องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า : สมุนไพรกับผู้สูงอายุ

ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า  (cast-iron-plant, aspidistra)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aspidistra elatior Blume

วงศ์            : Convallariaceae

ชื่ออื่น          : บัวดอย ผู้เฒ่าลืมไม้เท้า เก่ยโคหล่า (กะเหรี่ยง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     ไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้า เห็นข้อและปล้องได้ชัดเจน พร้อมกาบหุ้ม ลำต้น แตกรากตามข้อ ใบเดี่ยว รูปรี เรียงกระจุกบริเวณโคน ก้านใบยาว 30- 50 เซนติเมตร ดอกเดี่ยว กลีบดอก 8 กลีบเรียงจรดกัน โคนกลีบเชื่อมติดกันคล้ายหม้อ ผนังด้านนอกกลีบดอกสีขาวหรือขาวปนชมพู ผนังด้านในกลีบดอก นูนเป็นสันยาวตามยาวของกลีบ ไม่เรียบ สีม่วงแดงไปจนถึงม่วงเข้ม ผลรูปกลม มีหลายเมล็ด

การกระจายพันธุ์

     พบในป่าดิบเขาที่ขึ้นปกคลุมและการกระจายอยู่ตามภูเขาสูงที่มีความสูงจากระดับทะเล ประมาณ 1,400- 2,000 เมตร ในประเทศไทย

 สมุนไพรบนพื้นที่สูง สรรพคุณบำรุงกำลัง

     ชุมชนบนพื้นที่สูงใช้  ใบ ตากแห้งชงดื่มเป็นชา รากหรือใบ ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย แก้คนแก่เหนื่อย ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาอายุวัฒนะ

 การใช้ประโยชน์สมุนไพรปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าด้านอื่น ๆ

สรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยบำรุงกำลัง ต้านความเมื่อยล้า ต้านการอักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ ลดคอเลสเตอรอล มีสารต้านอนุมูลอิสระ

     ภูมิปัญญาชาวเหนือ นำใบและก้านมาปิ้งไฟแล้วต้มน้ำดื่ม ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดหลัง เจ็บเอว และมีการนำเอาเหง้าปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าไปดองเหล้ารับประทานช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

     เรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ จากที่ผู้เฒ่ามีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและไม่มีเรี่ยวแรง เมื่อได้ดื่มน้ำต้มปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้ากลับมามีแรงเดินและมีสุขภาพที่แข็งแรงจนลืมใช้ไม้เท้าที่เคยใช้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า

โรคในผู้สูงอายุ

     การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) สามารถเกิดได้กับผู้ชายในช่วงวัยใดก็ได้ แต่มักพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น

     ด้วยหลายสาเหตุทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน (ระดับเทสโทสเทอโรนลดลง ระดับโปรแลกตินเพิ่มขึ้น) เส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย โดยมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน หรือมะเร็งลำไส้    การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน ยาลดความดันโลหิตสูง เบต้า-บล็อกเกอร์ (และยาลดความดันอื่น ๆ ในกลุ่ม antihypertensives) รวมไปถึงการได้รับสารนิโคตินจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานๆ หรืออายุมากขึ้น

 การศึกษาวิจัยที่ผ่านมาของ สวพส.

     ข้อมูลพฤกษเคมีเบื้องต้นของสารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า พบสารในกลุ่ม saponins และ phenolics การศึกษาฤทธิ์ต่อสมรรถภาพทางเพศในสัตว์ทดลอง พบว่าสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้โดยไม่มีผลทำให้ระดับของฮอร์โมน testosterone ในเลือดเปลี่ยนแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับยามาตรฐาน sildenafil โดยพบว่าขนาดของสารสกัดที่ได้ผลดี คือ สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 428 mg/kg น้ำหนักตัว

     การศึกษาฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในสารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 20, 40 และ 80 mg/kg น้ำหนักตัว มีผลลดระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ค่าความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจก็จะกลับคืนสู่ระดับก่อนได้รับสาร ซึ่งแสดงผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในหนูปกติที่สลบ และหนูที่เหนี่ยวนำให้ความดันโลหิตสูง ถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน ยามาตรฐาน sildenafil และยาลดความดัน prazosin ซึ่งเกิดนานมากกว่า 30 นาที 

     ทั้งนี้ยา sildenafil มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงคือ ภาวะความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ในกรณีที่ผู้ที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศมีภาวะความดันโลหิตสูงได้

     การศึกษาความเป็นพิษ เพื่อกำหนดความปลอดภัยในการใช้สารสกัดสมุนไพร เป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งต่อการทดสอบทางคลินิกและการนำไปใช้ในคนต่อไป พบว่า สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 5,000 mg/kg น้ำหนักตัว ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน (acute toxicity) สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าขนาด 100, 500 และ 2,500 mg/kg น้ำหนักตัวมีผลทำให้ค่าโลหิตวิทยาและค่าเคมีคลินิกบางค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่อยู่ในช่วงค่ามาตรฐาน และเมื่อพิจารณาร่วมกับผลทางจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะต่าง ๆ ไม่ก่อให้เกิดลักษณะผิดปกติของอวัยวะภายใน ดังนั้น สารสกัดปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษระยะยาว (chronic toxicity) 180 วัน หรือพิษเรื้อรังในหนูแรทเพศเมียและเพศผู้ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด ไม่มีผลต่อการสร้างเลือดและเม็ดเลือดต่างๆ รวมทั้งไม่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

     จากผลการศึกษา : การใช้กับประชากรในชุมชนโดยการรับประทาน อาจเหมือนหรือแตกต่างจากการศึกษาในสัตว์ทดลองขึ้นอยู่กับการดูดซึม การทำลายยา และระดับยาในร่างกาย ทั้งนี้ ควรระวังการใช้สมุนไพรปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้าอยู่บ้าง โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในขนาดสูง แต่โดยภาพรวมแสดงผลที่มีแนวโน้มดี


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: อัปสร วิทยประภารัตน์