องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ปลูกกัญชงอย่างไร…ให้รอด?

        การปลูกกัญชง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะปัจจัยด้านระยะเวลา และการเตรียมพื้นที่ เรามาทำความเข้าใจกันในแต่ละเรื่องดังนี้

        1. ช่วงเวลาการปลูก เนื่องจากกัญชงเป็นพืชที่ต้องการน้ำไม่มาก ให้คิดเสมอว่ากัญชงชอบดินที่ชื้นแต่ไม่ชอบดินแฉะ น้ำขัง หรือน้ำมาก ดังนั้นช่วงเวลาในการปลูกกัญชงที่เหมาะสมได้แก่ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอสามารถปลูกได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม และในช่วงเดือนแรกของการปลูก ควรหลีกเลี่ยงช่วงที่มีฝนตกชุกเพราะจะทำให้เมล็ดเน่าหรือเกิดโรครากเน่าโคนเน่าขึ้นได้

        2. การเตรียมพื้นที่ปลูก การเลือกพื้นที่ปลูกกัญชง ควรเลือกพื้นที่ที่สภาพดินมีการระบายน้ำได้ดี ซึ่งอาจเป็นดินร่วนหรือร่วนปนทราย ไม่มีการจับตัวกันแน่น เนื่องจากกัญชงเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง ดังนั้นการเตรียมพื้นที่ปลูกกัญชงควรทำทางระบายน้ำในแปลงปลูก หรือทำร่องระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูก

การทำร่องระบายน้ำในแปลงปลูกกัญชง

 

        3. โรครากเน่าโคนเน่า หากมีน้ำในดินหรือมีน้ำขังในแปลงมากจะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการปลูกกัญชง โดยใน 30 วันแรก เป็นช่วงที่ต้นกัญชงมีความอ่อนแอที่สุด จึงควรมีการป้องกันการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าในการปลูกกัญชง สามารถทำได้โดยการคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อสาเหตุของโรค ได้แก่ พีพี-สเตร็บโต: สเต็บโตมัยซีส (Streptomyces sp.) หรือไตโคเดอร์ม่า (พีพี-ไตรโค: ไตรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum)) ซึ่งสามารถลดการตายของต้นกัญชงที่อายุ 15 วัน ได้สูงถึง 77% และ 49% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับที่ไม่มีการคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์

แผนภูมิแสดงผลการทดสอบเปอร์เซ็นต์การตายและการลดการตายของกัญชงจากโรครากเน่าโคนเน่า

 

สารชีวภัณฑ์ พีพี-สเตร็บโต: สเต็บโตมัยซีส (Streptomyces sp.) และไตโคเดอร์ม่า (พีพี-ไตรโค: ไตรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum)

 

 

        4. วิธีการปลูก การปลูกที่เหมาะสม คือ การปลูกเป็นแถว โดยในการทำร่องโรยเมล็ดพันธุ์ควรมีความลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 20-25 เซนติเมตร (สำหรับปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย) ทั้งนี้ไม่ควรกลบดินหนาเกินไป เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการงอกของต้นอ่อนกัญชง

 

 

ถ้าเกษตรกรทุกท่านคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น โอกาสในการปลูกกัญชงให้รอดจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.รัตญา ยานะพันธุ์