกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ยอมรับ การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แก่จัด การศึกษาต้นทุนการผลิตเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำการตลาด ตลอดจนการหาช่องทางตลาดอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสและเพิ่มมูลค่า จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรไทยต้องปรับตัวและเรียนรู้
เขียนและเรียบเรียงโดย อัจฉรา ภาวศุทธิ์ และไฉไล กองทอง
ที่มา:
https://en.wikipedia.org/wiki/List of countries by avocado production
ข้อมูลจากการสำรวจตลาดไท เดือนธันวาคม 2565