องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

มหัศจรรย์ผึ้งบนพื้นที่สูง

       ผึ้ง เป็นแมลงที่มีความสำคัญในระบบนิเวศทางธรรมชาติ มีหน้าที่ในการช่วยผสมเกสรให้กับพืชทั่วโลก ทั้งป่าไม้และพืชเศรษฐกิจทางการเกษตร เพราะ ‘ผึ้ง’ เป็นตัวแพร่กระจายเกสรพืช ช่วยทำให้เกิดการผสมพันธุ์ของพืช ก่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และปัจจุบันในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกพบว่า ประชากรผึ้งลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดปรากฏการณ์ผึ้งตายยกรัง “รังผึ้งล่มสลาย” (colony collapse disorder) เป็นผลมาจากการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมีอย่างกว้างขวางในพื้นที่การเกษตร และสิ่งที่สำคัญคือพื้นที่ป่าที่หายไป เปลี่ยนจากผืนป่าเป็นพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ การปลูกพืชเชิงเดียว (monoculture) ทำให้ดอกไม้นานาชนิดในป่าก็หายไปด้วย ส่งผลให้ฝูงผึ้งค่อยๆ หายไปในระบบนิเวศด้วย ทำให้ไม่มีตัวกลางช่วยผสมเกสรของดอกไม้ในพืชผล จึงไม่เกิดผลิตผลทางการเกษตร ผักและผลไม้รวมดอกไม้ป่าอีกหลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ตามผึ้งไปด้วย ดังนั้นป่าไหนที่มีปริมาณรังผึ้งเยอะ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่านั้น และแสดงให้เห็นชุมชนตัวอย่างที่ดี ที่ร่วมใจกันดูแลรักษาให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ มีการดูแลรักษาป่า ปลูกป่า เฝ้าระวังไฟป่า และดูแลการลักลอบทำลายป่า ทำให้ระบบนิเวศในป่าเกิดความสมบูรณ์ยาวนาน 

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกกาแฟและไม้ผลหลายชนิด การเลี้ยงผึ้งและชันโรงควบคู่กับการปลูกพืช ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผสมเกสรทำให้มีปริมาณผลผลิตที่มากแล้ว เกษตรกรสามารถเก็บน้ำผึ้งที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ซึ่งน้ำผึ้งมีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนได้

การใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งแบบยั่งยืนของชุมชน

         น้ำผึ้งธรรมชาติหรือน้ำผึ้งป่า เป็นผลผลิตแสนพิเศษที่ธรรมชาติมอบให้แก่มนุษยชาติไว้เติมความอร่อย รวมถึงเป็นยารักษาโรคที่ช่วยชีวิตมนุษย์มานานนับพันปี น้ำผึ้งมีสรรพคุณเป็นยา ดอกไม้ป่าส่วนใหญ่ที่อยู่บนพื้นที่สูงนั้นมีฤทธิ์เป็นสมุนไพร ทำให้น้ำผึ้งมีสรรพคุณทางยาด้วย น้ำผึ้งแต่ละรังมีสรรพคุณไม่เหมือนกัน เพราะป่าแต่ละบริเวณมีพืชพรรณแตกต่างกัน ส่วนน้ำผึ้งของแต่ละปี ก็เป็นรสชาติที่สื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีนั้นๆ อีกด้วย น้ำผึ้งมีความพิเศษเฉพาะบ่งบอกพืชพรรณนานาชนิดบนพื้นที่สูง ดอกไม้ป่าในที่หนึ่งย่อมแตกต่างกับอีกป่าหนึ่งตามกลไกลธรรมชาติ น้ำผึ้งป่าแท้จึงมีรสชาติที่ซับซ้อน บ้างหวานลึก บ้างอมเปรี้ยว บ้างติดขมปลายๆ กลิ่นและรสของน้ำผึ้งจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นชนิดของดอกไม้ที่ผึ้งสะสมมารวมกันกลายเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งทำให้น้ำผึ้งมีรสเปรี้ยว หวาน ขม รวมถึงชนิดของผึ้งเองก็มีส่วนทำให้กลิ่น รส ของน้ำผึ้งต่างกัน น้ำผึ้งที่พบตามท้องตลาดทั่วไป ส่วนมากมาจากผึ้งพันธุ์หรือผึ้งเลี้ยง นิยมเลี้ยงในสวนลำไย ต่างจากผึ้งโพรงและผึ้งหลวงที่เป็นของดีในธรรมชาติเท่านั้นที่จะให้ได้ ดังนั้นการที่น้ำผึ้งจะสามารถเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่นนั้น จึงขึ้นอยู่กับพืชพรรณบนพื้นที่สูงรวมถึงไม้ผลเศรษฐกิจที่ผึ้งใช้เป็นแหล่งอาหาร เช่น น้ำผึ้งดอกกาแฟ พัฒนามาจากการเลี้ยงผึ้งโพรงในสวนกาแฟพันธุ์อาราบิก้า บนพื้นที่สูง น้ำผึ้งมีความหอมไปด้วยกลิ่นดอกกาแฟคั่ว มีรสหวานกลางๆ และขมติดปลายลิ้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของน้ำผึ้งกาแฟ เหมาะสำหรับคนที่อยากกินน้ำผึ้งเพื่อสุขภาพแต่อาจไม่ชอบรสหวานมากนัก นอกจากนี้ยังมีน้ำผึ้งอีกหลายชนิดได้แก่ น้ำผึ้งดอกเสาวรส น้ำผึ้งดอกพี้ช น้ำผึ้งดอกแมคคาเดเมีย น้ำผึ้งดอกสตรอเบอร์รี่ ซึ่งน้ำผึ้งเหล่านี้ได้มาจากการเลี้ยงผึ้งโพรงเป็นส่วนใหญ่ นับว่าเป็นการเลี้ยงผึ้งควบคู่กับการปลูกพืช ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากป่าแบบยั่งยืน

      น้ำผึ้งดอกเสาวรส - พัฒนามาจากการเลี้ยงผึ้งโพรงจากสวนเสาวรสพันธุ์หวานพันธุ์ RPF No.1 และพันธุ์ไทนุง บนพื้นที่สูง มีรสหวาน และเปรี้ยวเล็กน้อย และมีกลิ่นดอกเสาวรสซับซ้อนอบอวลอยู่ภายในเนื้อน้ำผึ้ง

      น้ำผึ้งดอกพี้ช - มีรสหวานนำ มีกลิ่นดอกพี้ชหอมละมุนแทรกอยู่ในน้ำผึ้ง

      น้ำผึ้งดอกอาโวกาโด - มีกลิ่นดอกไม้โดดเด่น มีกลิ่นคล้ายถั่วจางๆ และรสชาติหวานละมุน

      น้ำผึ้งดอกสตรอเบอรี่ - มีรสหวานจัด มีกลิ่นดอกสตอรเบอร์รี่ที่เด่นชัด


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล