ชอบกินอะไร...ก็ทดลองปลูกสิ่งนั้น
“ชอบกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น” แนวคิดและคำพูดของพ่อ หรือ นายโอด โขงทอง ปัจจุบันอายุ 68 ปี เกษตรกรบ้านต้นผึ้ง ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ที่ได้สอนและบอกลูกสาว หรือ นางดาวิภา อิทธิรัตน์ ปัจจุบันอายุ 39 ปี ซึ่งผันชีวิตตนเองจากการทำงานในกรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้านช่วยเหลือกิจกรรมในหมู่บ้าน ปัจจุบันได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและทำเกษตรผสมผสานตามรอยพ่อ
ลุงโอด สมัยก่อนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชสร้างรายได้หลักของคนบ้านโป่งคำมานานกว่า 20 ปี มีรายได้เฉลี่ย 80,000 บาท/ปี หักต้นทุนคงเหลือรายได้สุทธิ 20,000-30,000 บาท/ปี เนื่องจากต้นทุนค่าปุ๋ยและยาเพิ่มขึ้น ใช้แรงงานมาก อีกทั้งอายุมากขึ้น จึงอยากปลูกพืชทางเลือกที่สามารถบริโภคและเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ ในปี พ.ศ. 2554 ลุงโอดได้เริ่มปรับเปลี่ยนระบบเกษตรด้วยการปลูกยางพาราร่วมกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในปี พ.ศ. 2555 ได้เข้าร่วมงานวิจัยกับ สวพส. ด้วยการปลูกหวาย เพราะชอบกิน และมีตลาดรับซื้อ ในปี พ.ศ. 2557 ได้เปลี่ยนระบบเกษตรจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหวายและยางพารา
จากการได้ร่วมงานพัฒนาและงานวิจัยกับ สวพส. ทำให้ได้เห็นตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากหลายพื้นที่ ได้เห็นตัวอย่างการปลูกพืชที่ใช้พื้นที่และแรงงานไม่มากแต่ได้ผลตอบแทนสูง ได้เห็นตัวอย่างเกษตรกรบางคนอายุมากแต่ก็สามารถทำการเกษตรได้ ซึ่งตนเองก็ยังพอมีแรงทำการเกษตรได้ มีความรู้และประสบการณ์ มีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ มีแหล่งความรู้และกำลังใจจากเจ้าหน้าที่ สวพส. ตลอดจนมีแหล่งทุนและกำลังใจจากบุตรสาว ลุงโอดจึงตัดสินใจทดสอบปลูกไม้ผล จำนวน 5 ชนิด ประกอบด้วย มะม่วง น้อยหน่า ฝรั่ง มะยงชิด มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ บนพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เดิม จำนวน 8 ไร่ โดยหัวใจสำคัญในการเลือกชนิดไม้ผล คือ เป็นผลไม้ที่ตนและบุตรสาวชอบ ตามแนวคิดและคำพูดที่ว่า “ชอบกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น” พร้อมขุดคูรับน้ำขอบเขาในพื้นที่ที่มีความลาดชันเพื่อลดการชะล้างพังทะลายของดิน นอกจากนี้ยังปลูกข้าวไร่ระหว่างต้นไม้ผล ในช่วงที่ต้นไม้ผลยังโตไม่เต็มที่
ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ได้ร่วมงานวิจัยกับ สวพส. ปัจจุบันลุงโอดได้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นระบบเกษตรผสมผสาน ได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนมี มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ฝึกการสังเกต ตั้งข้อสงสัย และได้ทดลองทำ จนเกิดความรู้ความเข้าใจในพืชนั้น ๆ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการปลูกหวายและการปลูกไม้ผลร่วมกับการจัดทำคูรับน้ำขอบเขาในพื้นที่ที่มีความลาดชัน นอกจากนี้ยังเกิดความมั่นใจและกล้าทดลองสิ่งใหม่ด้วยตนเองเพิ่มขึ้น เช่น เพาะเมล็ดอะโวคาโด เพาะเมล็ดหวาย เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ลุงโอดได้จากการเข้าร่วมงานส่งเสริมและงานวิจัยกับ สวพส. คือ ความสุขทั้งจากการได้บริโภคผลไม้ปลอดภัยที่ตนเองปลูกและการมีเวลาให้ครอบครัว มีไม้ผลที่ปลูกในระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งตนและบุตรสาวชอบหลากหลายชนิดไว้บริโภค แบ่งปัน และเป็นโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต มีเวลาพักผ่อนและโอกาสเรียนรู้ ทดลองสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น มีเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น มีความรู้ด้านการเกษตรที่หลากหลายและไม้ผลยืนต้นที่เป็นมรดกไว้ส่งต่อให้ลูกหลาน
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: นางสาวณัฐวรรณ ธรรมสุวรรณ์ และ นางสาวภาวิณี คำแสน