องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ปลูกองุ่นในกระถางดีอย่างไร?

การปลูกองุ่นในกระถาง เป็นวิธีการปลูกองุ่นแบบจำกัดราก (Root-restriction culture) ซึ่งจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตทางกิ่ง ใบและลำต้น (vegetative) แต่ในขณะเดียวกันจะเพิ่มคุณภาพของผลไปจนถึงการเกิดสีที่ดีกว่าและเพิ่มการสะสมน้ำตาลในผลองุ่น (Wang, 1998) ดังนั้นการจำกัดรากจึงกลายเป็นเทคนิคการปลูกองุ่นสมัยใหม่ ที่เป็นพื้นฐานในการปลูกองุ่นแบบควบคุมสภาพแวดล้อม ที่สามารถควบคุมปริมาณการให้น้ำและปุ๋ยได้ตามความต้องการในแต่ละระยะการเจริญเติบโต ควบคุมความแข็งแรงของกิ่งองุ่น ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่สม่ำเสมอและคุณภาพผลผลิตที่เพิ่มขึ้น (ภาพที่ 1) 

ในต่างประเทศมีการทดลองเปรียบการปลูกองุ่นพันธุ์ Kyoho แบบจำกัดรากกับแบบปลูกลงดิน พบว่าการปลูกภายใต้การจำกัดรากจะทำให้รากบางและยาว รากที่มีขนาดเล็กนี้จะส่งผลให้ความชื้นในดินลดลงอย่างรวดเร็วและทำให้ลำต้นมีขนาดเล็ก ยอดสั้น พื้นที่ใบเล็กลง และอัตราการสังเคราะห์แสงต่ำ ผลที่ตามมา คือ องุ่นติดผลเพิ่มขึ้น 15-20 เปอร์เซ็นต์ และจะทำให้องุ่นพันธุ์ Kyoho มีความสม่ำเสมอของสีผิวและมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ดีกว่าการปลูกลงดิน และองุ่นจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อรากมีระดับความลึกอยู่ที่ 20 เซนติเมตรและปริมาณรากที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 0.025 m3 ต่อตารางเมตรของพื้นที่ใบ Wang et al. (2001)


สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะบนพื้นที่สูงมักจะประสบปัญหาองุ่นมีรสชาติเปรี้ยว ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกหรือมีความชื้นในดินสูง ดังนั้นจึงได้ศึกษารูปแบบการปลูกขององุ่นรับประทานสดพันธุ์ Beauty Seedless แตกต่างกัน 4 รูปแบบ ดังนี้

1) ปลูกองุ่นแบบปลูกลงดิน ระยะปลูก 1.5 x 6 เมตร

2) ปลูกองุ่นในกระบะใหญ่ขนาด 1.0 x 4.0 x 0.5 เมตร ระยะปลูก 1.5 x 6 เมตร

3) ปลูกองุ่นในกระบะเล็กขนาด 0.8 x 1.2 x 0.3 เมตร ระยะปลูก 1.5 x 4 เมตร

4) ปลูกองุ่นในถุงเพาะชำขนาด 9 x 16 นิ้ว ระยะปลูก 1.5 x 0.5 เมตร (ภาพที่ 2) โดยใช้ต้นกล้าองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless ที่เสียบยอดบนต้นตอองุ่นพันธุ์ 1613C และจัดทรงต้นแบบตัว T ปลูกองุ่นภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติก (2 พฤษภาคม 2562) และดูแลรักษาต้นองุ่นตามวิธีการมาตรฐานการปลูกองุ่นแบบโครงการหลวง 

จากการทดลองพบว่าเมื่อต้นองุ่นอายุ 2 ปีหลังปลูก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นแตกต่างกันทางสถิติ โดยองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless ที่ปลูกในกระบะใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นมากที่สุดคือ 44.40 มิลลิเมตร รองลงมาคือปลูกลงดิน (43.20 มิลลิเมตร) ปลูกในกระบะเล็ก (39.80 มิลลิเมตร) และการปลูกในถุงเพาะชำมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นน้อยที่สุดคือ 20.20 มิลลิเมตร (ภาพที่ 3) 


การปลูกองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless ในกระบะใหญ่ขนาด 4.0 x 1.0 x 0.3 เมตร และกระบะเล็กขนาด 0.8 x 1.2 x 0.3 เมตรส่งผลให้องุ่นพันธุ์ Beauty Seedless มีปริมาณผลผลิตไม่แตกต่างจากการปลูกลงดิน แต่มีความหวานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการปลูกลงดิน นอกจากนี้ยังใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกลงดินถึง 20,000 - 43,571.43 ลิตร/ฤดูกาลผลิต (ตารางที่ 1และภาพที่ 2)

ตารางที่ 1 ผลของรูปแบบการปลูกที่ต่างกันต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless เมื่ออายุ 2 ปี หลังปลูก (มกราคม - เมษายน 2564) ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว  จ.เชียงใหม่




เอกสารอ้างอิง

Wang S., 1998. Effects of root restriction on tree nutrition and hormone level in grapevines and application of root restriction on 'Kyoho' grape cultivation in Ningxia in China. Ph. D. thesis, Okayama University, Okayama. 4-70.

Wang S. P., Okamoto G., Hirano K., Lu J. and Zhang C. X. 2001. Effects of restricted rooting volume on vine growth and berry development of Kyoho grapevines. American Journal of Enology and Viticulture, 248-253.



โดย ปัณชพัฒน์ แจ่มเกิด