องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กระต่าย

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่เลี้ยงง่าย กินอาหารไม่เลือก แพร่ขยายพันธุ์ได้เร็ว มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง และมีวงจรในการผลิตสั้น แม่กระต่าย 1 แม่ สามารถผลิตลูกให้เนื้อเท่ากับลูกวัว 1 ตัว ใน 1 ปี กระต่ายเป็นสัตว์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย ทั้งได้เนื้อ ได้หนัง ได้ขน รวมทั้งใช้เป็นสัตว์ทดลองในการวิจัยด้านต่างๆ นอกเหนือจากการเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงามไว้ดูเล่น

ประเภทและพันธุ์กระต่าย

กระต่ายที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันทั่วโลกมีหลายร้อยสายพันธุ์  ถ้าแบ่งตามประเภทของการใช้ประโยชน์ สามารถแบ่งออกได้เป็นกระต่ายเนื้อ กระต่ายขน กระต่ายสวยงาม และกระต่ายใช้เป็นสัตว์ทดลอง พันธุ์กระต่ายที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป ได้แก่

  1. กระต่ายพื้นเมือง (Native Breed) มีขนาดตัวเล็กโตเต็มที่ประมาณ 2 - 3 กก. โตช้า มีสีหลายสีไม่แน่นอน แต่แข็งแรง ทนทาน สืบพันธุ์ให้ลูกได้ดีแม้อากาศร้อน
  2. พันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ (New Zealand Whtie) สีขาวปลอด ตาแดง ขนาดตัวปานกลาง โตเต็มที่ประมาณ 4 – 5 กก. รูปร่างสวย เนื้อมาก โตไว เป็นแม่พันธุ์ที่ดี
  3. พันธุ์คาลิฟอร์เนียน (Californian) มีสีขาว ตาแดง ยกเว้นรอบจมูก หู หางและเท้าทั้งสี่เป็นสีดำ มีขนาดตัวย่อมกว่านิวซีแลนด์ไวท์เล็กน้อย โตเต็มที่ประมาณ 3.5 – 4.5 กก. รูปร่างกลมแน่น โตไว ขนหนาแน่นอ่อนนุ่มและสั้นกว่าพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์
  4. พันธุ์ชิคคา – แซท (Zika – Z) สีขาวปลอด ตาแดง คล้ายนิวซีแลนด์ไวท์แต่มีขนาดตัวยาวใหญ่กว่า หูใหญ่กว่า และขน หนาแน่นน้อยกว่า เติบโตไว ให้ซากที่มีเนื้อมาก และหนังติดขนผืนใหญ่ โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 4.5 – 5.5 กก.
  5. พันธุ์ชินชินล่า (Chinchilla) มีสีเทา ตาดำ มีขนาดตัวแตกต่างกัน ตั้งแต่พันธุ์ขนาดเล็ก 2 กก. ถึงพันธุ์ขนาดใหญ่ 5 กก. เป็นกระต่ายที่มีความแข็งแรงทนทานเลี้ยงง่าย และให้หนังและขนดีพันธุ์หนึ่ง
  6. พันธุ์เชคเกอร์ไจแอนท์ (Checkered Giant) มีขนาดตัวใหญ่ รูปร่างสวย เนื้อมาก พื้นตัวสีขาว มีแต้มสีดำบริเวณรอบจมูก ตา หู แก้ม และแนวสันหลัง โตเต็มที่ประมาณ 5 - 6 กก.
  7. พันธุ์เรกช์ (Rex) เป็นกระต่ายที่มีหลายสี แต่มีลักษณะขนเฉพาะคือขนสั้นหนาตั้งตรง คล้ายกำมะหยี่ ขนาดตัวโตเต็มที่ประมาณ 3 – 4 กก.
  8. พันธุ์หูตก (Lop) เป็นกระต่ายที่มีหูยาวใหญ่ มีหลายสี เลี้ยงเป็นกระต่ายสวยงาม
  9. กระต่ายพันธุ์ขน (Angora) เป็นกระต่ายที่มีขนยาวนุ่มละเอียด มีสีขนกลายสีเลี้ยงเพื่อตัดขนขาย โตเต็มที่ขนาดตัวประมาณ 3 – 4 กก.

 การเลี้ยง

กระต่ายเป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย เลี้ยงได้ทุกที่ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่สะอาด มูลเป็นเม็ดแข็งๆ แบบมูลแพะไม่มีกลิ่นเหม็นและไม่มีเสียงร้องรบกวนอาหารที่ใช้เลี้ยงสามารถเลี้ยงด้วยเศษผักเศษหญ้า และพวกใบไม้เกือบทุกชนิด รวมไปถึงใบกล้วย ใบตำลึง ผักตบชวา และไมยราพยักษ์ เสริมด้วยเศษข้าวที่เหลือในครัวเรือน แต่ถ้าจะให้กระต่ายโตไว และให้ผลผลิตสูง ควรใช้อาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีจำหน่ายทั้งอาหารกระต่ายเอง หรืออาหารสุกรรุ่น อาหารไก่รุ่น ให้กระต่ายกินเสริม ก็จะทำให้กระต่ายแข็งแรงโตไวขึ้น โดยควรให้อาหารชนิดอัดเม็ด กระต่ายกินอาหารไม่เปลือง จะกินอาหารแค่วันละ 1 – 2 ขีด/ตัว/วัน สำหรับน้ำเป็นสิ่งที่กระต่ายจะขาดไม่ได้เช่นเดียวกับคนและสัตว์อื่นความเชื่อที่ว่าเลี้ยงกระต่ายไม่ต้องให้น้ำกิน เป็นความเชื่อที่ผิด

