ผักกาดฮ่องเต้ญี่ปุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica campestrisvar. rosulalis
ชื่อสามัญ Tahsoi
ลักษณะทั่วไป
ผักกาดฮ่องเต้ญี่ปุ่น ใบจะมีลักษณะกลมสีเขียวเข้ม หยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบอวบยาวสีขาวและชิดกัน มีรสชาติหวานกรอบ เป็นผักที่นิยมรับประทานมากในญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาผัดน้ำมันหอย ต้มหรือตุ๋น
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 20 – 25 องศาเซลเซียส แต่สามารถทนต่อสภาพอุณหภูมิสูงได้ดีกว่ากลุ่มผักกาดหัว ดังนั้นจึงสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ผักกาดฮ่องเต้สามารถเจริญเติบโตในดินแทบทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในสภาพดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ และอินทรีย์วัตถุสูง ค่าความเป็นกรด – ด่างอยู่ระหว่าง 6.0 – 6.8 ถึงแม้ผักกาดฮ่องเต้จะทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดี แต่ก็ไม่ทนทานต่อความแห้งแล้ง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น และเจริญเติบโตเร็ว ดังนั้นแปลงปลูกควรต้องมีความชื้นสูงประมาณ 60 – 80 % เป็นอย่างน้อย และต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน เพื่อการสังเคราะห์อาหาร
การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
ผักกาดฮ่องเต้เป็นผักที่มีวิตามินสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอ วิตามินซี นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารพวกแคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง นิยมนำมาผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดน้ำมันหอย หรือต้มเป็นแกงจืด รสชาติหวาน และกรอบ
การปฎิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต
การเตรียมกล้า เพาะกล้าแบบประณีต ในถาดหลุม อายุกล้า 15 – 20 วัน
การเตรียมดิน ไถดินลึกประมาณ 15 – 20 ซม. หรือขุดดินตากแดดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อกำจัดโรคแมลงและวัชพืช คลุกปูนขาวอัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม.เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง
การปลูก
- ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ตร.ม. และปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. ลงในดิน พรวนดินให้ละเอียด ขึ้นแปลงกว้าง 100 – 120 ซม.ให้ร่องห่าง 50 ซม.ปรับหน้าแปลงให้เรียบ
- หากใช้วิธีหยอดเม็ดโดยตรง ให้ใช้นิ้วกดหลุมลึก 0.5 ซม. หยอดเมล็ด5 เมล็ดต่อหลุม ระยะปลูกแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละฤดู กลบเมล็ด รดน้ำให้ชุม ฉีดพ่น เซฟวิน 85 ป้องกันมดเข้าทำลาย
- หากย้ายปลูกระยะปลูก
: ฤดูฝนและฤดูหนาว 25 x 20 ซม.
: ฤดูร้อน 20 x 20 ซม.
ข้อควรระวัง
1.หากใช้วิธีการหยอดเมล็ดอย่าใช้ในปริมาณที่มากเกินไป
2.ฉีดพ่นธาตุอาการเสริมให้สม่ำเสมอ
การให้น้ำ ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ หรือระบบน้ำหยด
การให้ปุ๋ย ปลูกซ่อมต้นที่เสียหายภายใน 7 วันหลังย้ายปลูก กำจัดวัชพืชทุก 15 – 20 วัน หลังย้ายปลูกหรือเมล็ดงอก และทำการถอนแยกให้เหลือ 2 – 3ต้น ขีดร่องลึก 2 ซม.ระหว่างแถวปลูกโรยปุ๋ย 46 – 0 – 0 ลงไปแล้วกลบดิน แล้วรดน้ำ อาจเพิ่มปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 15 – 30 กรัม/ตร.ม.ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามความจำเป็น และฉีดพ่นธาตุอาหารเสริม รดน้ำให้สม่ำเสมอ
การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวก่อนออกดอก (อายุประมาณ 35 – 45 วัน หลังปลูก) อย่าปล่อยให้ต้นแก่เกินไป คุณภาพจะต่ำลง ตัดต้นเหนือระดับดินเล็กน้อย เด็ดใบเสียหรือใบเหลืองออก ควรเหลือใบนอกไว้ 2 – 3 ใบป้องกันความเสียหายระหว่างการขนส่ง หากผลผลิตเปียกควรผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุส่ง ไม่ควรล้างผลผลิตเพราะจะทำให้เน่าเสียหายได้ง่าย
ข้อสังเกตสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
ช่วงแล้งผลผลิตจะน้อยมาก ควรมีการส่งเสริมให้มีผลผลิตมากขึ้น ส่วนฤดูหนาวมักออกดอกเร็ว ควรมีการเพาะกล้าและปลูกตลอดจนเก็บเกี่ยวให้ตรงกับระยะเวลาและพันธุ์นั้นๆ เพราะถ้ากล้าแก่เกินไปหรือเก็บผลผลิตช้าเกินไป มักจะได้คุณภาพและราคาต่ำ
ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.
เอกสารอ้างอิง : หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง