องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

หมูหลุม

การทำการปศุสัตว์บนพื้นที่สูง ต้องคำนึงถึงผลกระทบและปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะในด้านของภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา มีที่ราบน้อย เกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสุกรไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน และใช้ร่วมในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยลักษณะการเลี้ยงจะเป็นการเลี้ยง โดยผูกสุกรไว้กับเสาบ้าน หรือเลี้ยงแบบปล่อย หรือมีการเลี้ยงแบบขังคอกโดยใช้พื้นไม้หรือพื้นดินธรรมดา เป็นพื้นคอก 

จากการที่กรมปศุสัตว์ได้จัดทำระเบียบมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรขึ้น เพื่อ เป็นการกำหนดมาตรฐานการเลี้ยงสุกร เพื่อคุ้มครอบผู้บริโภคและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาของระเบียบดังกล่าว จะกล่าวถึงองค์ประกอบของฟาร์มและการจัดการที่สำคัญ 3 ด้านของฟาร์มสุกร ได้แก่ การจัดการฟาร์ม การจัดการสุขภาพสัตว์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม

แต่อย่างไรก็ตามสำหรับเกษตรกรรายย่อยโดยเฉพาะเกษตรกรบนพื้นที่สูงแล้ว มีข้อจำกัดหลายประการที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการจัดการฟาร์มเพื่อให้ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานได้ ดังนั้นแนวทางเป็นไปได้สำหรับเกษตรกรบนพื้นที่สูง คือการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามหลักของการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนในเลี้ยงสัตว์

ดังนั้นการเลี้ยงหมูหลุม ซึ่งเป็นการนำเทคนิคการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น มาช่วยในการบำบัดกลิ่น โดยอาศัยการหมักมูลสุกร และอาศัยเทคนิคหลายอย่างซึ่งแตกต่างกับการเลี้ยงสุกรทั่วไป ทั้งในด้านการจัดการและในด้านของอาหาร ทำให้ประหยัดต้นทุนการเลี้ยง ลดกลิ่นเหม็นรบกวน รวมทั้งยังได้ปุ๋ยไว้ใช้ในสวนไร่นาอีกด้วย จึงนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

 

โรงเรือนและอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงสุกร (หมูหลุม)

การเลือกที่ตั้งสำหรับสร้างโรงเรือนเป็นส่วนสำคัญ โดยสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง ยกตัวอย่างเช่น แหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะน้ำสำหรับให้สุกรดื่มควรมีเพียงพอในฤดูแล้ง นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ควรเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วม อากาศถ่ายเทดี ไม่อยู่ใกล้บ้านมากเกินไป

การสร้างโรงเรือน

ในการตัดสินใจที่จะสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงหมูหลุม จะต้องคำนึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนสุกรที่จะเลี้ยง เนื่องจากเป็นตัวกำหนดขนาดของโรงเรือน นอกจากนี้ชนิดของโรงเรือน หรือวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาสร้างโรงเรือน ก็ควรเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่หาง่าย ๆ ไม่แพง และคุ้มค่าเหมาะแก่การลงทุน และในการสร้างโรงเรือนก็ควรวางตามความยาวแนวทิศตะวันออก ตะวันตก เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องเข้าไปภายในโรงเรือนได้ทั้งในตอนเช้าและบ่าย จะทำให้สุกรเย็นสบายไม่เครียด ตัวอย่างของโรงเรือน สำหรับเลี้ยงหมู 10 ตัว ควรมี ขนาดของคอกกว้าง 3?6 เมตร หลังคาแบบซ้อน เพื่อให้อากาศระบายถ่ายเทได้ อากาศภายนอกเขาไปในโรงเรือนได้มาก แล้วระบายออกไปทางด้านบน

ลักษณะของโรงเรือนที่ดี คือ

1. ถูกสุขลักษณะ สามารถป้องกันแดดและฝนได้ดี มีการระบายถ่ายเทอากาศ มีร่องระบายน้ำและสิ่งปฏิกูลโดยรอบโรงเรือน พื้นคอกทำความสะอาดได้ง่าย มีความสะดวกและคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และสามารถนำเครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรงไปปฏิบัติงานในบางโอกาสได้ด้วย

2. แบบโรงเรือนเป็นแบบง่ายๆ สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือขยับขยายได้ง่าย หรือสามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นได้เมื่อมีความจำเป็น

3. มีความแข็งแรงทนทานพอสมควรและราคาถูกด้วย ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีในท้องถิ่นที่มีลักษณะสมกับการใช้งาน เช่น ใช้จากหญ้าคา หรือแฝกมุงหลังคา ใช้ไม้ไผ่ทำรั้วคอก ทำผนังและอื่น ๆ หรือใช้ลูกรังรองพื้น เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่มีราคาแพงเกินไป เช่น กระเบื้อง พวกใยสังเคราะห์ เหล็กกล้า ฯลฯ และไม่ควรเน้นเรื่องความสวยงามมากกว่าประโยชน์ในการใช้สอย

4. ความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง นอกจากจะคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวจะต้อง คำนึงถึงความปลอดภัยของสัตว์ด้วย เช่น สามารถป้องกันสัตว์จำพวกแมลงหรือสัตว์อื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงอันตรายต่ออุบัติเหตุด้วย เช่น พื้นคอกลื่นหรือลาดเทมากเกินไป ราวคอกอาจมีเสี้ยนหนามหรือตะปูที่จะคอยทิ่มแทงสัตว์ หรือ เครื่องกีดกั้นคอกสัตว์ที่จะทำให้สัตว์ติดตรึงง่าย ตลอดจนอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากไฟฟ้าช็อต เป็นต้น

พื้นคอก

พื้นคอกหมูหลุม ต้องมีความลึก ประมาณ 90 เซนติเมตร แล้วผสมวัสดุเหล่านี้ใส่แทนที่ดินเดิมที่ขุดออกไปทางด้านบน

- ขี้เลื่อย แกลบหยาบ หรือเศษใบไม้แห้งอื่นๆ รวม    100 ส่วน หรือ 10 กระสอบ

- ดินที่ขุด           10 ส่วน หรือ 1 กระสอบ

- เกลือ                500 กรัม (ครึ่งกิโลกรัม)

- น้ำหมักชีวภาพหรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ EM  2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 10 ลิตร/ชั้น

แบ่งหลุมออกเป็น 3 ชั้นๆ ละ 30 ซม. ชั้นที่ 1 (ล่างสุด) ผสมแกลบกับดินตามอัตราส่วนให้เข้ากัน เกลี่ยพื้นคอกให้เรียบ โรยเกลือที่เตรียมไว้แล้วให้ทั่วพื้น จากนั้นใช้น้ำหมักผักผลไม้ หรือ เชื้อจุลินทรีย์ EM 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 10 ลิตร ราดพื้นให้ทั่วชั้นที่ 1 แล้วโรยเชื้อราขาวหรือสาร พด. 1 (ถ้ามี) แล้วทำชั้นที่ 2-3 เหมือนในชั้นแรก สุดท้ายโรยแกลบดิบปิดพื้นบนสุดหนาประมาณ 10 ซม. ราดพื้นคอกด้วยน้ำหมักผักผลไม้ หรือเชื้อจุลินทรีย์ EM อีกครั้งให้ทั่ว หมักคอกทิ้งไว้ 7 วัน ก่อนนำหมูเข้าเลี้ยง และราดน้ำหมักนี้อีก ทุก 3-5 วัน/ครั้ง หรือเมื่อพื้นคอกแห้งเกินไป เมื่อหมูขับถ่ายจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ทิ้งไว้ 4-6 เดือน พื้นคอกจะกลายเป็นปุ๋ยสามารถนำไปใช้ได้

อาหารและการให้อาหารสุกร

โดยปกติสุกรมีความต้องการโภชนะต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีพ การเจริญเติบโต และการให้ผลผลิต ฉะนั้น การให้อาหารแก่สุกรเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

  1. พันธุ์และเพศของสุกร โดยปกติแล้วสุกรเพศผู้จะต้องการอาหารมากกว่าสุกรเพศเมีย และสุกรเพศเมียจะต้องการอาหารมากกว่าสุกรเพศผู้ตอน และพันธุ์สุกรที่เจริญเติบโตเร็ว หรือมีน้ำหนักที่โตเต็มวัยมากก็จะต้องการอาหารมากกว่าสุกรที่มีน้ำหนักเมื่อโตเต็มวัยน้อย
  2.  2. สภาพแวดล้อม อุณหภูมิมีผลต่อการกินอาหารของสุกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยยิ่งอุณหภูมิสูง ๆ สุกรจะกินอาหารได้น้อยกว่าที่อุณหภูมิต่ำ ๆ ดังนั้นในการสร้างโรงเรือนให้มีการระบายอากาศที่ดี ไม่ร้อน ก็จะส่งผลให้สุกรกินอาหารได้มากขึ้นด้วย
  3. 3. อายุของสุกร ยิ่งสุกรอายุน้อย ก็จะต้องการสารอาหารที่มีความเข้มข้นสูง โดยเฉพาะโปรตีนในอาหารต้องมีเพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตของสุกร
  4. 4. ระยะเวลาที่ให้ผลผลิต แม่สุกรที่กำลังให้ลูกจะต้องการสารอาหารมากเพื่อผลิตน้ำนม และต้องการน้ำมากด้วยเช่นกัน

สูตรทำอาหารหมักสุกร

ส่วนประกอบ ได้แก่

- หยวกกล้วย เศษผัก หรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีในท้องถิ่น  25 กิโลกรัม

- น้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล    1  กิโลกรัม

- เกลือแกง       200 กรัม (2 ขีด)

- น้ำหมักชีวภาพหรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ EM   2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

นำส่วนผสมต่างๆ มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักไว้ในถังพลาสติกหรือถุงดำทิ้งไว้ 5-7 วัน จึงนำมาใช้เลี้ยงสุกรได้ สามารถเก็บไว้ได้นาน 30-45 วัน วิธีการนำมาเลี้ยงสุกร ทำได้โดยผสมอาหารหมัก 70% กับอาหารสำเร็จรูป ผสมกับแกลบอ่อน ปลายข้าว หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ ที่มีในท้องถิ่น อีก 30% ให้กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น