องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

มะเขือม่วง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Solanum melongena

ชื่อสามัญ   Egg plant

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป มะเขือม่วงมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย อยู่ในตระกูลเดียวกับพริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง และยาสูบ   ในเขตร้อน มะเขือม่วงจะเป็นพืชข้ามปี แต่ในเขตหนาวนิยมปลูกเป็นพืชฤดูเดียว โดยทั่วไปมีขนาดทรงพุ่มสูง 50-250 เซนติเมตร มีการเจริญแบบไม่จำกัด ทรงพุ่มเกิดราก มีการเจริญของกิ่งแขนง ระบบรากเป็นรากแก้ว ใบเดียว ขนาดใหญ่เจริญสลับกัน ด้านล่างของใบมีขนหนาสีเทา ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศดอกสามารถเจริญได้ในทุกช่วงแสง ขนาดผลขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ลักษณะผลมีหลายแบบ เช่น กลม รูปไข่ หรือกลมยาว เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาล

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ใช้ผัดกับเต้าเจี้ยวใบโหระพา และพริกชี้ฟ้าชุปแป้ง/ไข่ทอด เผา/ลวกจิ้มน้ำพริก ยำมะเขือ 5 รส ตำมะเขือเผาใส่กระเทียมไข่ เกลือแบบพื้นเมืองเหนือเป็นเครื่องประกอบในแกงเผ็ดและแกงเขียวหวาน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญอยู่ระหว่าง 22-30 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส พืชชะงักการเจริญ ละอองเกสรส่วนใหญ่จะเป็นหมัน มะเขือม่วงต้องการดินร่วนซุย ดินอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี เมื่อมีน้ำขังรากจะเน่าตามได้ง่าย pH 6.0-6.8 ไม่ควรปลูกมะเขือซ้ำกับพื้นที่ที่เคยปลูกมะเขือเทศ พริก หรือยาสูบ

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า เพาะกล้าอย่างประณีตในถาดเพาะอายุกล้าไม่ควรเกิน 25 วัน และย้ายปลูกเมื่ออายุกล้า 30 วัน

การเตรียมดิน ขุดดินตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 14 วัน ใส่ปูนขาวในอัตรา 0-100 /ตารางเมตร การเลือกแปลงปลูก ไม่ควรปลูกซ้ำกับตระกูลมะเขือในฤดูก่อนหน้า

การปลูกและการดูแลรักษา ควรใช้การปลูกระบบคลังอาหาร ให้ขุดหลุมลึก 50-60 ซม.กว้าง 50 ซม. ใส่ปุ๋ยหมัก,ปุ๋ยคอก ปละปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 50 กรัม โดยผสมคลุกเคล้ากับดิน ให้รองก้นหลุมด้วยกำมะถัน 7 วัน ก่อนย้ายปลูก การปลูกควรใส่เชื้อไตรไดรเดอร์ม่า ผสมกับปุ๋ยคอกหรือรำข้าวอัตราละ 50 กรัม ปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 15 กรัม/ต้น และปุ๋ย 15-15-15 ,13-13-21 ทุก 10 วัน อัตรา 20 กรัม/ต้น

การให้น้ำ ให้น้ำสม่ำเสมอไม่เปียกหรือแฉะเกินไป

ข้อแนะนำ

1. ควรตัดกิ่งแขนงก่อน 2 กิ่งแรก และเด็ดดอกแรกทิ้ง

2. ควรมีการทำค้าง

3. ควรกำจัดลูกที่ไม่สมบูรณ์

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวตามมาตรฐานงานคัดบรรจุควรตัดให้มีขั้วติดผลด้วย มะเขือม่วงก้านเขียวอายุเก็บเกี่ยว 50 -60 วัน (หลังย้ายปลูก) มะเขือม่วงก้านดำ 60 - 85 วัน หลังย้ายปลูก

การเก็บเกี่ยว

1. เก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุเหมาะสม โดยใช้กรรไกรตัดก้านผล และไม่ควรตัดขั้วผลเป็นรูปปากฉลาม

