องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การผลิตชาอินทรีย์

การผลิตชาอินทรีย์

ความสำคัญ

คณะทำงานวิจัยและพัฒนาชา มูลนิธิโครงการหลวง มีนโยบายให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงที่มีศักยภาพ ทำการผลิตชาอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตชาของโครงการหลวง เพื่อให้มีโอกาสในการจำหน่ายให้มากขึ้นในอนาคต

การผลิตชาอินทรีย์

1. ต้องมีแผนการจดบันทึกข้อมูล แล้วยื่นต่อหน่วยรับรองระบบการผลิตพืชอินทร์ตามแบบที่กำหนด

2. กรณีพื้นที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเพื่อการผลิตแบบเกษตรกรอินทรีย์ เกษตรต้องเสนอแผนการจัดการฟาร์มที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนขบวนการผลิต ต่อหน่วยรับรองระบบการผลิตพืชอินทรีย์เพื่อพิจารณาอนุมัติ

3. การรับรองคุณภาพของผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีวิเคราะห์ทางเคมีตรวจสอบสารพิษตกค้าง ถ้าขบวนการผลิตนั้นผ่านการรับรองและตรวจสอบจากหน่วยออกใบรับรองและตรวจสอบมาตรฐานการผลิตพืชแบบเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด

4. การออกใบรับรองเพื่อแสดงว่าผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์นั้น ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ เกษตรกรต้องยื่นคำขอต่อหน่วย ออกใบรับรองและตรวจสอบมาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์

5. ต้องมีการติดฉลากอย่างชัดเจน เพื่อแสดงว่าผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์อินทรีย์ หรือเป็นผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ปรับเปลี่ยน

6. ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ปลอดสารพิษโดยสิ้นเชิง

การผลิตชาอินทรีย์ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

มูลนิธิโครงการหลวง ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้สารเคมี โดยให้ใช้วัตถุธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในการผลิต อีกทั้งการนำเอาพื้นฐานการวิจัยด้านต่างๆเช่น การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน การควบคุมโรค และศัตรูพืชโดยชีววิธี รวมทั้งการเพราะปลูกในระบบอนุรักษ์ดิน น้ำ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อมดังกล่าว นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายประการ เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมี ลดผลกระทบที่จะเกิดแก่เกษตรพื้นราบและส่งผลก่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำเกษตรบนพื้นที่สูง

การผลิตชาอินทรีย์ของมูลนิธิโครงการหลวง ได้เริ่มจากการส่งเสริมปลูกชาให้แก่เกษตรกร เผ่าปะหล่อง ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางปลูกบริเวณแปลง 2,000 ไร่ ซึ่งได้เคยทำการปลูกผักร่วมกับแปลงชา หลังจากต้นชามีอายุ 2 ปี จึงเริ่มหยุดการปลูกผักในแปลงดังกล่าว ส่งผลดีคือต้นชาได้รับการบำรุงและดูแลรักษา โดยได้รับปุ๋ยและน้ำจากการดูแลรักษาผลผลิตผักไปพร้อมกัน ปัจจุบันผลผลิตชาที่ได้จากแปลงดังกล่าว มีระบบการตรวจสอบ เพื่อรับรองความปลอดภัย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภคโดยมีศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง โดยให้การดูแลโดยมีการสุ่มตรวจผลผลิตจากแปลงก่อนการทำการแปรรูปตามกระบวนการแปรรูปของโรงงานต่อไป

การจัดการดิน

ดินและสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยส่วนใหญ่พื้นที่ปลูกชาเป็นพื้นที่สูง ที่มีความลาดชัน จึงมีการเตรียมพื้นที่ให้ดี ดังนี้

1.1 การป้องกันการพังทลายของพื้นดิน โดยการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำให้สมบูรณ์แบบ และถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยจัดทำขั้นบันใดอย่างต่อเนื่อง มีการปลูกหญ้าแฝกตามขั้นบันได เพื่อป้องกันการชะล้างและการพังทลายของหน้าดิน