โรคกระต่าย

กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีโรคแมลงรบกวนน้อย โรคที่มักจะพบได้แก่ อาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทั่วไปหรือเชื่อบิด การรักษาใช้ยากลุ่มซัลฟา หรือยาปฏิชีวนะแก้ท้องเสียทั่วไป และโรคขี้เรื้อน ซึ่งเกิดจากตัวไรขี้เรื้อน การรักษาใช้กำมะถัน (ผง) ผสมน้ำมันพืช 1 : 2 ส่วนทา 2 – 3 ครั้งจนหาย หรือใช้ยาบี-เม็คติน ฉีดใต้ผิวหนัง 0.2-0.3 ml. ห่างกัน 2 สัปดาห์

ข้อควรระวัง : เนื่องจากกระต่ายเป็นสัตว์ชอบกัดแทะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไม้ทำกรงหรือภาชนะใส่อาหาร เพราะกระต่ายจะกัดแทะไม้จนกร่อนหัก เสียหายหมดถ้าใช้พวกกระถินหรือไมยราพยักษ์เลี้ยงกระต่าย ควรตัดให้กินทั้งกิ่ง กระต่ายจะได้ถือโอกาสแทะลับฟันไปด้วย และเมื่อเลี้ยงกระต่ายจนอายุได้ 4 – 5 เดือน กระต่ายก็จะโตเป็นหนุ่มสาว และพร้อมผสมพันธุ์ กระต่ายอุ้มท้องเพียง 1 เดือน และคลอดลูกครั้งละ 5 – 10 ตัว หลังจากคลอดลูก และเลี้ยงลูกไป 1- 2 เดือน ก็สามารถหย่านม และผสมพันธุ์แม่กระต่ายได้อีก ฉะนั้นปัญหาที่ควรระวังสำหรับผู้ที่เลี้ยงกระต่ายแบบเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม และสงสารไม่กล้าฆ่าหรือขายลูกกระต่ายคือ ต้องระวังอย่าปล่อยให้แม่กระต่ายผสมพันธุ์บ่อย เพราะมิฉะนั้นจากแม่กระต่ายเพียง 1 ตัว ใน 1 ปี ท่านจะมีกระต่ายที่ต้องเลี้ยง 100 ตัว

 

