เบบี้แครอท
ชื่อวิทยาศาสตร์ Daucas carota
ชื่อสามัญ Baby Carrot
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป เบบี้แครอทจัดอยู่ในวงศ์ Apiaceae (Umbelliferae) มีรูปทรงยาวรี โคนใหญ่ ปลายเรียวแหลม หัวมีสีส้ม เนื้อแข็งกรอบเป็นพืชกินส่วนรากที่เติบโตเป็นหัว ปลูกในพื้นที่ขนาดเล็กได้ ให้ผลตอบแทนสูงใช้เวลาในการปลูกสั้น ต้องการการเอาใจใส่อย่างดี
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
แครอทเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสาร Beta carotene โดยเฉพาะบริเวณส่วนของเปลือกแก่ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอสูง (11,000 IU) นอกจากนี้ยังมีวิตามิน บี 1 บี 2 และวิตามินบี วิตามินเอ ช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิต่อต้านโรคหวัด ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันอาการผิดปกติในกระดูก โรคผิวหนังและรักษาสายตานิยมรับประทานสด ในสลัด หรือนำมาประกอบอาหารชนิดอื่น ๆ เช่น ผัด ต้มซุป ใส่แกงจืด ใช้ทำส้มตำแบบมะละกอ คั้นสดรับประทานเป็นน้ำเพื่อสุขภาพ และช่วยเพิ่มสีสรรในจานอาหาร
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
แครอทเจริญได้ดีในเขตหนาว โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส จะทำให้การเจริญทางใบลดลง สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของหัวอยู่ระหว่าง 18-21 องศาเซลเซียส หากมีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างผิวดินและระดับดินที่ลึกลงไป 10-15 เซนติเมตร มาก จะทำให้รูปทรงของหัวไม่สม่ำเสมอ แครอทเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 9-14 ชั่วโมง/วัน แครอทเจริญได้ดีในดินละเอียด และร่วนซุย หน้าดินลึก มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรด-ด่างของดิน 6.5-7.5 การปลูกในดินเหนียว หรือโครงสร้างดินแข็งจะทำให้หัวแตก มีรูปทรงผิดปกติ หากแปลงปลูกมีความชื้นสูง หัวจะมีแผลสีดำเน่า
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมดิน ขุดดินตากแดดนาน 14 วัน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร คลุกปูนขาวอัตรา 0-50 กรัม/ต.ร.ม และปุ๋ยสูตร 15 - 15 – 15 อัตรา 50 กรัม/ต.ร.ม ลงในดิน
การปลูก ปลูกโดยหยอดเมล็ด กำจัดวัชพืช และขุดดินตากแดดนาน 14 วัน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร คลุกปูนขาว และปุ๋ยสูตร 15 - 15 – 15 อัตรา 50 กรัม/ต.ร.ม ลงในดิน ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ขีดร่องหยอดเมล็ด ลึก 1 ซม กลบเมล็ดและรดน้ำ
การให้น้ำ ควรให้น้ำในแปลงอย่างสม่ำเสมอ ทุกวันระยะต้นอ่อนช่วยในการงอกของเมล็ดแล้วลดเหลือ 2-3 วัน/ครั้ง
การให้ปุ๋ย หลังจากเมล็ดงอก มีใบจริงได้ 2 – 5 ใบ หรือประมาณ 15 – 20 วันหลังจากปลูก ถอนแยกให้มีระยะห่าง ระหว่างต้น 3 ซม. หลังจากนั้น ใส่ปุ๋ย 15- 15 – 15 อัตรา 50 กรัม/ต.ร.ม พร้อมกำจัดวัชพืช หลังจากการใส่ปุ๋ยครั้งแรก 15 – 20 วัน ใส่ปุ๋ย 13 – 13 – 21 อัตรา 50 กรัม/ต.ร.ม โรยในร่องลึก 2 – 3 ซม.
ข้อควรระวัง
- การหยอดเมล็ดอย่าให้เมล็ดที่หยอดติดกัน ระยะห่างประมาณ 1 ซม.
- ควรให้น้ำสม่ำเสมออย่าให้แฉะเกินไป
- ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อการเตรียมแปลงปลูกและถอนแยก
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว ทยอยเก็บเกี่ยวเมื่อพืชมีอายุ 60 – 90 วัน
การเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวโดยการขุด เมื่ออายุและขนาดเหมาะสมต่อการนำไปบริโภค
2. ตัดใบให้เหลือก้านใบยาว 3 เซนติเมตร
3. ล้างรากให้สะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง ระวังอย่าให้ผิวถลอกบอบช้ำ
4. จัดชั้นคุณภาพและคัดรากที่มีตำหนิ หรือรูปร่างผิดปกติทิ้ง
5. บรรจุตะกร้าพลาสติกที่กรุด้วยกระดาษทั้งตะกร้า
6. ขนส่งโดยรถธรรมดาหรือรถห้องเย็น
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นเบบี้แครอทที่สมบูรณ์ทั้งรากและมีก้านใบติดมาตามที่กำหนด มีรูปร่าง ลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิหรือรากที่ผิดรูปทรง ผิวเรียบ ไม่แตกแขนง สด สะอาด ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. รากมีเส้นผ่าศูนย์กลางบริเวณไหล่ 1 – 1.5 เซนติเมตร ความยาว 10 – 12 เซนติเมตร
2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. รากมีเส้นผ่าศูนย์กลางบริเวณไหล่ 1 – 2 เซนติเมตร ความยาว 10 – 13 เซนติเมตร
2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. รากมีเส้นผ่าศูนย์กลางบริเวณไหล่ 1 – 2 เซนติเมตร ความยาว 8 – 13 เซนติเมตร
2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ข้อกำหนดในการจัดเรียง เบบี้แครอทในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน
การเตรียมสู่ตลาด
1. ตัดแต่งก้านใบและปลายรากออก
2. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 98 - 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 4 – 6 สัปดาห์
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์