ผักกาดหอมใบแดง
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]
ลักษณะทั่วไป ผักกาดหอมใบแดงเป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นกอ จัดเป็นผักกาดหอมพันธุ์ใบไม่ห่อหัวชนิดหนึ่ง ใบและขอบใบหยัก มีสีเขียวปนแดง การปลูกดูแลรักษาคล้ายผักกาดหอมห่อ ควรปลูกเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝน
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ผักกาดหอมใบแดงเป็นพืชที่นิยมบริโภคสด โดยเฉพาะในสลัด หรือกินกับยำ นำมาตกแต่งในจานอาหาร แต่สามารถประกอบอาหารได้ในบางชนิด ผักกาดหอมใบแดงมีน้ำเป็นองค์ประกอบ และมีวิตามินซีสูง นอกจากนี้ยังให้ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง บรรเทาอาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน วิธีการนำมารับประทานเช่นเดียวกับผักกาดหอม แต่เนื่องจากใบมีสีแดงจะสามารถเพิ่มสีสันให้ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ผลผลิตมีตลอดทั้งปี แต่ให้ผลผลิตมากในช่วงฤดูหนาว
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : [1]
ผักกาดหอมใบแดงเป็นพืชที่ต้องการสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 10 – 24 องศาเซลเซียส ในสภาพอุณหภูมิสูง การเจริญเติบโตทางใบจะลดลง และพืชสร้างสารคล้ายน้ำนม หรือยางมาก เส้นใยสูง เหนียว และมีรสขมดินที่เหมาะสมต่อการปลูกควรร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์ และมีอินทรีย์วัตถูสูง หน้าดินลึก และอุ้มน้ำได้ดีปานกลาง สภาพความเป็นกรด - ด่างของดินอยู่ระหว่าง 6.0 – 6.5 พื้นที่ปลูกควรโล่งและได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ เนื่องจากใบผักกาดหอมใบแดงมีลักษณะบาง ไม่ทนต่อฝน ดังนั้นในช่วงฤดูฝนควรปลูกใต้โรงเรือน
การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]
การเตรียมกล้า เพาะกล้าในถาดหลุมแบบประณีต ดินเพาะควรมีระบบน้ำดี อายุกล้าประมาณ 3 – 4 อาทิตย์
การเตรียมดิน ขุดดินตากแดดและโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. ทิ้งไว้ 14 วัน ให้วัชพืชแห้งตาย ขึ้นแปลงกว้าง 1 ม. ใส่ปุ๋ย 12 – 24 – 12 และ 15 – 0 – 0 อัตรา 50 กก./ไร่ สัดส่วน 1 : 1 (รองพื้น) ปุ๋ยคอกอัตรา 2 – 4 ตัน/ไร่
การปลูก ระยะปลูก 30x30 ซม. 3 แถว ในฤดูร้อน และ 40 x 40 ซม. 3 แถว ในฤดูฝน (เพื่อป้องกันการระบาดของโรค )
ข้อควรระวัง
- อย่าปลูกในหลุมใหญ่หรือลึก เพราะน้ำอาจขังหากการระบายน้ำ ไม่ดี อาจทำให้เน่าเสียหาย
- อย่าเหยียบหลังแปลงเพาะ จะทำให้ดินแน่น พืชเติบโตได้ไม่ดี
- กล้าควรแข็งแรง อายุไม่เกิน 30 วัน เมื่อย้ายปลูก
- ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ตามคำแนะนำ
- ก่อนใส่ปูนขาวหรือดินโดโลไมค์ต้องวัด pH ก่อนช่วงเตรียมดิน
- หลังย้ายกล้าในฤดูฝนให้ระวังหนอนกระทู้ดำและจิ้งหรีด
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อการเจริญเติบโต การให้ไม่ควรมากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคโคนเน่า
