กัญชง : TerpeneS สารให้กลิ่นกับการแพทย์
Terpenes (เทอร์พีน) เป็นสารให้กลิ่น หรือ aromatic compound พบมากน้ำมันหอมระเหยของพืชมีกลิ่นทั่วไป
เป็นสารบ่งบอกกลิ่นเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของพืช เรามักได้กลิ่นต่างๆ มาจาก ดอกไม้ ผลไม้ และสมุนไพร เช่น ดอกกัญชง-กัญชา ดอกกุหลาบ ดอกลาเวนเดอร์ เลม่อน มะม่วง วานิลลา ตะไคร้ มิ้นต์ และสน เป็นต้น
ในพืชสกุล Cannabis หรือกัญชง กัญชา มีเทอร์พีนมากกว่า 120 ชนิด โดยมี 2 กลุ่มหลักคือ monoterpenes และ sesquiterpenes มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้
เทอร์พีน ช่วยต้านการอักเสบ และแก้ปวดเป็นหลัก และยังช่วยต้านอาการซึมเศร้า ทำให้ผ่อนคลาย ต้านกังวล รักษาอาการนอนไม่หลับ เพิ่มความสามารถในการให้สารผ่านเข้าสู่ผิว เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านแบคทีเรีย ต้านจุลชีพ และต้านอนุมูลอิสระ
เทอร์พีน ในกัญชงจะผลิตมาจากต่อมเดียวกับสาร Cannabinoids (สารสำคัญ 2 ชนิด คือ THC, CBD) จึงให้กลิ่นมากที่สุดในช่อดอก แต่ละสายพันธุ์มีกลิ่นโดดเด่น มากน้อยต่างกันออกไป นอกจากสายพันธุ์แล้ว สภาพภูมิอากาศ อายุ และการเจริญเติบโต ปุ๋ย ความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือแม้แต่ช่วงเวลาของวัน ก็มีผลต่อปริมาณของเทอร์พีน
เทอร์พีน ยังช่วยเสริมฤทธิ์ในการรักษาเมื่อใช้ร่วมกับสารอื่น เช่น CBD, THC ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวและกลับสู่สภาพสมดุลได้ เราเรียกการทำงานแบบนี้ว่า Entourage Effect (ออง-ตู-ราจ เอฟเฟกต์) ส่งเสริมให้กัญชากัญชงออกฤทธิ์มีผลช่วยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทีมนักวิจัย ม.นเรศวร ได้ค้นพบเบื้องต้นว่า monoterpenes ในน้ำมันหอมระเหยจากกัญชาและกัญชง มีผลต่อการสลายไขมันในเซลล์ไขมันเพาะเลี้ยง มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ไขมัน (adipocytes)
การศึกษาผลของน้ำมันหอมระเหยจากกัญชงในมนุษย์ พบว่า
- มีประสิทธิภาพ ทำให้อาสาสมัครรู้สึกผ่อนคลาย โดยไปเพิ่มคลื่นสมองช่วงความถี่อัลฟ่าและเธต้า
- มีประสิทธิภาพ ในการลดคลื่นสมองที่ช่วงความถี่เบต้าอย่างมีนัยสำคัญ
- มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัติโนมัติ (ANS) โดยช่วยลดความดันเลือด เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มอุณหภูมิของผิวหนัง ทำให้ร่างกายรู้สึกมีพลัง สงบ และผ่อนคลาย
เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.สริตา ปิ่นมณี
แหล่งที่มาของเนื้อหา
กรกนก อิงคนินันท์ ประภาพรรณ เต็มกิจถาวร เนติ วระนุช และ ขวัญแก้ว วงษ์เจริญ. 2565. ข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันหอมระเหยจากกัญชาและกัญชงในการใช้เพื่อสุขภาพ: การสกัด การจัดทำมาตรฐาน และการศึกษาประสิทธิผล. 60 หน้า.
สมาคมกัญชงไทย. 2565. เทอร์ปีน (Terpenes) และประโยชน์. https://thaha.org/terpenes/
https://www.cannhealth.org/content/4894/terpene