องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

มะเขือเทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lycopersicon esculentum

ชื่อสามัญ Table tomato

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป มะเขือเทศดอยคำหรือมะเขือรับประทานสดลูกโต มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศเปรู ซิลี และอีเควเตอร์ เป็นพืชในตระกูลเดียวกับพริก ยาสูบ มันฝรั่ง มีลำต้นและระบบกิ่งก้านที่แตกแขนง สลับกันเป็นจำนวนมาก  ลำต้นอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้นแก่มีลักษณะเป็นเหลี่ยม ในระยะแรกของการเจริญเติบโต ลำต้นตั้งตรงในระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อลำต้นสูง 1-2 ฟุต จะทอดไปในแนวราบ ใบเป็นใบประกอบเจริญสลับกัน มีขนอ่อนขึ้นบนใบและมีต่อมสารระเหยที่ขน เมื่อถูกรบกวนจะปลดปล่อยสารที่มีกลิ่นออกมา สายพันธุ์ส่วนใหญ่ขอบใบเป็นหยัก ระบบรากมะเขือเทศเป็นระบบรากแก้วเจริญเติบโตได้เร็ว ดอกมะเขือเทศเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมะเขือเทศจะอยู่สลับกันในช่อ ช่อดอกสามารถแตกกิ่งได้มากกว่าสองกิ่ง และการเจริญเติบโตของกิ่งจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งดอกช่อแรกบาน การเพิ่มจำนวนช่อดอกจะทำได้โดยการใช้อุณหภูมิต่ำ มะเขือเทศส่วนใหญ่ผสมตัวเอง ผลเป็นแบบ berry จะมีรูปร่างลักษณะ เช่น กลม กลมแป้น กลมยาว หรือเป็นเหลี่ยม ผิวของมะเขือเทศจะไม่มีสีผิว ส่วนผลสีชมพู หรือเหลืองเกิดจากเนื้อผล

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร เป็นมะเขือเทศรับประทานสด มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อเนียนฉ่ำ รสชาติกลมกล่อม เป็นแหล่งของคาโรนีนอยด์ และโปแทสเซียม อุดมด้วยวิตามินซีและวิตามินอี

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

การปลูกมะเขือเทศในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จะให้ผลผลิตและคุณภาพที่แตกต่างกัน โดยผลผลิตจะลดลงเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น อุณหภูมิมีอิทธิพลต่อการติดและการพัฒนาของผล อุณหภูมิต่ำกว่า 12.8 องศาเซลเซียส และสูงกว่า 32.2 องศาเซลเซียส ละอองเกสรจะเป็นหมันไม่สามารถงอกท่อละอองเกสรลงไปผสมไข่ในรังได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 15 – 25 องศาเซลเซียส ช่วงแสงที่เหมาะสมสำหรับการเจริญ และผลผลิตมะเขือเทศอยู่ระหว่าง 8 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงแสงไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ช่อดอกจะเจริญเติบโตและติดผลเร็ว คุณภาพแสงสีน้ำเงินจะช่วยให้มะเขือเทศมีข้อสั้นกว่าสีแดง มะเขือเทศสามารถเจริญได้ดีในดินที่ร่วนซุย มีหน้าดินลึก ระบายน้ำได้ดี มีอินทรีย์วัตถุสูง  pH 6.0 – 6.5

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมดิน ขุดดินตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เก็บวัชพืชออกให้หมด ย่อยดินแล้วใส่ปูนขาวคลุกเคล้าร่วมกับปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ตร.ม. และปุ๋ยสูตร 0 – 4 – 0 อัตรา 100 กรัม/ตร.ม. ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ควรใส่โดโลไบด์ อัตรา 100 – 150 กรัม/ ตร.ม.