การให้ปุ๋ย หลังปลูก 7 วันใส่ปุ๋ย 46 – 0 – 0 หรือผสม 15 – 15 – 15 อัตรา 50 กก./ไร่ อย่างละครึ่ง พร้อมกำจัดวัชพืช หลังปลูก 20 - 25 วัน ใส่ปุ๋ย 13 – 13 – 21 พร้อมกำจัดวัชพืช ขุดร่องลึก 2 – 3 ซม.รัศมีจากต้น 10 ซม.โรยปุ๋ย1/2 ช้อนโต๊ะ กลบดินแล้วรดน้ำ
ข้อควรระวัง
- ควรฉีดพ่น แคลเซียม และโบรอน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการปลายใบไหม้ (Tipbrun) บางพื้นที่มีปัญหาขาดธาตุรอง
- การพรวนดิน ระวังอย่ากระบทกระเทือนรากหรือต้นเพราะจะมีผล ต่อการเข้าปลีที่ไม่สมบูรณ์
- ควรเตรียมแปลงปลูกโดยใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักปริมาณที่มาก
- ไม่ควรปลูกซ้ำที่
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญในระยะต่างๆของการเจริญเติบโต
ระยะการเจริญเติบโต ระยะหยอดเมล็ด 0 - 25 วัน ระยะเจริญเติบโต 25 - 50 วัน ระยะห่อหัว 30 - 35 วัน ระยะเก็บเกี่ยว 50 - 65 วัน
โรค/แมลง
หนอนกระทู้ดำ x x
หนอนชอนใบ x x x x
หนอนกินใบ x x x
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]
ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 75 – 90 วัน หลังหยอดเมล็ด และต้องไม่เก็บเกี่ยวในขณะแทงช่อดอก
การเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวด้วยมีด เมื่อตัดแล้วทาปูนแดงบริเวณแผลที่ตัด
2. ถ้าผักเปียกน้ำต้องผึ่งให้แห้งเพื่อป้องกันการเน่าเสีย
3. หลีกเลี่ยงการทำให้ผักเปื้อนดิน สกปรก
4. ลดอุณหภูมิเฉียบพลันลงเหลือประมาณ 3 องศาเซลเซียส แล้วขนส่งด้วยรถห้องเย็นอย่างระมัดระวัง
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นผักกาดหอมใบแดงทั้งต้น มีรูปร่างและสีตรงตามพันธุ์ สด สะอาด ไม่เปียกน้ำ แก่พอดี ไม่แทงช่อดอก ไม่มีอาการปลายใบไหม้ ปลอดภัยจากสารเคมี
การจัดชั้นคุณภาพ
ชั้นหนึ่ง 1. น้ำหนักของต้น 250 กรัมขึ้นไป ใบยาว 20 เซนติเมตรขึ้นไป
2. ก้านใบเกาะชิดกันและอวบ
3. ไม่มีตำหนิต่างๆ รวมทั้งไม่มีอาการปลายใบไหม้
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้นสอง 1. น้ำหนักของต้น 200 กรัมขึ้นไป ใบยาว 15 - 20 เซนติเมตรขึ้นไป
2. ก้านใบเกาะชิดกันและอวบ
3. ไม่มีตำหนิต่างๆ รวมทั้งไม่มีอาการปลายใบไหม้
4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ
ชั้น U 1. น้ำหนักของต้นน้อยกว่า 200 กรัม ใบสั้นกว่า15 เซนติเมตร
2. ไม่มีอาการปลายใบไหม้
3. ก้านใบอาจจะแยกจากกันได้บ้าง
4. ปลอดภัยจากสารเคมี
ข้อกำหนดในการจัดเรียง ผักกาดหอมใบแดงในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน ชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเตรียมสู่ตลาด
1. ตัดแต่งใบนอกออกให้หมดและกำจัดตำหนิเล็กน้อยที่เกิดระหว่างขนส่ง
2. ตัดโคนลำต้นออกเพื่อให้ดูสดชื่น
3. จำหน่ายโดยบรรจุถุงพลาสติกที่เจาะรู
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 – 3 สัปดาห์
ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.
เอกสารอ้างอิง :
[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง มูลนิธิโครงการหลวง
[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์