ประโยชน์ของการเลี้ยงกระต่าย

สําหรับคนไทย เมื่อพูดถึงกระต่ายทุกคนจะรู้จักและคุ้นเคยกันดี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนิยมเลี้ยงกระต่ายเพื่อดูเล่น ให้ความเพลิดเพลิน น้อยคนนักที่จะเลี้ยงเพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหาร หรือเอาหนังมาทําผลิตภัณฑ์ แต่ในความเป็นจริง แล้วการเลี้ยงกระต่ายสามารถให้ประโยชน์มากกว่าการเลี้ยงเพื่อดูเล่น ในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรปมีการเลี้ยงกระต่ายเพื่อเป็นการค้าคือ เอาเนื้อไปทําอาหาร เอาหนังขนไปทำผลิตภัณฑ์ใช้สอยต่าง ๆ ดังนั้นหากคนไทยยอมรับและเปลี่ยนแนวความคิด ในเรื่องของประโยชน์ การเลี้ยงกระต่ายให้เหมือนกับต่างประเทศ ก็จะทําให้วงการเลี้ยงกระต่ายของไทยมีการพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ ในปัจจุบันและคนไทยจะสามารถเลี้ยงกระต่ายให้เป็นธุรกิจที่จะทํารายได้เสริมหรือเป็นอาชีพหลักได้เช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่หรือเลี้ยงปลา ซึ่งเราสามารถเลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลินหรือเป็นอาหารก็ได้ การนําเนื้อกระต่ายมาบริโภคเป็นอาหารในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรปและอเมริกานิยมบริโภคเนื้อกระต่ายกันมาก ในปีหนึ่ง ๆ จะมีการบริโภคเนื้อกระต่ายในปริมาณสูงประมาณ 8 กิโลกรัมต่อคน ส่วนที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงกระต่ายแบบการค้าอย่างแพร่หลายก็มีการบริโภคเนื้อกระต่ายเฉลี่ยคนละ 6 กิโลกรัมต่อปี เนื้อกระต่ายมีโปรตีนสูงประมาณ 20% และมีไขมันตํ่าประมาณ 10% ซึ่งน้อยกว่าเนื้อสัตว์ หลายประเภท เช่น ในเนื้อสุกรมีไขมันประมาณ 30-40% เนื้อวัวมีไขมันประมาณ 28% นอกจากนี้ เนื้อ กระต่ายยังมีพลังงานตํ่าจึงเหมาะอย่างยิ่งสําหรับผู้ที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต นักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการรักษารูปร่างไม่ให้อ้วน โดยเฉพาะสําหรับผู้สูงอายุที่มีอาการปัญหาอุดตันของไขมันในเส้นเลือด (คลอเรสเตอรอล) ซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญประการหนึ่งที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อกระต่ายมีลักษณะนุ่ม สามารถนําไปประกอบอาหารคาวได้เกือบทุกชนิด เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ สำหรับผู้ที่สนใจบริโภคเนื้อกระต่ายในกรุงเทพฯ มีจำหน่ายที่ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต สาขาลาดพร้าว และนอกจากเนื้อที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเหมาะแก่การบริโภคแล้ว ขนและหนังที่อ่อนนุ่มของกระต่ายยังสามารถนําไปประดิษฐ์เป็นเครื่องนุ่งห่มและของใช้ต่าง ๆ ได้มากมายหลายชนิด เช่น เสื้อกันหนาว เสื้อขนสัตว ์พรม หมวกสตรี ถุงมือ ถุงเท้า พวงกุญแจ กระเป๋า ตุ๊กตา ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสินค้าพวกนี้ได้ตามความต้องการของตลาด เพราะปริมาณของหนังกระต่ายมีไม่เพียงพอ เนื้อจากคนเลี้ยงกระต่ายเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อและหนัง ในประเทศไทยยังมีน้อย สำหรับราคาของหนังกระต่ายจะแตกต่างไปตามคุณภาพ และขนาดของหนังที่ฟอกได้ ประเทศที่ผลิตขนและหนังกระต่ายจะแตกต่างไปตามคุณภาพ และขนาดของหนังที่ฟอกได้ ประเทศที่ผลิตขนและหนังกระต่ายส่งออกได้มากที่สุดในปัจจุบันคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถผลิตขนและหนังกระต่ายส่งออกได้ประมาณปีละ 1,500 ตันการเลี้ยงกระต่ายเพื่อ การค้าน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสําหรับเกษตรกรผู้สนใจ เพราะกระต่ายเป็นสัตว์ให้เนื้อที่ใช้เวลาในการเลี้ยงไม่นานก็สามารถให้ผลตอบแทนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้อหรือผลผลิตลูกกระต่ายได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะกระต่ายเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็วและให้ลูกดก คือสามารถให้ลูกได้เฉลี่ยปีละ 4-5 ครอกๆละ 6-8 ตัว (แม่กระต่ายอุ้มท้องลูกเพียง 1 เดือนเท่านั้น) ลูกกระต่ายที่เกิดออกมาจะมีนํ้าหนักประมาณ 50-60 กรัม และเมื่อเลี้ยงอยู่กับแม่ประมาณ 1 เดือน จะได้น้ำหนักประมาณ 300-400 กรัม หลังจากหย่านมเมื่อนําไปเลี้ยงขุนประมาณ 2 เดือน จะได้นํ้าหนักประมาณ 1.8-2.3 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนําไปขายเป็นเนื้อได้ หรือถ้าทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ นอกจากนี้ถ้าเปรียบเทียบในเรื่องของเปอร์เซ็นต์ซากกับสัตว์ให้เนื้อประเภทอื่นแล้วเปอร์เซ็นต์ซากของกระต่ายก็ไม่ได้แตกต่างจากสัตว์อื่นเท่าไรกระต่ายเป็นสัตว์ที่กินอาหารง่ายสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ตามปกติ โดยเพียงใช้อาหารจากพืชชนิด ต่าง ๆที่หาได้ทั่วไปหรือเศษอาหาร เช่น เศษพืช ใบผัก ข้าวสุก หญ้า กากถั่วเหลือง กากเต้าหู้ ใบถั่ว เป็นต้น

สําหรับประเทศไทยแม้ว่าคนไทยโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะยังไม่คุ้นเคยหรือนิยมบริโภคเนื้อกระต่าย แต่หากมองในเรื่องปัญหาการขาดแคลนอาหารประเภทโปรตีน บวกกับคุณสมบัติของเนื้อกระต่ายที่ได้เปรียบกว่าเนื้อ สัตว์ประเภทอื่น ที่เราบริโภคกันอยู่ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติใหม่ของคนไทยต่อการเลี้ยงกระต่ายว่าสามารถเลี้ยงได้หลายวัตถุประสงค์ โดยจัดแบ่งประเภทกระต่ายว่าประเภทใด พันธุ์ใดที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อและหนังเชื่อว่าในอนาคตคนไทยจะหันมาบริโภคเนื้อกระต่ายกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทําให้เกิดการขยายตลาดเนื้อกระต่ายเป็นการพัฒนาวงการเลี้ยงกระต่าย เพื่อเป็นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมต่อไป

ที่มา : นายสุคีพ ไชยมณี