องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กัญชง (Hemp) ความเป็นมาและการใช้ประโยชน์

เมื่อพูดถึงเฮมพ์ (Hemp) หรือกัญชง จะเห็นข่าวเผยแพร่ออกไปมาก ทั้งสื่อในประเทศและต่างประเทศ เกี่ยวกับการทำงานวิจัยและพัฒนาเฮมพ์ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน); สวพส. และคนไทยก็ตื่นเต้นกับการใช้ประโยชน์จาก กัญชา ก็โยงมาหากัญชงหรือเฮมพ์กันยกใหญ่!... จึงมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาที่ สวพส. มากมายหลากหลายกลุ่ม ทั้งรายย่อย กลุ่ม เอกชน ต่างชาติ ฯลฯ ...เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลมาหลายแหล่ง ถูกบ้าง ผิดบ้าง ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ผนวกกับมีการให้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายของเฮมพ์ ซึ่งส่วนมากเป็นการใช้ประโยชน์ในต่างประเทศ ทำให้“เกิดอาการฝันหวาน” บางท่านจะทำธุรกิจ บางท่านจะสร้างอาชีพสร้างรายได้ บางท่านต้องการรักษาอาการเจ็บป่วยของญาติพี่น้อง ฯลฯ ...วันนี้จึงขอกล่าวถึงภาพรวมของ สวพส. ที่ทำงานเกี่ยวกับเฮมพ์ และที่สำคัญอยากให้ทุกท่านมองรอบๆ ทั้งด้านที่ดี และด้านที่ไม่ดี สำหรับรายละเอียดแต่ละประเด็นอื่นๆ จะนำเสนอในครั้งถัดๆ ไป

เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์หรือกัญชง (Cannabis sativa) และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาการเพาะปลูก เฮมพ์อย่างจริงจังในประเทศไทยเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้จากการผลิตหัตถกรรมต่อเนื่อง และเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ฯ มูลนิธิโครงการหลวงและ สวพส. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์เฮมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา-ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ “เกษตรกรบนพื้นที่สูงสามารถปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” เพราะ ณ วันนั้นที่เริ่มดำเนินงาน กฎหมายยังจัดว่าเฮมพ์เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แม้แต่เสื้อผ้า กระเป๋า ที่เป็นใยกัญชงก็จัดเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมายทั้งหมด


 

งานในช่วงแรก (พ.ศ. 2548-2560) ได้ขออนุญาตศึกษาวิจัย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ให้อนุญาตเฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น) มุ่งศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานทุกด้าน ได้แก่ การรวมรวมพันธุ์ คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ วิธีการเพาะปลูกและดูแลรักษา การแปรรูปจากส่วนต่างๆ ของเฮมพ์ ซึ่งระหว่างการทำงานได้รายงานผลต่อผู้ให้อนุญาต (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา; อย.) อย่างสม่ำเสมอ และได้นำผลการศึกษาวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศยกเว้นส่วนของ เปลือกแห้งแกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ออกจากการเป็นยาเสพติด แต่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนที่ให้อนุญาตปลูกเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น จึงยังคงเป็นปัญหาว่าจะได้เปลือกแห้ง แกนแห้งมาได้อย่างไร ชาวบ้านก็ขออนุญาตทำวิจัยไม่ได้

ผลักดันกันต่อไป ในที่สุดก็ออกมา “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559” เป็นกฎกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2561 และระยะ 3 ปีแรก (พ.ศ. 2561-2563) ให้เฉพาะหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขออนุญาต ซึ่งมีการกำหนดปริมาณสารเสพติด THC (tetrahydrocannabinol) ไว้ไม่เกิน 1.0 % โดยต้องขออนุญาตตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อนี้เท่านั้น

  1. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือน
  2. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์
  3. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับการศึกษาวิจัย
  4. เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองสําหรับจําหน่าย หรือแจกสําหรับการส่งเสริมตามวัตถุประสงค์ (1) (2) หรือ (3)
  5. เพื่อจําหน่ายเมล็ดพันธุ์รับรอง ลําต้นสด หรือส่วนอื่น ๆ ตามที่ได้รับอนุญาต สําหรับ ใช้ประโยชน์ตาม (1) (2) (3) หรือประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด แล้วแต่กรณี
  6. เพื่อครอบครองสําหรับใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด การดําเนินการตามวัตถุประสงค์ใน (1) และ (2) ห้ามมิให้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์สําหรับ การเพาะปลูก

จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า กฎกระทรวงฯ เฮมพ์ ยังมีข้อจำกัด และเป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลายประเด็น เช่น

  1. ขั้นตอนการขออนุญาตค่อนข้างมากและใช้ระยะเวลานาน จำเป็นต้องขออนุญาตล่วงหน้า
  2. แบบฟอร์มเอกสารมาก
  3. สำหรับพื้นที่สูงมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
  4. การกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ยังไม่ชัดเจน

 

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.สริตา ปิ่นมณี