การเตรียมกล้า เพาะกล้าในถาดหลุมโดยหยอดเมล็ดลงในถาดหลุมที่มีดินผสมปุ๋ยหมัก : แกลบ : ทรายละเอียด อัตรา 3:1:1

การปลูก ทำแปลงกว้าง 1 ม. เว้นร่องน้ำ 70 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุม 40 – 50 ซม. เวลาปลูกรองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 50 กรัม/ตร.ม.ผสมคลุกเคล้ากัน แล้วย้ายกล้ามาปลูกกลบดินรดน้ำให้ชุ่มพอสมควร

การให้น้ำและการให้ปุ๋ย

ควรให้ปุ๋ยพร้อมน้ำระบบ Fertigation ในอัตราดังนี้

ระยะที่ 1  ปุ๋ย 46 – 0 – 0     1    ส่วนน้ำหนัก

        ปุ๋ย 20 – 20 – 20  1.2 ส่วนน้ำหนัก

        หรือ สูตรใกล้เคียง อัตราใช้ 0.25 – 1 กรัม/ตร.ม./วัน

ระยะที่ 2   ปุ๋ย 46 – 0 – 0     1    ส่วนน้ำหนัก

        ปุ๋ย 20 – 20 – 20  1.2 ส่วนน้ำหนัก

        หรือ ปุ๋ย 20 – 10 – 30 หรือ ปุ๋ยสูตรใกล้เคียง อัตรา 1 – 3 กรัม/ต.ร.ม./วัน

ระยะที่ 3   ปุ๋ย 0 – 0 – 51     1    ส่วนน้ำหนัก

        ปุ๋ย 20 – 10 – 30  5    ส่วนน้ำหนัก

        หรือ ปุ๋ย 20 – 10 – 30 หรือปุ๋ยสูตรใกล้เคียง อัตรา 3 กรัม/ตร.ม./วัน หรือมากกว่า

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวในระยะที่เริ่มเปลี่ยนสี (Pink stage เริ่มมีสีชมพูหรือแดง 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวทั้งหมด)

การเก็บเกี่ยว

1. การเก็บเกี่ยวให้มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ตามตลาดต้องการ ขั้วต้องสด การปลิดขั้วออกทำให้ได้ราคาต่ำลง

2. จัดชั้นคุณภาพตามกำหนด และกำจัดผลที่มีตำหนิทิ้งไป

3. บรรจุลงตะกร้าพลาสติก โดยมีขนาดและสีของผลสม่ำเสมอทั้งภาชนะบรรจุ ตัดขั้วผลให้สั้น จัดวางเรียงกันเป็นชั้นๆ โดยมีกระดาษหรือฟองน้ำรองระหว่างชั้น

4. ไม่ควรขนส่ง หรือเก็บรักษามะเขือเทศรวมกับคาร์เนชั้น บร๊อคโคลี่ และผลิตผลที่อ่อนแอต่อเอทธิลีน

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นมะเขือเทศทั้งผลสมบูรณ์ มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ มีกลีบเลี้ยงสีเขียว ผิวเรียบเป็นมัน ไม่มีตำหนิใดๆ ผลแข็ง มีสีสม่ำเสมอทั้งผล ไม่ด่าง สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง 1. ผลมีขนาดของน้ำหนัก 150 กรัม ขึ้นไป

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง 1. ผลมีขนาดน้ำหนัก 100 - 150 กรัม

      2. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U  1. ผลมีน้ำหนักตั้งแต่ 70 กรัม ขึ้นไป

     2. ผลมีตำหนิ ผลนิ่ม ผลที่ขั้วไม่สด ปะปนมาได้บ้างไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

     3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง มะเขือเทศในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน มีความแก่ใกล้เคียงกัน และมีคุณภาพสม่ำเสมอกัน

การเตรียมสู่ตลาด

1. ก่อนขายควรบ่มมะเขือเทศให้สุกที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์

2. บรรจุลงในถาดโฟม หุ้มด้วยพลาสติกโพลีไวนีลคลอไรด์ (PVC) หรือห่อด้วย พลาสติก PVC แต่ละผล

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ในกรณีมะเขือเทศยังดิบอยู่ ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 สัปดาห์ อุณหภูมิ 5 – 7 องศาเซลเซียส สำหรับมะเขือเทศสุก ความชื้นสัมพัทธ์ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้ 4 – 5 วัน

 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์