2. กำจัดผลที่มีตำหนิจากโรคและแมลงทิ้งไปและจัดชั้นคุณภาพตามกำหนด

3. บรรจุลงในตะกร้าพลาสติกที่มีกระดาษขาวกรุ

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ

มะเขือม่วงก้านเขียว : คุณภาพขั้นต่ำ เป็นมะเขือม่วงก้านเขียวที่สมบูรณ์ทั้งผล มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ผิวเรียบเป็นมัน ไม่มีตำหนิใดๆ กลีบเลี้ยงสด และติดกับผล ผลแข็ง เมล็ดยังไม่เป็นสีน้ำตาล สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

มะเขือม่วงก้านดำ : คุณภาพขั้นต่ำ เป็นมะเขือม่วงก้านดำในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน ชั้นคุณภาพเดียวกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเตรียมสู่ตลาด ห่อแต่ละผลด้วยพลาสติกโพลีไวนีลคลอไรด์ (PVC) หรือบรรจุลงในถุงพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 7 – 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 สัปดาห์ สามารถเคลือบแวกซ์เพื่อลดการสูญเสียน้ำ

การจัดชั้นคุณภาพ : มะเขือม่วงก้านเขียว

ชั้นหนึ่ง 1. ผลมีขนาดความยาว 10 – 12 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 250 – 350 กรัม

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. ผลมีขนาดความยาว 6 – 10 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 180 – 250 กรัม

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ผลมีขนาดความยาว 6 – 10 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 180– 250 กรัม

     2. มีตำหนิได้บ้างไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

การจัดชั้นคุณภาพ : มะเขือม่วงก้านดำ

ชั้นหนึ่ง  1. ผลมีขนาดความยาว 15 – 18 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 90 – 110 กรัม

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. ผลมีขนาดความยาว 13 – 20 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 70 – 90 กรัม หรือ 110 – 130 กรัม

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ผลมีความยาว 11 – 13 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 60 – 70 กรัม

      2. มีตำหนิได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิว

      3. ผลโค้งงอได้เล็กน้อย แต่ไม่เสียรูปทรง

      4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

การเตรียมสู่ตลาด

1. ตัดแต่ง คัดขนาด และสีของผลให้ใกล้เคียงกัน

2. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู

การเก็บรักษา ผลมะเขือเทศที่แก่ในระยะ mature green เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 18 – 22 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ ได้นาน 1 – 3 สัปดาห์ ส่วนผลที่แก่ในระยะ firm ripe เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 – 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ ได้นาน 4 – 7 วัน

หมายเหตุ : ระยะการแก่และการสุกของผลมะเขือมะเทศ โดย U.S.U.United Fresh Fruit & Vegetable Association ร่วมกับ USDA

1. ระยะผลแก่สีเขียว (Mature green stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศแก่จัดแต่ผิวของผลยังมีสีเขียวอยู่ ผลมะเขือเทศที่แก่จัด เมื่อใช้มีดคมผ่าครึ่งเมล็ดจะไม่ถูกตัด และเนื้อในจะเริ่มมีสีเหลือง แต่ถ้าผลไม่แก่จัดเมล็ดจะถูกตัดขาดได้ และเนื้อในจะมีสีเขียวและยังแข็งอยู่

2. ระยะเริ่มเปลี่ยนสี (Breaker stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศเริ่มเปลี่ยนสีผิวจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีส้มไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิว

3. ระยะเปลี่ยนสี (Turning stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศมีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือส้มแดงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวและใช้เวลา 1 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

4. ระยะสีชมพู (Pink stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศ มีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีส้มแดงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวและใช้เวลา 2 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

5. ระยะสีเริ่มแดง (Light red stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศมีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดงมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิว และใช้เวลา 3 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

6. ระยะสีแดง (Red stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศ มีสีผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลา 3 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

7. ระยะผลสุกสีแดง (Red ripe stage) คือ ระยะที่ผลมะเขือเทศสุกมีสีแดงเข้มตามลักษณะสีประจำพันธุ์นั้นๆ และใช้เวลา 6 วัน จากระยะเริ่มเปลี่ยนสีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์