1.2 การตรวจวิเคราะห์ดิน โดยทำการตรวจวิเคราะห์ดินและคุณสมบัติของดินทุกปีเพื่อวางแผนการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของต้นชาอายุต่างๆ

1.3 ปุ๋ยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

1.3.1 ปุ๋ยคอก ใช้ปุ๋ยมูลโคและกระบือ ซึ่งเกษตรกรบางส่วนมีการเลี้ยงควบคู่กับการปลูกพืชอยู่แล้ว บางส่วนจัดซื้อหรือหาจากพื้นที่อื่น แต่ควรเป็นมูลโค กระบือ ที่แห้ง และควรมีการทำกองหมัก เพื่อทำลายการงอกของเมล็ดวัชพืชที่ติดมากับมูลดังกล่าว

1.3.2 ปุ๋ยหมัก นำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นและเศษวัชพืชที่ได้จากการกำจัดวัชพืชในแปลงมาทำการกำจัดร่วมกันกับมูลสัตว์ต่างๆจนมีการย่อยสลายที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากของชาวัตถุประสงค์หลักของปุ๋ยหมักคือ เพื่อต้องการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของจุลินทรีย์

1.3.3 ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองได้โดยใช้วัสดุท้องถิ่น เช่น เศษพืช เศษผัก เศษวัชพืช นำมาหมักกับกากน้ำตาลและสารเร่ง พด 2 ซึ่งสามารถขอรับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดินหรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำสำเร็จรูปของโครงการหลวงนำไปฉีดพ่นหรือราดพื้น เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับต้นชาและดินบริเวณแปลงที่ปลูก

1.3.4 การใช้วัสดุคลุมดิน ทำการคลุมโคนต้นชา เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน โดยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น เศษวัชพืช ฟางข้าว ใบหญ้าแฝก ฯลฯ คลุมโคนช่างปลายฤดูฝน หรือช่วงฤดูแล้ง

การจัดการโรคและแมลง

การปลูกชาในระบบอินทรีย์ไม่สามารถใช้สารเคมีในการป้องกันโรคและกำจัดแมลงได้ จึงแนะนำให้เกษตรกรดูแลเอาใจใส่ต้นชาและแปลงชามากกว่าการปลูกพืชในระบบปกติโดยหมั่นตรวจสอบความผิดปกติของต้นชาและสภาพแวดล้อมอยู่สม่ำเสมอไปทำการกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงศัตรูพืช มีการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้ต้นชามีความแข็งแรงและเติบโตให้ผลผลิตอยู่สม่ำเสมอ การจัดการด้านโรคและแมลงจึงเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา ซึ่งการจัดการดูแลการผลิตชาอินทรีย์ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยได้มีการใช้สมุนไพรเพื่อควบคุมโรคและแมลงดังนี้

1. กากยาสูบ

วิธีใช้ใช้กากยาสูบ 1 ใน 3 ของภาชนะผสมตะไคร้หอม และหางไหลแดงที่ทุบให้แตก แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน

- อัตราการใช้ 50-100 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

2. น้ำส้มไม้

-  อัตราอัตราการใช้ 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

-  นำส่วนผสมของ 1.) และ 2.) ตามอัตราส่วน ฉีดพ่นป้องกันทุก 3-5 วันในสองสัปดาห์แรกหลังจากนั้นใช้ฉีดพ่นทุก 7 วัน

ในส่วนของศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวงได้ผลิตน้ำหมักสมุนไพรที่ใช้ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชเพิ่มขึ้น 5 สูตร ได้แก่ PP1, PP2, PP3, PP4, และ PP5 ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคและแมลงต่างๆกันมีความสะดวกในการใช้และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก จึงแนะนำให้เกษตรกรและผู้สนใจทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ควบคู่กับการจัดการด้านอื่นๆข้างต้น