องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เกษตรกรยุคใหม่กับโลกดิจิทัลบนพื้นที่สูง

เกษตรกรยุคใหม่กับโลกดิจิทัลบนพื้นที่สูง

ในปัจจุบันนี้ที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพื่อการสื่อสารและการทำงาน ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โปรแกรมออนไลน์ แอปพลิเคชัน และเซนเซอร์ต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งภาคการเกษตรที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่และการจัดการข้อมูล หรือ “เกษตรแม่นยำ” มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชจากผลกระทบของสภาพอากาศแปรปรวน สังคมเกษตรกรสูงวัย พื้นที่เกษตรมีจำกัดและแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง 

บอกเลยว่า.....ใครไม่ทำ…ถือว่าตกยุค เพราะหลังจากนี้การปลูกพืชจะปรับรูปแบบจากวิถีเดิม เป็นการจัดการรายแปลง เฉพาะพื้นที่ หรือรายงานผลทันที (เรียลไทม์) โดย “เกษตรแม่นยำ” ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด เช่น ลักษณะดิน การให้ปุ๋ยและน้ำ ที่สัมพันธ์กับแสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ช่วยให้เกษตรกรวางแผนการปลูกอย่างถูกต้อง ดูแลรักษา ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้ทันเวลา และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของพืช

อีกสองคำที่อยากเล่าให้ฟัง คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัย คล้ายกับหุ่นยนต์ที่มีสมองกล หากเราใส่ข้อมูลสภาพแวดล้อมระหว่างการปลูกพืชลงไปผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่เรียกว่า Internet of Things หรือไอโอที (IoT) AI ตัวนี้จะทำหน้าที่บันทึก วิเคราะห์ แปรผล รวมถึงประมวลข้อมูลเป็นคำแนะนำหรือการคาดการณ์ เพื่อให้เราสามารถจัดการพื้นที่ในแปลงปลูกได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชให้กับเกษตรกรตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูกจนถึงการคาดการณ์ปริมาณและคุณภาพผลผลิต ซึ่งแตกต่างจากวิธีเดิมตรงที่ “เรากำหนดและควบคุมทุกอย่างได้เอง” สิ่งสำคัญที่จะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ คือ 

1) เทคโนโลยีต้องเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ใช้งานง่าย เพื่อให้เกษตรกรยอมรับ ใช้งานเป็น และรู้ถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น และแก้ปัญหาอย่างครบวงจร

2) ต้นทุนต่ำ สามารถประยุกต์ใช้กับพืชอื่น พื้นที่อื่น หรือเกษตรกรกลุ่มอื่นได้

3) ขยายผลไปใช้ได้ในวงกว้าง โดยผู้ให้บริการสามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้

4) ใช้งานได้อย่างยั่งยืน มีฐานเกษตรกรที่ใช้งานอย่างต่อเนื่อง มีช่องทางสร้างรายได้สม่ำเสมอ คุ้มทุน มั่นคง และเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากภายนอกตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และเนื่องจากยังเป็นแนวทางใหม่ ทำให้มีข้อจำกัดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งความรู้ความเข้าใจของเกษตรกร การลงทุนอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงเกิดธุรกิจการให้บริการ เช่น การจองโดรนเพื่อพ่นปุ๋ยหรือยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช การจองเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการขายผลผลิตเกษตรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และหากหน่วยงานภาครัฐมีการสนับสนุนอุปกรณ์ พัฒนาเครือข่ายไร้สาย และติดตามให้คำแนะนำ ความท้าทายเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเกษตรตามวิถีเดิมมาเป็นเกษตรแม่นยำ ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมาก 

เทคโนโลยีดิจิทัลทำอะไรได้บ้างบนพื้นที่สูง ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ ได้แก่

§ การใช้ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาในการปลูกพืช การประเมินสถานการณ์ของสภาพฟ้าฝนหรือคาดการณ์เพื่อลดผลกระทบต่อผลผลิตเกษตร

§ การใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศในการติดตามสถานการณ์พื้นที่เกษตรเฉพาะพืช เฉพาะพื้นที่ ในช่วงเวลานั้น โดยสามารถมองระดับภาพรวมไปจนถึงระดับรายแปลง เนื่องจากสภาพอากาศที่จะมีผลต่อพืชที่ปลูกในแต่ละช่วงเวลา เช่น แปลงนาข้าว แปลงปลูกพืชไร่ กัญชง ไม้ผล ก็จะคาดคะเนช่วงการเก็บเกี่ยวและปริมาณผลผลิตในแต่ละพื้นที่ได้ หรือการเจริญเติบโตหรือความสมบูรณ์ของไม้ในป่าบนดอย ก็สามารถติดตามได้เช่นกัน

§ การสำรวจหรือพิกัดจุดที่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กบนพื้นที่สูง เพื่อให้รู้แหล่งน้ำ หรือพื้นที่ที่มีน้ำไม่เพียงพอ เพื่อวางแผนในการจัดทำหรือจัดหาแหล่งน้ำได้

§ การจัดทำขอบเขตป่าบนพื้นที่สูง การทำแผนที่ดินรายแปลงของเกษตรกร เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ การใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการจัดการชุมชนแต่ละแห่ง รวมถึงการเชื่อมโยงชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่นั้นได้

§ การสำรวจพื้นที่หรือจุดที่เกิดดินถล่ม น้ำป่า หรือไฟป่า ในพื้นที่บริเวณรอบหมู่บ้าน แปลงเกษตร ในป่า บนดอย เพื่อประเมินสถานการณ์ และลดความเสี่ยงหรือความเสียหายจากภัยพิบัตินั้น

§ การใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ได้แก่ การใช้โดรนเพื่อพ่นสารกำจัดศัตรูพืช การให้ปุ๋ยเฉพาะจุดหรือทั้งแปลง การใช้โดรนในการสำรวจพื้นที่ แปลงปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก หรือสำรวจเส้นทางบนพื้นที่สูง การใช้แอปพลิเคชันปฏิทินการเพาะปลูกพืช ระบบรายงานสถานการณ์ปลูก (Dashboard) การตรวจสภาพอากาศ การตรวจวัดในพื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น



เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าไปทดลองใช้โปรแกรมได้ผ่านเว็บไซต์https://giserv.hrdi.or.th/หรือศึกษาข้อมูลการเกษตรแม่นยำเพิ่มเติมจาก https://www.nia.or.th/AgTechTrends และ https://www.lib.ku.ac.th/2019/index.php/research-support/info-deedee/1131-precisionagriculture



เรียบเรียงโดย อัจฉรา ภาวศุทธิ์