ปศุสัตว์อินทรีย์บนพื้นที่สูง
ปศุสัตว์อินทรีย์บนพื้นที่สูง
ปัจจุบันกระแสเรื่องการดูแลและรักษาสุขภาพร่างกายกำลังเป็นที่นิยมทั้งในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ทั้งการออกกำลังกายแบบต่างๆ การนอนหลับพักผ่อน การท่องเที่ยวเพื่อลดความเครียดจากการทำงาน รวมไปถึงการเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์และปลอดสารพิษหรือสารเคมีใดๆ ดังนั้นการเกษตรในปัจจุบันจึงต้องตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การเลี้ยงสัตว์ในระบบอินทรีย์เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยเกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ และช่วยให้ผู้ที่รักสุขภาพมีทางเลือกในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีความปลอดภัย
หลักการจัดการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ ใหญ่ๆ สามารถแบ่งได้ 10 ข้อ ดังนี้
1. ใช้หลักการของความหลากหลายทางชีวภาพ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน เช่นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ พืชและเศษเหลือเป็นอาหารสัตว์ มูลสัตว์เป็นอาหารของพืช และจุลินทรีย์ เป็นต้น มีการจัดการระบบของเสียจากฟาร์ม เช่น ปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์โดยใช้มูลสัตว์ในฟาร์มปรับปรุงดิน หรือจัดการหมุนเวียนบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มนำมาใช้กับพืช และจำนวนสัตว์และอาหารสัตว์ในฟาร์มต้องเหมาะสมกัน
2. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ใดๆ และอาหารสัตว์ที่มาจากการตัดต่อพันธุกรรม (GMO)
3. เน้นการเลือกใช้พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ไก่ เป็ด โค กระบือ แพะพื้นเมือง และพันธุ์สัตว์ที่พัฒนาคัดเลือกสายพันธุ์ในประเทศ เนื่องจากทนทานต่อโรค และกินอาหารสัตว์ในท้องถิ่นได้ดี
4. เน้นการจัดการเลี้ยงสัตว์ให้อยู่สุขสบายตามธรรมชาติและพฤติกรรมของสัตว์ โดยการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อย ให้สัตว์ได้สัมผัสดิน แสงแดด มีคอก โรงเรือนให้กันแดด ลม ฝน และความร้อนได้ และมีพื้นที่ให้สัตว์ออกกำลัง เพื่อส่งเสริมให้สัตว์สุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคโดยธรรมชาติ
5. มีการจัดการป้องกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ ความสะอาด สุขอนามัยของอุปกรณ์และบริเวณเลี้ยงสัตว์ การควบคุมยานพาหนะและคนเข้าออกฟาร์ม การกักสัตว์ใหม่เข้าฟาร์ม หรือเลี้ยงสัตว์ในที่ห่างไกลจากชุมชน เป็นต้น
6. การใช้สมุนไพรเพื่อการป้องกันโรคและเสริมสุขภาพ เช่น ฟ้าทะลายโจร ไพล บอระเพ็ด และขมิ้นชัน เป็นต้น
7. เน้นการพึ่งพาตนเอง ใช้ปัจจัยการผลิตภายในฟาร์มให้มากที่สุด เช่น พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ที่ผลิตได้เอง หรือเครือข่ายที่อยู่ใกล้
8. มีการบันทึกรายละเอียดการปฏิบัติงานในฟาร์มที่ละเอียด รวมทั้งแผนผังฟาร์มโรงเรือน แหล่งน้ำ เพื่อรอการตรวจรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์
9. มีมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์เป็นกรอบนำในการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า
10.ป้องกันการปนเปื้อนสินค้าอินทรีย์ที่ออกสู่ตลาด ทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิตจนถึงผู้บริโภค จะต้องป้องกันการปนเปื้อนกับสินค้าที่ผลิตในระบบปกติ เช่น แยกการผลิตอาหารสัตว์ การวางวัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป การขนส่ง และการจัดวางจำหน่าย เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2561-2564 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ได้ทำการศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และสุกรในระบบอินทรีย์ จากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงไก่เนื้อ (ไก่ลูกผสมสามสายพันธุ์) ในระบบอินทรีย์ร่วมกับเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีกำไรจากการเลี้ยงไก่เนื้อที่ระยะเวลา 4 เดือน เฉลี่ยที่ 4,769 บาท
สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์เมื่อทดสอบเก็บข้อมูลเป็นเวลา 4 เดือน พบว่าการเลี้ยงไก่ไข่ (สายพันธุ์เล็กฮอร์น) มีผลตอบแทนซึ่งแบ่งเป็นต้นทุนเท่ากับ 17,011.9 บาท ขณะที่รายได้จากการจำหน่าย เท่ากับ 10,425 บาท แต่ทั้งนี้อาจต้องทำการปรับสูตรอาหารให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ไก่มากขึ้น รวมถึงการจัดการฟาร์มเลี้ยงเพื่อให้ไก่มีเปอร์เซ็นต์ไข่ที่สูงขึ้น หรือนำสายพันธุ์ไก่ไข่ที่เหมาะสมกับพื้นที่มาเลี้ยง จะทำให้ผลตอบแทนของการเลี้ยงไก่ไข่สูงขึ้นตาม โดยปกติควรคิดต้นทุนผลตอบแทนเป็นวงรอบของแม่ไก่รุ่นนั้นๆ โดยทั่วไปการเลี้ยงไก่ไข่จะเริ่มให้ไข่ที่อายุ 20 สัปดาห์ เลี้ยงจนถึงอายุ 18 เดือน ผลผลิตก็จะลดลง จากนั้นจึงจะจำหน่ายเป็นไก่ปลด อีกทั้งมูลไก่ยังจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มได้อีกด้วย
และการเลี้ยงสุกร (สุกรสายพันธุ์โครงการหลวง) ในระบบอินทรีย์ระยะเวลา 120 วัน พบว่าต้นทุนการเลี้ยงสุกรต่อตัวเมื่อคิดจากค่าสายพันธุ์ในช่วงหย่านมถึงน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม เท่ากับ 1,500 บาท ต้นทุนค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงอยู่ประมาณ 5,300 บาท รายได้จากการจำหน่าย 7,800 บาทจะมีค่าตอบแทนต่อตัวที่ได้เท่ากับ 2,500 บาท
ทั้งนี้เกษตรกรจะใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตรอย่างอื่น เช่น การปลูกผัก การปลูกข้าวหรือการรับจ้าง โดยใช้เวลาในการเลี้ยง 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งการเลี้ยงสัตว์สามารถสร้างอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรได้ โดยกำไรหรือผลตอบแทนขึ้นอยู่กับการให้อาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของสัตว์ รวมถึงระบบการจัดการที่ดี อีกทั้งผู้เลี้ยงสัตว์ในระบบอินทรีย์จะต้องมีความเข้าใจและความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตามหลักการของมาตรฐานอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป
เรียบเรียงโดย นายสุคีพ ไชยมณีและนางสาวนริศรา เกิดสุข