องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เรื่องของแครอทและการดูแล

เรื่องของแครอทและการดูแล

เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยอียิปต์โบราณแครอทถูกใช้เป็นอาหารและยา (อาจเป็นเพราะมีรสขม) และพบแครอทวางไว้ในสุสานของฟาโรห์ รวมทั้งภาพวาดต่างๆ โดยสมัยก่อนแครอทมีสีดำ สีขาว สีแดง และสีม่วง ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17 เนเธอร์แลนด์ได้คัดเลือกพันธุ์แครอทสีส้ม ไม่มีรสขม แต่มีรสหวาน และมีแกนน้อย ปัจจุบันบนดอยหรือบนพื้นที่สูงของไทย เกษตรกรจะปลูกแครอทในช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่แครอทให้ผลผลิตและคุณภาพดีที่สุด โดยมีวิธีการปลูกแครอท และเบบี้ ดังนี้

 

วิธีการปลูก “แครอท” จะใช้วิธีหยอดหลุมๆ ละ 3-4 เมล็ด ระยะปลูก 20 x 20 เซ็นติเมตร แครอทจะเริ่มงอกให้เห็นภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อปลูกได้ 1 เดือน ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น พร้อมกับการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก เมื่ออายุได้ 45 วัน แครอทจะเริ่มลงหัว ก็จะใส่ปุ๋ยอีกครั้ง อายุเก็บเกี่ยว 90-110 วัน ซึ่งโดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวได้ 2 ครั้ง (เก็บเกี่ยวครั้งแรกที่ 90 วัน เก็บอีกครั้งที่ 110 วัน) 

วิธีการปลูก “เบบี้แครอท” จะใช้วิธีโรยเป็นแถว (มักโรยเป็นแถวตามขวางของแปลง) ระยะห่างระหว่างแถว 20 เซ็นติเมตร เบบี้แครอทจะงอกใน 7-14 วัน หลังจากปลูก 1 เดือน ถอนแยกให้ต้นห่างกันประมาณ 1.5-2 เซ็นติเมตร อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60-70 วัน 

Tip : กรณีการปลูกเบบี้แครอท ซึ่งต้องโรยเป็นแถว เกษตรกรจะนำเมล็ดใส่ขวดแก้วเล็กๆ (เช่น ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง) แล้วเจาะรูที่ฝาพอให้เมล็ดลอดออกมาได้ สัก 4-5 รู เมื่อเขย่าขวดเพื่อโรยเมล็ดจะช่วยให้การโรยเมล็ดสม่ำเสมอดีขึ้น

การดูแลโดยเฉพาะการป้องกันกำจัดโรค-แมลงที่สำคัญ (ในระบบเกษตรอินทรีย์)

1) โรคพืชสำคัญที่มักเกิดขึ้นกับแครอท เช่น ใบจุด เน่าเละ และราแป้ง ซึ่งโรคใบจุดและเน่าเละ

จะเกิดช่วงปลายฤดูฝนเข้าต้นฤดูหนาว (บนดอยช่วงฤดูฝนจะไม่นิยมปลูกแครอท เพราะผลผลิตจะเสียหายมาก...ไม่คุ้มค่า!)

·   ถ้าแครอทเป็นโรคใบจุดตั้งแต่ยังไม่ลงหัวหรือหัวยังมีขนาดเล็กจะทำให้แครอทหัวไม่โตเท่าที่ควร วิธีป้องกันกำจัด คือ ฉีดพ่นด้วยสารประกอบทองแดง (copper) อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (หรือตามที่กำหนดไว้บนฉลาก/กล่อง) ทุกๆ 10 วัน

·   ส่วนกรณีเน่าเละ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยป้องกันได้ตั้งแต่ช่วงเตรียมดิน (แปลง) โดยผสมปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม รำละเอียด 10 กิโลกรัม และเชื้อราไตรโคเดอร์มาสด ถ้าเป็นเชื้อสดที่ขยายในเมล็ดข้าวสาร น้ำหนัก 250 กรัมต่อถุง ใช้ 2 ถุง หรือเชื้อสดที่ขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง น้ำหนัก 500 กรัมต่อถุง ใช้ 2 ถุง เช่นเดียวกัน เพราะเชื้อที่ขยายในเมล็ดข้าวสารจะสร้างสปอร์ได้มากกว่าเชื้อที่ขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปรองก้นหลุม อัตรา 5-10 กรัมต่อหลุม หรือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อหลุม

·   ส่วนกรณีของราแป้ง จะใช้กำมะถัน อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน

***ที่สำคัญอีกอย่างคือ ห้ามใช้สารประกอบทองแดงร่วมกับกำมะถัน

2) แมลงสำคัญที่มักเข้าทำลาย (กรณีปลูกบนดอย) กัดกินรากและต้นอ่อน คือ จิ้งหรีด หรือ จิ้งกุ่ง

ซึ่งกำจัดได้ยาก ต้องใช้วิธีขุดแล้วจับตัวเค้าออกมา กับใช้น้ำมันหมูใส่ในขวดพลาสติก แล้วเอาไปล่อไว้ที่รูจิ้งหรีด ช่วงที่มีการระบาดมากๆ ชาวบ้านจะจับจิ้งหรีดขายกัน ราคาดีทีเดียว!

.

เอกสารอ้างอิง

โปรแกรมการจัดการศัตรูพืชในแครอทและเบบี้แครอทอินทรีย์ จัดทำโดย มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพันาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

คุณสุริยนต์ รินบุตร นักวิชาการจากมูลนิธิโครงการหลวง

นายสมบูรณ์ ปาปูลู เกษตรกรบ้านแม่ขะต๋าน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน

นายสุวรรณ วุฒิเจริญการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมผักอินทรีย์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน

http://www.vegetablefacts.net/vegetab.../history-of-carrots/

https://pantip.com/topic/39274410

.

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.เพชรดา อยู่สุข


.