องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

พืชผักที่เหมาะสำหรับปลูกในช่วงฤดูฝนและการจัดการ

พืชผักที่เหมาะสำหรับปลูกในช่วงฤดูฝนและการจัดการ


พืชผักที่เหมาะสำหรับปลูกในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ กรณีที่ปลูกกลางแจ้ง ถ้าเป็น 'ผักกินผล' เช่น ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ลูกซาโยเต้ 'ผักกินราก/หัว' เช่น แครอท เบบี้แครอท ผักกาดหัว (หัวไชเท้า) 'ผักกินใบ' เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดกวางตุ้ง ผักบุ้ง ยอดซาโยเต้ แต่หาใครมี 'โรงเรือน' จะได้เปรียบ เพราะสามารถเลือกปลูกพืชได้หลากหลาย ไม่ต้องกลัวฝน

สิ่งที่มักจะเป็นปัญหาและต้องจัดการในช่วงฤดูฝนสำหรับการปลูกพืชผักอินทรีย์ สรุปได้หลักๆ ใน 2 ส่วน ดังนี้

1. โรคพืชที่มาพร้อมหน้าฝน โดยเฉพาะโรคโคนเน่ารากเน่า โรคเน่าคอดิน ซึ่งตัวช่วยที่ดี ราคาประหยัด เกษตรกรสามารถขยายเชื้อต่อได้เอง (กรณีเชื้อสด) คือ 'เชื้อราไตรโคเดอร์มา' หรือที่เกษตรกรบางราย เรียกว่า เชื้อราสีเขียว ซึ่งสามารถนำมาใช้คลุกกับเมล็ดพันธุ์ อัตรา 10-50 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม ก่อนนำเมล็ดไปปลูก หรือจะนำเชื้อไตรโคเดอร์มาไปขยายในปุ๋ยหมักก่อน แล้วค่อยนำปุ๋ยหมักนั้นมาโรยที่โคนต้นหรือรองก้นหลุมก่อนปลูกพืช อัตรา 25-30 กรัมต่อต้น หรือหว่านในแปลง ใช้อัตรา 100 กรัมต่อตารางเมตร สำหรับการควบคุมโรคทางใบ นำเชื้อสด 500 กรัม ละลายน้ำ 20 ลิตร จากนั้นกรองเอาเมล็ดข้าวฟ่างออก เอาน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นต้นพืช และควรฉีดพ่นในช่วงเย็นถึงค่ำ

อีกโรคที่มักพบ คือ ใบจุดตากบ! ในช่วงฤดูฝน พืชผักกลุ่มสลัด เช่น โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง เรดโครอล ผักกาดหวาน (คอส) ผักกาดหอมห่อ ฯลฯ มักพบโรค 'ใบจุดตากบ' (Cercospora leaf spot) หรือที่มักเรียกกันอีกชื่อว่า 'ใบจุดเซอคอส' พบได้ตั้งแต่ในช่วงที่ยังเป็นต้นกล้า จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว วิธีการป้องกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ดังนี้ 

ระยะการเพาะกล้า : ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา (อาจใช้เชื้อสดสีเขียวๆ 250 กรัมต่อน้ำ 1 โบโด หรือ เชื้อราที่มีจำหน่ายในรูปแบบผง โดยใช้ตามอัตราที่ระบุข้างกล่อง) ฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน ซึ่งระยะเวลาเพาะกล้าพืชกลุ่มสลัด ประมาณ 20 วัน

หลังย้ายปลูก : ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ฉีดพ่นทุก 3-5 วัน (ถ้ามีสบู่อ่อนให้ผสมเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เหมือนสารจับใบก็จะยิ่งดี) ถ้ามีการระบาดของโรคมากให้ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเอดร์มาสลับกับสารประกอบทองแดง (copper oxychloride) ฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน กรณีการใช้สารประกอบทองแดง เมื่อนำมาละลายน้ำแล้ว รอให้เค้าตกตะกอนก่อนจึงนำส่วนที่ใสไปฉีดพ่น เพราะถ้านำไปฉีดพ่นเลยจะทำให้เกิดเป็นคราบที่ใบพืช ผู้บริโภคก็จะคิดว่าเป็นสารเคมี

***ที่สำคัญต้องเด็ดใบที่เป็นโรคออกด้วย และห้ามทิ้งไว้ในแปลง ต้องเอาไปเผาทำลายนอกแปลง เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ดังนั้นจึงสามารถแพร่ระบาดได้จากสปอร์ของเชื้อรา เคยพบอยู่บ่อยๆ ว่า เมื่อตัดแต่งใบที่เป็นโรคออกแล้ว และส่งผลิตผลให้ลูกค้ายังพบว่าเกิดโรคใบจุดขึ้นอีกได้


2. สภาพอากาศที่ไม่ค่อยมีแสงแดด หรือที่เรียกว่า ‘ฟ้าปิด’ ซึ่งปัญหานี้แก้ไขยากมากกกก...เนื่องจากพืชจะสังเคราะห์แสงหรือสร้างอาหารได้น้อย ส่งผลทำให้พืชอ่อนแอ โรคหรือแมลงเข้าทำลายได้ง่าย ในพืชผักกลุ่มสลัดจะแสดงอาการต้นยืด หรือ บางคนเรียกว่า ‘ขึ้นต้น’ สิ่งที่ตามมาคือ เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น น้ำหนักต้นก็จะลดลง ยกตัวอย่าง คอส (ผักกาดหวาน) ในช่วงฤดูหนาวที่เติบโตได้ดี น้ำหนักประมาณ 150-200 กรัมต่อต้น แต่ในช่วงฤดูฝนเหลือเพียง 20-50 กรัมต่อต้น น้ำหนักหายไปประมาณ 3-4 เท่า วิธีที่จะช่วยได้คือ... ปลูกให้ได้จำนวนต้นมากขึ้น ปรับระยะปลูกให้แคบลง แต่ต้องระวังไม่ให้ต้นชิดแน่น เพราะจะพบปัญหาเรื่องโรคได้อีก


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.เพชรดา อยู่สุข 

เอกสารอ้างอิง: วิธีการใช้ไตรโคเดอร์มา ศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง