องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กาแฟอะราบิกาสายพันธุ์ใหม่

มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมการปลูกกาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูงสำหรับเป็นพืชสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมานานกว่า 50 ปี และได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของชุมชนบนพื้นที่สูง การปลูกกาแฟอะราบิการะยะที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างที่กระทบต่อการให้ผลผลิตและคุณภาพของกาแฟ โดยปัจจัยที่สำคัญชนิดหนึ่งคือสายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ให้รสชาติการชงดื่มที่ดี และที่สำคัญคือ ทนทานต่อโรคราสนิม ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตกาแฟของเกษตรกรเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 

ในปี พ.ศ. 2557 มูลนิธิโครงการหลวงและ สวพส. จึงได้เริ่มงานวิจัย ด้วยการสำรวจ และรวบรวมสายพันธุ์กาแฟอะราบิก้าในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง และของ สวพส. เพื่อนำมาคัดเลือก และปลูกทดสอบการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตสูง การทนทานต่อโรคราสนิม และให้รสชาติการชงดื่มที่ดี เพื่อใช้เป็นสายพันธุ์ส่งเสริมให้กับเกษตรกรได้นำไปปลูกทดแทนต้นเดิมที่อายุมาก ให้ผลผลิตต่ำ หรือต้นที่อ่อนแอต่อโรคราสนิม ปัจจุบัน สามารถคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟ ได้ จำนวน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ กาแฟอะราบิกาโครงการหลวง สายพันธุ์ RPF-C3 จากแหล่งพันธุ์อ่างขาง และ RPF-C4 จากแหล่งพันธุ์อินทนนท์ เป็นสายพันธุ์กาแฟคาติมอร์ ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 

คุณลักษณะเด่น

- ทนทานต่อโรคราสนิม ไม่พบการเกิดโรคราสนิมทั้งในระยะต้นกล้าและต้นแม่พันธุ์ 

- ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟผลสดสูง เฉลี่ย 3.815 - 4.030 กิโลกรัมต่อต้น หรือ 1,600 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยพันธุ์เดิม 2 กิโลกรัมต่อต้น 

- เมล็ดกาแฟสารหรือเมล็ดกาแฟดิบ (green coffee) มีขนาดใหญ่

- คุณภาพการชิม (รสชาติมีเอกลักษณ์) ผ่านเกณฑ์กาแฟชนิดพิเศษ (SCA) ที่ 80-81 คะแนน 

- กาแฟอะราบิกาโครงการหลวง สายพันธุ์ RPF-C3 มีรสชาติของ Citrus และ Lemon Tea ในขณะที่ RPF-C4 มีรสชาติของ Pineapple Almond และ Butter


พื้นที่/บริบท/สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 

กาแฟอะราบิกาโครงการหลวง สายพันธุ์ RPF-C3 และ RPF-C4 มีลักษณะทรงพุ่มทรงสามเหลี่ยม เฉลี่ย 1.5 เมตร มีข้อและปล้องสั้น เหมาะสมกับระยะปลูก 1.5x2 เมตร บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ดินมีการระบายน้ำดี มีความเป็นกรด-ด่างของดิน ระหว่าง 5.5 - 6.5 และเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดี 

ควรปลูกภายใต้สภาพร่มเงาของไม้ป่าธรรมชาติ หรือไม้ให้ร่มเงา เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค เป็นต้น

แผนการนำไปใช้ประโยชน์

1) ต้นแม่พันธุ์ RPF-C3 และ RPF-C4 สามารถเก็บผลผลิตในปี 2563 และเพาะเมล็ดเพื่อนำไปปลูกในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่โครงการหลวง รวม 4 แห่ง ในปี 2564 ได้แก่ สถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ (ศูนย์ย่อยแม่ยะน้อย) สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ปัจจุบัน ต้นกาแฟในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ อายุ 2 ปี และเริ่มให้ผลผลิตสำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ในปีการผลิต 2565/66 นี้ 

2) ปีการผลิต 2564/65 สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ RPF-C3 และ RPF-C4 และอยู่ในระหว่างการดูแลระยะต้นกล้า 

3) ต้นกล้ากาแฟอะราบิกาโครงการหลวง ทั้ง 2 สายพันธุ์ จะเริ่มนำไปปลูกในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี และแม่สลอง และพื้นที่โครงการอื่นๆ 

4) ในปีการผลิต 2566 คาดว่าจะมีต้นกล้ากาแฟทั้ง 2 สายพันธุ์ สนับสนุนให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และสวพส. ประมาณ 5,000-10,000 กล้า