ผัก-กับข้าว…เพราะเราเคียงกัน

การได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์และอร่อย เป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยวัฒนธรรมการกินจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม สภาพภูมิประเทศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ที่นำมาประกอบเป็นอาหารที่พบในพื้นที่นั้นๆ
บนพื้นที่สูงของประเทศไทยซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมีสภาพป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งกำเนิดและรวบรวมความหลากหลายทางด้านชีวภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรณพืชชนิดต่างๆ ซึ่งจะพบแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่
ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า 10 กลุ่ม เช่น ปกาเกอะญอ ม้ง เมี่ยน ลีซู อาข่า ลาหู่ ละว้า ดาราอั้ง คนไทยพื้นเมืองเหนือ ฯลฯ จากการสำรวจข้อมูลการนำพรรณพืชท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ พบว่า แต่ละสังคมมีการนำพรรณพืชท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในด้านเป็นอาหารและสมุนไพรแตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เป็นที่ทราบกันดีว่าพืชผักต่างๆ ล้วนอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยพืชแต่ละชนิดจะมีรูป รส กลิ่น รวมทั้งเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเมื่อนำมาประกอบอาหาร หรือกินสดเป็นผักเคียงกับอาหารจานหลักประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำพริก ลาบ ส้มตำ จะสามารถช่วยชูรสชาติอาหารให้มีความกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นถ้าขาดพืชเหล่านี้ไปจะทำให้อาหารจานนั้นมีรสชาติไม่ดีเท่าที่ควรและความน่ากินลดลงตามไปด้วย สำหรับในบทความนี้จะยกตัวอย่างพรรณพืชท้องถิ่นจำนวน 10 ชนิด ที่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงนิยมนำมาประกอบอาหาร หรือกินสดเป็นผักกับหรือผักเครื่องเคียง ดังนี้
1. ผักอีหลืน (Isodon ternifolius (D.Don) Kudo) ยอดและใบอ่อนมีกลิ่นหอมฉุน ชาวปกาเกอะญอและชาวละว้า นิยมนำใบและยอดอ่อนมาใส่แกงฟักทอง แกงแตง แกงหน่อไม้ สะเบื้อกไก่ หรือกินสดเป็นผักกับลาบ น้ำพริกอีฮวก น้ำพริกปู รากมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรช่วยขับปัสสาวะ และตำพอกถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้